นักเขียนโค้ดชาวยูเครนจำนวนมากต่างใช้เวลาหลังเลิกงานมาทำหน้าที่เป็น ‘นักรบไซเบอร์’ เพื่อสู้สงครามกับรัสเซีย ที่กำลังบุกรุกบ้านเกิดเมืองนอนอย่างหนัก
ผู้คนกว่า 311,000 คนเข้าร่วมกลุ่มที่เรียกว่า ‘IT Army of Ukraine’ บนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย Telegram ซึ่งมีเป้าหมายร่วมกันคือทำสงครามไซเบอร์กับรัสเซีย โดยผู้คนในกลุ่มนี้ไม่ได้เป็นชาวยูเครนเท่านั้น แต่ยังมีคนจากประเทศอื่นๆ อีกด้วย
วิศวกรซอฟต์แวร์ชาวยูเครนรายหนึ่งบอกกับ CNBC ว่า ทางกลุ่มได้ช่วยดำเนินการโจมตีทางไซเบอร์หลายครั้งนอกเวลางาน โดยตั้งแต่เริ่มสงคราม ได้มีการโจมตีเว็บไซต์ของรัฐบาลรัสเซีย ธนาคารรัสเซีย และระบบการแลกเปลี่ยนสกุลเงิน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- แสบ! กลุ่มแฮ็กเกอร์ Anonymous เจาะระบบทำเว็บไซต์รัฐบาลรัสเซีย ‘ล่ม’ ลามไปถึงช่องทีวีที่ถูกเจาะก่อนเปิด ‘เพลงยูเครน’ ออกอากาศ
- ‘Anonymous vs. รัสเซีย’ ตรวจสนามรบ ‘สงครามไซเบอร์’ เหล่าแฮ็กเกอร์ทำแสบได้มากแค่ไหนในช่วง 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา
- ปรากฏการณ์ ‘TikTok War’ เมื่อเหล่าอินฟลูเอนเซอร์เดินทัพสู่สมรภูมิคอนเทนต์สงครามรัสเซีย-ยูเครน:
“ฉันกำลังช่วย IT Army ในการโจมตีด้วย DDoS” เขากล่าว โดยการโจมตีดังกล่าวคือการปฏิเสธการให้บริการแบบวงกว้างเครื่องเซิร์ฟเวอร์ที่ถูกการโจมตีด้วยวิธี DDoS จะไม่สามารถให้บริการได้ชั่วคราว จนกว่าปัญหาจะได้รับการแก้ไข “ปกติฉันทำการโจมตีจากเซิร์ฟเวอร์ 3-5 เซิร์ฟเวอร์ และแต่ละเซิร์ฟเวอร์มักจะสร้างคำขอประมาณ 50,000 คำขอต่อวินาที”
เมื่อถูกถามถึงความสำเร็จจนถึงปัจจุบัน เขากล่าวว่าเป็นเรื่องยากที่จะพูด เนื่องจากการโจมตีเกิดขึ้นพร้อมกันโดยคนหลายพันคน ซึ่ง “การร่วมมือกันจะทำให้ประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน” เขากล่าว
ด้าน Oleksii หัวหน้าทีมประกันคุณภาพของบริษัทซอฟต์แวร์ในเมืองซาปอริซเซีย ประเทศยูเครน ก็เป็นอีกรายที่เข้าร่วมเป็นนักรบไซเบอร์ โดยนับตั้งแต่รัสเซียเริ่มบุกยูเครนเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ เขาทำงานโดยเฉลี่ยไม่เกินสองชั่วโมงต่อวัน ซึ่ง “ในช่วงเวลาเช่นนี้ แน่นอนว่าเป็นการยากที่จะจัดลำดับความสำคัญของงานอย่างมืออาชีพ
“ในฐานะพนักงานไอที ฉันหวังว่าฉันจะสามารถช่วยประเทศของฉันได้ เนื่องจากสงครามครั้งนี้เกิดขึ้นในโลกดิจิทัลเช่นกัน” เขากล่าว “ในแต่ละวันฉันช่วยเข้าถึงเว็บไซต์ต่างๆ ในยุโรปและสหรัฐอเมริกา และขอให้พวกเขาหยุดทำธุรกิจกับรัสเซีย ผ่านการโพสต์บนโซเชียลเน็ตเวิร์ก ฯลฯ”
นักพัฒนาอีกรายที่ชื่อ Anton กล่าวว่า เขามีส่วนในการโจมตี DDoS กับ Gazprom ยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานน้ำมันของรัสเซีย เช่นเดียวกับคนอื่นๆ ที่โจมตีธนาคาร Sberbank ของรัสเซียและเว็บไซต์ของรัฐบาล โดย Gazprom, Sberbank และรัฐบาลรัสเซียไม่ตอบสนองต่อคำร้องขอความคิดเห็นของ CNBC ในทันที
“มีคนจำนวนมากที่มีส่วนร่วมในการโจมตี ดังนั้นจึงไม่ต้องใช้เวลามากในการ (ทำให้เซิร์ฟเวอร์) ยุติการให้บริการ” เขากล่าวกับ CNBC
ในขณะเดียวกัน Nikita ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์บอก CNBC ว่า เขาอยู่ในช่อง IT Army of Ukraine โดยเขาพยายามใช้บริการส่งข้อความเพื่อบอกพลเมืองรัสเซียว่าเกิดอะไรขึ้นในยูเครนจริงๆ ท่ามกลางการควบคุมของสื่อที่เข้มงวดจากมอสโก นอกจากนี้เขายังมีเป้าหมายต้องการสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจให้กับรัสเซีย
ยูเครนเป็นหนึ่งในศูนย์กลางการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปตะวันออก และสร้างนักเขียนโค้ดที่มีชื่อเสียงระดับโลก โดยมีรายงานว่าสงครามไซเบอร์เป็นการต่อสู้แบบสองทาง ในช่วงสามวันแรกหลังจากการบุกรุก การโจมตีออนไลน์ต่อภาคทหารและภาครัฐของยูเครนเพิ่มขึ้น 196% ตามการวิจัยของ Check Point
อ้างอิง: