ผ่านมากว่า 3 สัปดาห์แล้วนับตั้งแต่ที่บัญชีทวิตเตอร์ชื่อดังในนาม ‘Anonymous’ หรือ ‘นิรนาม’ ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของกลุ่มแฮ็กเกอร์ระดับโลก ประกาศทำ ‘สงครามไซเบอร์’ กับประเทศรัสเซีย เพื่อเป็นการโต้ตอบต่อวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ที่มีคำสั่งปฏิบัติการพิเศษทางทหารที่พยายามเข้ายึดประเทศยูเครน จนทำให้บ้านเมืองพังทลาย ประชาชนล้มตาย และมีผู้ลี้ภัยมากกว่า 3 ล้านคนแล้ว
“เราต้องการให้คนรัสเซียเข้าใจว่า เรารู้ว่ามันยากสำหรับพวกเขาที่จะพูดต่อต้านเผด็จการของพวกเขา เพราะกลัวว่าจะถูกตอบโต้” Anonymous กล่าวพร้อมเสริมว่า “พวกเราในฐานะส่วนรวมต้องการความสงบสุขในโลกเท่านั้น เราต้องการอนาคตของมวลมนุษยชาติ และทางทีมยังมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ชาวยูเครนสามารถเข้าถึงโลกออนไลน์ได้”
อย่างไรก็ดี สงครามไซเบอร์ที่ Anonymous ที่มีจำนวนผู้ติดตาม 7.9 ล้านคน โดย 500,000 คนเป็นผู้ติดตามใหม่หลังการประกาศสงครามไซเบอร์ประกาศนั้น สามารถจู่โจมประเทศรัสเซียได้จริงมากน้อยแค่ไหน และมีส่วนช่วยในการหยุดยั้งการรุกรานยูเครนได้หรือไม่?
เรื่องนี้ทางด้าน เจเรเมียห์ ฟาวเลอร์ (Jeremiah Fowler) ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Security Discovery ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับ Cyber Security ได้ร่วมกับกลุ่มนักวิจัยที่ชื่อว่า Website Planet ตรวจสอบผลจากการกระทำของกลุ่มแฮ็กเกอร์ชื่อดังว่าเป็นไปตามที่กล่าวอ้างหรือไม่
การแฮ็กฐานข้อมูล
เริ่มจากการตรวจสอบฐานข้อมูล 100 แห่งของรัสเซีย ผลลัพธ์ที่ได้น่าตกใจ เพราะมีถึง 92 แห่งที่โดนเจาะเล่นงาน
โดยฐานข้อมูลเหล่านี้ซึ่งเป็นของผู้ให้บริการ รวมถึงหน่วยงานที่ชื่อว่า CIS (Commonwealth of Independent States) องค์กรที่จัดตั้งในปี 1991 โดยรัฐบาลรัสเซียและอดีตชาติที่เคยอยู่ในสหภาพโซเวียตก่อนที่สหภาพโซเวียตจะล่มสลาย
จากการตรวจสอบพบว่าไฟล์ของ CIS ถูกลบ และมีโฟลเดอร์อีกหลายร้อยที่ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น ‘putin_stop_this_war’ ขณะที่อีเมลและตัวตนของผู้ดูแลถูกเปิดเผยออกมา ซึ่งทางด้านฟาวเลอร์มองว่าเหตุการณ์นี้คล้ายกับเหตุการณ์ ‘MeowBot’ ที่มุ่งเป้าไปที่การทำลายข้อมูลและเปลี่ยนแปลงชื่อไฟล์ทั้งหมด และยังมีอีกฐานข้อมูลที่ตรวจสอบ ซึ่งมีชื่อและอีเมลของลูกค้ากว่า 270,000 คนโดนแฮ็กด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
สิ่งที่ชัดเจนคือมีการแฮ็กเกิดขึ้น แต่สิ่งที่ไม่ชัดเจนคือเหล่าแฮ็กเกอร์จะนำข้อมูลไปใช้อย่างไร “เราพบข้อเท็จจริงที่แฮ็กเกอร์ค้นพบและเจาะเข้าระบบเหล่านี้ สิ่งที่เราไม่รู้คือ ข้อมูลนั้นถูกดาวน์โหลดหรือเหล่าแฮ็กเกอร์มีแผนจะทำอย่างไรกับข้อมูลเหล่านั้น”
คำถามสำคัญที่สุดคือ ตกลงแล้วนี่เป็นผลงานของแฮ็กเกอร์จริงๆ ใช่ไหม? ฟาวเลอร์ยืนยันว่า จากการที่เขาติดตาม Anonymous มาตลอด ทุกอย่างมันสอดคล้องกันหมดว่าเป็นผลงานของพวกเขาจริง
แฮ็กสถานีโทรทัศน์และเว็บไซต์
อีกหนึ่งสิ่งที่มีการกล่าวอ้างคือการเจาะเข้าระบบของสถานีโทรทัศน์และเว็บไซต์ โดยบัญชีทวิตเตอร์ที่ชื่อว่า @YourAnonNews อ้างว่าพวกเขาเจาะเข้าระบบของสถานีโทรทัศน์ของรัฐบาลรัสเซีย
เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่และเห็นผลชัด ซึ่งในความเห็นของผู้เชี่ยวชาญอย่างฟาวเลอร์แล้ว สิ่งที่แฮ็กเกอร์บอกนั้นดูเหมือนจะเป็นเรื่องจริง
“ถ้าผมเป็นผู้ตรวจสอบข้อเท็จจริง ผมก็ต้องบอกว่ามันจริง” ฟาวเลอร์กล่าว “บ็อบ เดียเชนโก (Bob Diachenko) พาร์ตเนอร์ของผมที่ Security Discovery ได้ถ่ายภาพหน้าจอการถ่ายทอดสดบนเว็บไซต์ไว้ได้ว่ามีการแฮ็กจริง (สถานี Mir24 ของรัฐบาลรัสเซีย) ดังนั้นเรายืนยันได้ว่ามีการแฮ็กสัญญาณการถ่ายทอดสดได้อย่างน้อย 1 ครั้ง ให้เปลี่ยนเป็นการถ่ายทอดสดสัญญาณจากฝ่ายยูเครนแทน”
@YourAnonNews ยังอ้างว่าพวกเขาได้เจาะเข้าระบบเว็บไซต์ขององค์กรในรัสเซียและสำนักข่าวหลายแห่ง ซึ่งรวมถึงบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานอย่าง Gazprom และ RT สำนักข่าวรัสเซียที่รัฐบาลเป็นผู้สนับสนุน
“เอเจนซีหลายแห่งยอมรับว่าพวกเขาถูกจู่โจมจริง” ฟาวเลอร์กล่าว ก่อนให้ความเห็นเพิ่มเติมว่าเว็บไซต์เหล่านี้เล่นงานได้ง่ายมาก ด้วยการฟลัดดิงข้อมูลจนทำให้เว็บไซต์ล่ม และมีหลายครั้งที่ล่มในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ดี ฟาวเลอร์ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า @YourAnonNews ไม่ได้เป็นเจ้าเดียวที่จ้องเล่นงาน เพราะยังมีอีกหลายกลุ่มที่ ‘จองกฐิน’ เอาไว้ ซึ่งรวมถึงแฮ็กเกอร์อาสาสมัครอีกกว่า 310,000 คนที่รวมตัวกันในนาม ‘กองทัพไอทีแห่งยูเครน’ ที่อยู่บน Telegram
การกล่าวอ้างที่เกินจริงจากกลุ่มอื่น
ในขณะที่ฟาวเลอร์ยังไม่พบว่า Anonymous ได้เคลมเกินความจริง อีกหนึ่งผู้เชี่ยวชาญอย่าง โลเทม ฟิงเคิลสไตน์ (Lotem Finkelstein) จาก Check Point Software Technologies ที่ทำเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัย Cyber Security สิ่งที่พบกลับเป็นการเคลมของกลุ่มอื่นที่ไม่ได้เป็นความจริง และมีทั้งสองฝ่ายด้วย
โดยฝ่ายโปรยูเครนก็บอกว่าพวกเขาเจาะเข้าระบบเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ขณะที่กลุ่มโปรรัสเซียก็บอกว่าพวกเขาสั่งปิดเว็บไซต์ของ Anonymous ได้แล้ว ซึ่งทาง Check Point ยืนยันว่าทั้งสองเรื่องไม่เป็นความจริง
เพียงแต่การเคลมเหล่านี้นั้นอาจจะหวังผลเพียงแค่เรื่องของขวัญและกำลังใจ รวมถึงการหวังยอดเอ็นเกจเมนต์เท่านั้น ซึ่งแตกต่างจาก Anonymous ที่ตามความเห็นของฟาวเลอร์แล้วพวกเขามุ่งเป้าไปที่ผลงานที่สามารถสร้างผลกระทบได้จริงๆ
‘โรบินฮู้ดยุคไซเบอร์’ มหาโจรผู้รักษาความยุติธรรม?
ถึงการแฮ็กมันจะไม่ถูกต้อง แต่ในความเห็นของเหล่ากองเชียร์แล้ว การกระทำของ Anonymous นั้นไม่ต่างอะไรจากวีรกรรมของโรบินฮู้ด จอมโจรผู้ปล้นคนรวยเพื่อนำมาช่วยเหลือผู้ยากไร้แห่งป่าเชอร์วูด
“พวกเขาแทบจะเป็นโรบินฮู้ดในยุคไซเบอร์ ในยามที่มีสิ่งที่ผู้คนรู้สึกว่าไม่มีใครสักคนทำอะไรได้เลย และอยากให้มีใครสักคนทำอะไรเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมทันที ซึ่งกลุ่มนักแฮ็กเกอร์อย่าง Anonymous ทำให้ผู้คนได้รู้สึกพึงพอใจ”
อย่างไรก็ดี ในความเห็นของผู้เชี่ยวชาญอีกรายอย่าง มาเรียนน์ ไบลีย์ (Marianne Bailey) พาร์ตเนอร์ Cyber Security ของบริษัทที่ปรึกษา Guidehouse และอดีตผู้อำนวยการด้าน Cyber Security ของ U.S. National Security Agency ระบุว่า การกระทำของเหล่าแฮ็กเกอร์นั้นไม่อาจมองเห็นแค่ด้านเดียวได้ โดยเฉพาะในยามสงคราม
ไบลีย์มองว่าการจู่โจมทางไซเบอร์นั้นมีศักยภาพที่จะสร้างผลกระทบได้ทันที เพียงแต่หากการโจมตีนั้นเป็นการโจมตีผิดที่ หรือมีการบิดเบือนความตั้งใจ ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อประเทศที่ไม่ควรได้รับผลกระทบได้เหมือนกัน
แต่สิ่งที่มองเห็นได้จากสงครามไซเบอร์ครั้งนี้คือ ในอนาคตเราจะได้เห็นสงครามไซเบอร์ที่รุนแรงขึ้น หนักแน่นขึ้น และอาจเป็นแนวทางใหม่ในการทำสงครามที่ง่ายขึ้นกว่าการปฏิบัติการทางทหารในรูปแบบเดิม
“การต่อสู้รูปแบบนี้จะถูกใช้บ่อยขึ้นอย่างแน่นอนสำหรับประเทศคู่กรณีที่มีความขัดแย้งกัน”
อ้างอิง:
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
- Twitter: twitter.com/standard_wealth
- Instagram: instagram.com/thestandardwealth
- Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP