×

‘Goldman Sachs’ คาด Fed จ่อขึ้นดอกเบี้ย 0.50% ถึง 2 ครั้งในปีนี้ เพื่อจัดการเงินเฟ้อให้อยู่หมัด

23.03.2022
  • LOADING...
‘Goldman Sachs’ คาด Fed จ่อขึ้นดอกเบี้ย 0.50% ถึง 2 ครั้งในปีนี้ เพื่อจัดการเงินเฟ้อให้อยู่หมัด

สำนักข่าว Reuters เปิดเผยรายงานความเห็นของทีมนักวิเคราะห์จาก Goldman Sachs ที่ออกมาคาดการณ์ทิศทางแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในช่วงที่เหลือของปีนี้ โดยระบุว่า เพื่อให้สามารถจัดการกับภาวะเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ได้อย่างเด็ดขาด Fed จำเป็นต้องเร่งเพิ่มระดับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยจาก 0.25% มาอยู่ที่ 0.50% ในการประชุม Fed เดือนพฤษภาคม และเดือนมิถุนายน ควบคู่ไปกับการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดและรัดกุมมากขึ้น

 

การคาดการณ์ดังกล่าวสอดคล้องกับท่าที่ของ เจอโรม พาวเวลล์ ประธาน Fed ที่ออกมากล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการกำกับนโยบายการเงิน (FOMC) ระหว่างวันที่ 15-16 มีนาคมที่ผ่านมา ว่า Fed จำเป็นต้องเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วและรุนแรงในการขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวเลขเงินเฟ้อปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นไปมากกว่านี้

 

ทั้งนี้ ทีมนักวิเคราะห์ของ Goldman Sachs อธิบายว่า การเปลี่ยนคำพูดจากคำว่า ขึ้นดอกเบี้ยแบบ ‘คงที่’ หรือ Steadily ในเดือนมกราคมมาเป็นการขึ้นดอกเบี้ยแบบ ‘รวดเร็วฉับไว’ หรือ Expeditiously ในถ้อยแถลงล่าสุดของประธาน Fed เป็นสัญญาณที่บ่งชี้ว่า Fed จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ 0.50%

 

นอกจากจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% 2 ครั้งแล้ว ในอีก 4 ครั้งที่เหลือ Fed มีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% หลังการประชุมที่เหลือ ก่อนเดินหน้าขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 3 ครั้งในช่วงปี 2023 ทำให้ภาพรวมการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะอยู่ที่ 3-3.25%

 

ยิ่งไปกว่านั้น นักวิเคราะห์ยังประเมินว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะเร่งอัตราการลดวงเงินซื้อพันธบัตรในมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ขึ้นเป็นสองเท่าที่ระดับ 3 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือนนับตั้งแต่เดือนมกราคมปีหน้าเป็นต้นไป และจะยุติมาตรการดังกล่าวภายในกลางเดือนมีนาคม 2565

 

ด้านสถานีโทรทัศน์ CNN รายงานความเห็นของผู้เชี่ยวชาญที่มีต่อสถานการณ์อุตสาหกรรมพลังงานในปัจจุบัน โดยยอมรับว่า สงครามความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน กำลังส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงรูปร่างของตลาดพลังงานโลก แต่ยังไม่สามารถประเมินขนาดผลกระทบและระยะเวลาที่จะได้รับผลกระทบ

 

ความเห็นครั้งนี้มีขึ้นหลังจากที่สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ออกโรงเตือนเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ระบุว่าทั่วโลกอาจได้รับผลกระทบจากวิกฤตซัพพลายน้ำมันครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายสิบปี หากรัสเซียตัดสินใจลดกำลังการผลิตน้ำมัน ควบคู่ไปกับการเลี่ยงการส่งออกและลดความต้องการใช้งานภายในประเทศ

 

ทั้งนี้ ราคาน้ำมันดิบเบรนต์ทะเลเหนือ ล่าสุดเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (21 มีนาคม) ปรับตัวขึ้นแล้ว 4% มาอยู่ที่ 112 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ท่ามกลางความพยายามของบรรดาผู้นำในสหภาพยุโรป (EU) เข้าร่วมการคว่ำบาตรน้ำมันของรัสเซีย

 

ซูซานนาห์ สตรีทเตอร์ นักวิเคราะห์การลงทุนและนักการตลาดอาวุโสที่ Hargreaves Lansdown กล่าวว่า ขณะนี้ บรรดานักลงทุนต่างกำลังจับตาดูการเจรจาครั้งสำคัญของ NATO ในช่วงปลายสัปดาห์นี้ โดยมุ่งเป้าไปที่การคว่ำบาตรรัสเซียอย่างเข้มงวด ด้วยการยกระดับมาตรการคว่ำบาตรน้ำมันดิบในยุโรปอีกครั้ง

 

ทั้งนี้ แคนาดา สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย ได้สั่งห้ามการนำเข้าน้ำมันของรัสเซียแล้ว ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของรัสเซียประมาณ 13% ซึ่งการที่รัสเซียยังคงเดินหน้าบุกยูเครนอย่างต่อเนื่อง อาจบีบให้บรรดาชาติสมาชิก EU เข้าร่วม นับเป็นความเคลื่อนไหวที่อาจกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของตลาดซื้อพลังงานของทวีปยุโรป

 

ด้าน ไซมอน โคฟนีย์ รัฐมนตรีต่างประเทศไอร์แลนด์กล่าวว่า รัฐบาลตอนนี้กำลังพิจารณาคว่ำบาตรนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย เพราะเมื่อพิจารณาจากความเสียหายที่ยูเครนได้รับ คงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากที่จะไม่นำประเด็นด้านพลังงานเข้ามาเกี่ยวข้องเพื่อลงโทษรัสเซียขั้นเด็ดขาด

 

ก่อนหน้านี้ จุดยืนท่าทีของชาติสมาชิก EU คือไม่ต้องการแตะต้องตลาดพลังงาน เนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน หลังจากที่ก่อนหน้านี้ EU มีแผนที่จะลดการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย พร้อมร่างแผนแนวทางการเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานทางเลือก หาแหล่งซัพพลายรายใหม่ และลดการใช้พลังงานด้วยแนวทางการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพสูงสุด

 

อ้างอิง: 

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X