×

The Invisible Thread ตีแผ่ความเข้าใจผิดต่อครอบครัวเกย์ด้วยอารมณ์ฟีลกู้ด

24.03.2022
  • LOADING...
The Invisible Thread

HIGHLIGHTS

  • ความสนุกของ The Invisible Thread คือการเล่าเรื่องดราม่าด้วยอารมณ์คอเมดี้ พร้อมทั้งสอดแทรกเรื่องราวการเปลี่ยนผ่านของสังคมอิตาลี ที่ค่อยๆ ยอมรับความรักของคนเพศเดียวกันผ่านครอบครัวเล็กๆ ของเลโอเน 
  • ในขณะเดียวกันก็นำเสนอปัญหาเรื่องการขอ พ.ร.บ.คู่ชีวิตของคู่รักเพศเดียวกัน สามารถใช้นามสกุล และเป็นผู้รับผลประโยชน์อีกฝ่ายได้ แต่ก็ยังไม่ครอบคลุมถึงสิทธิการแต่งงานและการรับเลี้ยงบุตร ทำให้มีปัญหาตามมา และกลายเป็นปมที่จะถูกคลี่คลายในตอนท้ายเรื่อง 
  • แม้เรื่องราวหลักๆ จะพูดถึงขั้นตอนก่อนการหย่าร้าง แต่ The Invisible Thread ก็เล่าออกมาอย่างมีอารมณ์ขันและหาทางลงให้คนดูรู้สึกดี ด้วยบทสรุปที่ดีที่สุดสำหรับทุกฝ่าย อีกทั้งยังทำให้ตัวละครก้าวผ่านพ้นวัยสู่โลกของความเป็นจริง

เคยสงสัยกันหรือไม่ว่าเด็กที่อยู่ในครอบครัวรักร่วมเพศเติบโตมาอย่างไร และสังคมมองพวกเขาอย่างไร? ถ้าคุณเป็นหัวสมัยใหม่ นี่คงเป็นเรื่องเจ๋งๆ ที่น่าสนใจ แต่ถ้าคุณเป็นคนหัวเก่า นี่อาจเป็นเรื่องแปลกประหลาดและถูกเหมารวมด้วยอคติบางอย่าง ซึ่งเรื่องนี้ถูกนำมาตีแผ่ในภาพยนตร์ของอิตาลี ที่ผสมทั้งความดราม่า คอเมดี้ และการก้าวพ้นวัยเอาไว้ด้วยกัน

 

The Invisible Thread หรือในชื่อไทยว่า สายใยที่มองไม่เห็น ว่าด้วยเรื่องราวของ เลโอเน วัยรุ่นอายุ 15 ปีผู้เติบโตในครอบครัวที่มีพ่อกับพ่อ อย่างเปาโลและซิโมเน หลังจากคบหากันได้ 5 ปี ทั้งคู่ตัดสินใจมีลูกด้วยการผสมเทียม โดยได้รับความช่วยเหลือจากทิลลี่ หญิงสาวอเมริกันใจดีมาช่วยอุ้มบุญให้ เพราะในตอนนั้นกฎหมายของอิตาลีไม่รองรับให้คู่รักเกย์รับบุตรบุญธรรม 

 

ในที่สุดเลโอเนก็ถือกำเนิดขึ้นมาและเติบโตในครอบครัวที่อบอุ่น เขาเล่าเรื่องราวของครอบครัวตัวเองผ่านโปรเจกต์หนังสั้นที่ดูเหมือนจะจบแบบแฮปปี้เอนดิ้ง แต่แล้วในงานฉลองความรักครอบรอบ  20 ปีของเปาโลและซิโมเน เลโอเนก็ได้รู้ว่าเขามีปัญหาครอบครัวไม่ต่างจากครอบครัวทั่วไป และกลายเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวสุดเซอร์ไพรส์ที่ไม่มีใครคาดคิด

 

ความสนุกของ The Invisible Thread คือการเล่าเรื่องดราม่าด้วยอารมณ์คอเมดี้ พร้อมทั้งสอดแทรกเรื่องราวการเปลี่ยนผ่านของสังคมอิตาลี ที่ค่อยๆ ยอมรับความรักของคนเพศเดียวกันผ่านครอบครัวเล็กๆ ของเลโอเน ในขณะเดียวกันก็นำเสนอปัญหาเรื่องการขอ พ.ร.บ.คู่ชีวิตของคู่รักเพศเดียวกัน สามารถใช้นามสกุล และเป็นผู้รับผลประโยชน์อีกฝ่ายได้ แต่ก็ยังไม่ครอบคลุมถึงสิทธิการแต่งงานและการรับเลี้ยงบุตร ทำให้มีปัญหาตามมา และกลายเป็นปมที่จะถูกคลี่คลายในตอนท้ายเรื่อง 

 

 

ในขณะเดียวกันก็ฉายภาพให้เห็นถึงสังคมรอบข้างที่มองมายังเด็กจากครอบครัวคู่รักเกย์ ที่มีทั้งยอมรับและอคติอย่างในสังคมโรงเรียน แม้เลโอเนจะเป็นเด็กวัยรุ่นธรรมดา แต่เรื่องราวของครอบครัวเขาก็เป็นที่สนใจ จนไปถูกตาต้องใจ อันนา สาวสวยประจำโรงเรียนที่เลโอเนแอบชอบอยู่ เธอสานสัมพันธ์ด้วยการไปกินข้าวที่บ้านเลโอเน ซึ่งขณะที่แม่ของอันนาไปส่งก็ต้องเซอร์ไพรส์กับครอบครัวที่ไม่เหมือนใครของเลโอเน เป็นภาพสะท้อนของคนหัวเก่าที่เหมือนจะยอมรับแต่ก็ไม่ทั้งหมด 

 

 

ผู้เขียนชอบบทสนทนาบนโต๊ะอาหาร ที่อันนาเล่าว่าแม่ยอมรับเรื่องเกย์ได้ เพราะแม่บอกว่า… (ทุกคนบนโต๊ะพูดพร้อมกัน) แม่มีเพื่อนเป็นเกย์หลายคน ซึ่งนี่คือคำตอบที่ได้ยินบ่อยๆ แต่ก็ไม่ได้หมายถึงการยอมรับได้จริงๆ 

 

ส่วนอีกเรื่องที่มักเป็นความเข้าใจผิดๆ ก็คือ เด็กที่เติบโตในครอบครัวเกย์ก็มักจะโตขึ้นและกลายเป็นเกย์ไปด้วย จุดนี้อันนาเองก็เคยเข้าใจผิดและชงเลโอเนให้กับพี่ชายฝาแฝดของตัวเอง หรือแม้แต่ตัวเลโอเนเองก็เคยสงสัยว่าตัวเองเป็นเกย์หรือเปล่า จนเอาเรื่องนี้ไปปรึกษาพ่อและได้คำตอบว่า “ถ้าลูกเป็นจริงๆ ลูกคงไม่ติดใจสงสัยแล้วเอาเรื่องนี้มาถามพ่อหรอก”

 

 

สำหรับมุมมองของคนทั่วไปต่อครอบครัวเกย์ ถ้าไม่มองว่าแปลกประหลาด ก็มองว่าสมบูรณ์แบบไปเลย อาจจะเป็นเพราะการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิต่างๆ แม้แต่ตัวเลโอเนเองก็คิดว่าเป็นแบบนั้น แต่ความจริงแล้วครอบครัวเกย์ก็ไม่ต่างจากครอบครัวทั่วไป ที่ต้องเจอกับปัญหาทั้งความรักจืดจาง การนอกใจ และอาจลงท้ายด้วยการหย่าร้างกัน ซึ่งในเรื่องก็สะท้อนให้เห็นผ่านคาแรกเตอร์ของเปาโล ที่เมื่อมีลูกก็ทุ่มเททุกอย่างให้กับลูก จนลืมดูแลคนข้างกายในฐานะสามี ทำให้ซิโมเนที่ยังต้องการชีวิตรักโลดโผนจนเผลอไผลนอกใจไป แต่สุดท้ายแล้วทั้งคู่ก็ไม่เคยลืมหน้าที่ในฐานะพ่อ และกลายเป็นที่มาของการตามหาว่าใครคือพ่อที่แท้จริงของเลโอเนกันแน่ 

 

 

แม้เรื่องราวหลักๆ จะพูดถึงขั้นตอนก่อนการหย่าร้าง แต่ The Invisible Thread ก็เล่าออกมาอย่างมีอารมณ์ขันและหาทางลงให้คนดูรู้สึกดี ด้วยบทสรุปที่ดีที่สุดสำหรับทุกฝ่าย อีกทั้งยังทำให้ตัวละครก้าวผ่านพ้นวัยสู่โลกของความเป็นจริง ในขณะเดียวกันก็โยนคำถามกลับมาที่คนดูว่า นิยามความหมายของคำว่าครอบครัวมันจำเป็นมากแค่ไหนที่ต้องผูกพันกันทางสายเลือด และคุณค่าของคำว่าครอบครัวแบบดั้งเดิมกับครอบครัวสมัยใหม่ได้รับการตีค่าว่าเท่ากันหรือเปล่า

 

สามารถรับชม The Invisible Thread ได้ทาง Netflix 

 

 

ภาพ: courtesy of Invisible Thread

อ้างอิง:

FYI
  • อิตาลีผ่านร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ในปี 2016 จนถึงปัจจุบันก็ยังคงไม่มีกฎหมายสมรสของเพศเดียวกัน ซึ่งกฎหมายทั้งสองแบบนี้จะได้รับสิทธิที่แตกต่างกัน โดย The Invisible Thread ได้ให้รายละเอียดถึงข้อจำกัดต่างๆ ผ่านการเล่าเรื่อง ส่วนเมืองไทย ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต โดยกระทรวงยุติธรรม ผ่านมติเห็นชอบของ ครม. เมื่อปี 2020 แต่ก็ยังมีกระแสเรียกร้องเพื่อการสมรสที่เท่าเทียมอย่างแท้จริง สามารถอ่านรายละเอียดได้ที่ https://www.support1448.org/
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X