×

นักวิชาการชี้ ความสัมพันธ์รัสเซีย-เมียนมาแน่นแฟ้นขึ้น หากถูกประชาคมโลกโดดเดี่ยว

28.03.2022
  • LOADING...
นักวิชาการชี้ ความสัมพันธ์รัสเซีย-เมียนมาแน่นแฟ้นขึ้น หากถูกประชาคมโลกโดดเดี่ยว

นักวิชาการชี้ ความสัมพันธ์รัสเซีย-เมียนมาแน่นแฟ้นขึ้น หากถูกประชาคมโลกโดดเดี่ยว

 

วานนี้ (27 มีนาคม) นักวิชาการชี้ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศรัสเซียและเมียนมาจะแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น หากถูกโดดเดี่ยวและคว่ำบาตรจากประชาคมโลก จากทั้งกรณีทำสงครามรุกรานยูเครนและกองทัพเมียนมาก่อรัฐประหาร โดยรัสเซียถือเป็นประเทศที่สำคัญมากต่อกองทัพเมียนมา ในฐานะแหล่งผู้จัดซื้อจัดหาอาวุธให้กับเมียนมา ซึ่งอาวุธเหล่านั้นได้รับการอวดโฉมในพิธีสวนสนามประจำปีของกองทัพเมียนมาในปีนี้

 

โดย ทอม แอนดรูว์ ผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติระบุว่า รัสเซียและเมียนมามีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดและมีความสำคัญมาก รัสเซียเป็นหนึ่งในประเทศที่จัดซื้อจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ให้แก่กองทัพเมียนมา ขณะที่กองทัพเมียนมาเองก็เคยเดินทางไปเยือนกรุงมอสโกเพื่อชมอาวุธมือหนึ่ง รวมถึงเข้าพบผู้แทนระดับสูงของกองทัพรัสเซียและนายหน้าค้าอาวุธมาแล้ว อีกทั้ง อเล็กซานเดอร์ โฟมิน รัฐมนตรีช่วยกลาโหมของรัสเซียเองก็เคยเดินทางเข้าร่วมพิธีสวนสนามดังกล่าวเมื่อปี 2021 ที่ผ่านมา 

 

รายงานด้านสิทธิมนุษยชนเมื่อช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แอนดรูว์ระบุว่า รัสเซียถือเป็นหนึ่งในประเทศผู้จัดซื้อจัดหาอาวุธให้กับเมียนมาร่วมกับจีนและเซอร์เบีย นับตั้งแต่กองทัพก่อรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนมาจาก ออง ซาน ซูจี เมื่อช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ปี 2021 แม้จะทราบดีว่าอาวุธดังกล่าวจะถูกใช้ปราบปรามกลุ่มประชาชนผู้เห็นต่างและต่อต้านการทำรัฐประหารก็ตาม

 

โดยทั้งรัสเซียและจีนยังไม่มีสัญญาณว่าจะลดจำนวนการขายอาวุธให้กับกองทัพเมียนมาลง ในขณะที่เซอร์เบียมีการปรับท่าทีและอาจระงับการจัดส่งอาวุธทั้งหมดในอนาคต นอกจากนี้ เบลารุส อินเดีย ปากีสถาน ยูเครน เกาหลีใต้ และอิสราเอล ก็เคยมีประวัติจัดซื้อจัดหาอาวุธให้แก่เมียนมาในช่วงก่อนที่กองทัพจะก่อรัฐประหาร

 

นอกจากนี้ ผู้แทนจากกลุ่มสหภาพเศรษฐกิจยูเรเชีย ซึ่งมีประเทศสมาชิก 5 ประเทศ ได้แก่ อาร์เมเนีย เบลารุส คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน และรัสเซีย ได้เดินทางมายังกรุงเนปิดอว์ เมืองหลวงของเมียนมา เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อหารือเกี่ยวกับความร่วมมือด้านความมั่นคงและการค้าทวิภาคี แม้รัฐบาลทหารที่ปล้นอำนาจขึ้นมาบริหารประเทศเมียนมาจะยังไม่ได้การรับรองจากประชาคมโลกก็ตาม 

 

ขณะที่ เดวิด แมทธีสัน นักวิเคราะห์อิสระ ผู้เชี่ยวชาญด้านเมียนมา ชี้ว่าการกระชับความสัมพันธ์ โดยเฉพาะมิติทางด้านการทหารกับรัสเซีย ถือเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ที่สำคัญของเมียนมา ควบคู่ไปกับการรักษาระยะห่างกับจีน โดยจะไม่ยึดโยงอยู่กับประเทศมหาอำนาจใดมหาอำนาจหนึ่งมากจนเกิดขึ้น 

 

นอกจากนี้ อาวุธที่ได้มาจากจีนส่วนใหญ่มีคุณภาพต่ำกว่าและมีแนวโน้มที่จะต้องซ่อมบำรุงมากกว่าอาวุธที่จัดซื้อจัดหามาจากรัสเซีย อีกทั้งความสัมพันธ์ทางกองทัพกับรัสเซียก็มีความซับซ้อนน้อยกว่ากองทัพจีน อาวุธยุทโธปกรณ์ที่ได้จากรัสเซียส่วนใหญ่เป็นของกองทัพอากาศ ซึ่งถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของกองทัพ เมื่อเทียบกับจีนที่อาวุธยุทโธปกรณ์ส่วนใหญ่จะอยู่บนดินหรือในน้ำ 

 

อีกทั้งรัสเซียยังมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกองทัพเมียนมามากกว่า ในขณะที่จีนก็จัดซื้อจัดหาอาวุธให้กับกลุ่มต่างๆ ในเมียนมา รวมถึงกลุ่มที่ต่อต้านรัฐบาลทหารชุดปัจจุบันนี้ด้วย

 

ทางด้าน จอน เกรเว็ตต์ หัวหน้าทีมข่าวเอเชีย-แปซิฟิก ที่หน่วยงานข้อมูลด้านความมั่นคงอย่าง Janes Information Services หรือ Janes ระบุว่า “หากรัสเซียถูกโดดเดี่ยวมากยิ่งขึ้น ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศอาจแข็งแกร่งขึ้น เมื่อพันธมิตรรายอื่นๆ ถอนตัว

 

พวกเขาต้องการกันและกัน พวกเขาทราบดีกว่า พวกเขาจะแข็งแกร่งขึ้นเมื่ออยู่ด้วยกัน ช่วยเหลือกันและกัน เพราะเมื่อเพื่อนของคุณทยอยจากไป เพื่อนที่เหลืออยู่จะทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้นโดยอัตโนมัติ”

 

ภาพ: STR / AFP

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X