เมื่อวันที่ (15 มีนาคม) พรรคเพื่อไทยจัดเสวนาว่าด้วยสิทธิของพ่อแม่ หัวข้อ ‘เป็นพ่อแม่ด้วย ทำงานด้วย มันเหนื่อยมากเลยนะ’ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานนิทรรศการชื่อ ‘นิทรรศกี: เพื่อผ้าอนามัยฟรีถ้วนหน้า’ จากความพยายามศึกษาความเป็นไปได้ของนโยบาย ‘ผ้าอนามัยฟรีถ้วนหน้า (Free Pads for All)’ โดยมีเสวนาประเด็นสตรีนิยมทุกวันอังคารสามสัปดาห์ และเปิดให้ชมงานศิลปะฟรีทุกวันระหว่างวันที่ 8-31 มีนาคม เวลา 10.00-18.00 น. บริเวณร้านกาแฟ Think Lab พรรคเพื่อไทย จัดแสดงงานศิลปะว่าด้วย ‘กีและผู้มีประจำเดือน’ ของศิลปิน Juli Baker and Summer, Prim Issaree และ Pyra
สำหรับหัวข้อเสวนาทุกวันอังคารในสามสัปดาห์ ประกอบด้วย
- 8 มีนาคม: สวัสดิการผ้าอนามัยคือสิทธิมนุษยชน
- 15 มีนาคม: เป็นพ่อแม่ด้วย ทำงานด้วย มันเหนื่อยมากเลยนะ
- 22 มีนาคม: จากวัยรุ่นเดือนตุลาฯ ถึงวัยรุ่นยุค ประยุทธ์ จันทร์โอชา บทบาทผู้หญิงในฐานะนักต่อสู้
การเสวนาหัวข้อ ‘เป็นพ่อแม่ด้วย ทำงานด้วย มันเหนื่อยมากเลยนะ’ วิทยากรประกอบด้วย
- สกุณา สาระนันท์ ส.ส. สกลนคร พรรคเพื่อไทย
- ศรีไพร นนทรีย์ สหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง นักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยและสิทธิแรงงาน
- จะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล นักขับเคลื่อนสิทธิแรงงาน
ดำเนินรายการโดย ชานันท์ ยอดหงษ์ ผู้รับผิดชอบนโยบายด้านอัตลักษณ์และความหลากหลายทางเพศ พรรคเพื่อไทย
ชานันท์ ยอดหงษ์ ผู้รับผิดชอบนโยบายด้านอัตลักษณ์และความหลากหลายทางเพศ พรรคเพื่อไทย
ชานันท์กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยมีโครงการจะผลักดันสิทธิแรงงานและสวัสดิการแรงงาน อาจเปิดตัวนโยบายวันที่ 1 พฤษภาคม เพื่อเฉลิมฉลองวันกรรมกรสากล ซึ่งคำว่ากรรมกร เป็นคำที่มีการใช้มากกว่าคำว่า แรงงาน
ทางพรรคกำลังศึกษาเรื่องสิทธิต่างๆ เช่น สิทธิแรงงานชายให้สามารถลาไปเลี้ยงลูกคู่กับแรงงานหญิงที่ลาคลอดลูกได้ สิทธิลาปวดประจำเดือน สิทธิลาไปผ่าตัดแปลงเพศ
ในอดีตตั้งแต่ปี 2536 แรงงานสามารถลาคลอดได้ 90 วัน เกิดจากการเคลื่อนไหวภาคประชาชน โดยก่อนหน้านั้นลาได้ 30 วัน ตอนนี้กฎหมายกำหนดให้ผู้หญิงลาคลอดได้ 98 วัน ส่วนผู้ชายลาไปเลี้ยงลูกได้ 15 วัน แต่ให้สำหรับข้าราชการเท่านั้นไม่รวมเอกชน
จะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล นักขับเคลื่อนสิทธิแรงงาน
ความเหลื่อมล้ำอาจนำไปสู่ความรุนแรงปะทุในอนาคต
จะเด็จ เชาวน์วิไล กล่าวถึงคำว่ากรรมกรและคำว่าแรงงานว่า คำว่ากรรมกร มีความชัดเจน เห็นภาพ เป็นคำจากองค์กรฝ่ายก้าวหน้าตั้งแต่ยุคเก่า ช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครองก็ใช้คำนี้
ส่วนคำว่าแรงงาน จะใช้โดยองค์กรแรงงานที่ทำงานใกล้ชิดกับกระทรวงแรงงาน เช่น การใช้คำว่าวันแรงงานแห่งชาติ
จำได้ในวัยเด็ก ในปฏิทินยังใช้คำว่า วันกรรมกร เข้าใจว่าสาเหตุเพราะเป็นกลุ่มมีพลังมากตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน รัฐจึงใช้คำว่าแรงงาน ซึ่งดูซอฟต์กว่าคำว่า กรรมกรที่ดูเป็นนักเคลื่อนไหวเดินขบวน มีความหมายเชิงก้าวหน้าอยู่
รัฐต้องการให้คำว่ากรรมกรหายไป เพราะเป็นคำที่ใช้เชื่อมโยงกันทั่วโลก รัฐต้องการควบคุมวาทกรรม ทำให้คำว่ากรรมกรหายไป
บางคนไปมองว่ากรรมกรเป็นคำกดทับ แต่จริงๆ แล้วคำว่ากรรมกรใช้กับทุกคนได้ทั้งหมด
สำหรับการเคลื่อนไหวให้มีสิทธิลาคลอด 180 วันในปัจจุบัน อุปสรรคสำคัญคือระบบราชการซึ่งเป็นปัญหาต้องฝ่าฟัน ข้าราชการฝั่งอนุรักษนิยมจากกระทรวงมหาดไทยบ้าง กระทรวงแรงงานบ้าง อย่างไรก็ตาม หากพรรคการเมืองเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญ ก็อาจต้องทำงานกับความคิดของคนในระดับรากหญ้าซึ่งประสบปัญหาด้วย ทั้งนี้ การสนับสนุนการผลักดันสวัสดิการผู้หญิง เป็นนโยบายดีๆ ที่ทำให้คนมีความหวัง
สังคมไทยหลังรัฐประหารมีความเหลื่อมล้ำเพิ่มมากขึ้น ถ้าพรรคฝั่งประชาธิปไตยขึ้นมาเป็นรัฐบาล ก็ต้องแก้โจทย์ความเหลื่อมล้ำเป็นเรื่องแรก รวมถึงสวัสดิการผู้หญิงเพราะลดความเหลื่อมล้ำ ตอนนี้คนงานอยู่ในสภาพรายได้ติดลบ ยิ่งไม่มีสวัสดิการชีวิตยิ่งติดลบ ที่ผ่านมา 7-8 ปีความเหลื่อมล้ำยิ่งสูงมาก ถ้าไม่รีบแก้จะเป็นปัญหา จะปะทุในอนาคต จะเกิดความรุนแรงในอนาคต
ศรีไพร นนทรีย์ สหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง นักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยและสิทธิแรงงาน
ชนชั้นล่างทุกเพศถูกกดขี่
ศรีไพร นนทรีย์ กล่าวว่าวันที่ 1 พฤษภาคม เป็นวันกรรมกรสากล เพราะทางสากลจะจัดงานพร้อมกันเพื่อรำลึกประวัติศาสตร์ในอดีต แต่ยุคหนึ่งรัฐบาลไทยพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงบิดคำให้ผู้ใช้แรงงานรู้สึกว่าเป็นเรื่องของคนในชาติ จึงใช้คำว่าวันแรงงานแห่งชาติ ทั้งที่จริงๆ แล้วเป็นวันกรรมกรสากลที่สากลเขาจัดกัน
ประเด็นหลักที่เคลื่อนไหวมาตลอดคือเรื่องรัฐสวัสดิการ เพื่อให้คุณภาพชีวิตประชาชนดีขึ้น ตั้งแต่มีรัฐบาลฝั่งประชาธิปไตยอย่างยุค ทักษิณ ชินวัตร มีโครงการสามสิบบาทรักษาทุกโรค ก็ทำให้คนเข้าถึงการรักษา ส่วนปัจจุบันถ้ามีการแจกผ้าอนามัยฟรีก็จะดีมาก ช่วยลดค่าใช้จ่าย เพราะถ้าค่าแรงยังไม่ขึ้นแต่ภาระค่าใช้จ่ายลดลงไปได้ก็จะช่วยแบ่งเบาได้
ตอนนี้คนที่อยู่ชนชั้นล่างไม่ว่าจะเพศไหนก็โดนกดขี่ทุกเพศ ดังนั้นต้องกระจายทรัพยากรไม่ให้กระจุกอยู่แต่กลุ่มอำนาจ โดยไม่ดูแลประชาชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี อยากจะฝากพรรคเพื่อไทยซึ่งอาจจะได้ที่นั่งเยอะในอนาคตได้เป็นความหวังของคนยากคนจนอีก ประชาชนอยากเห็นว่ารัฐบาลมีสวัสดิการอะไรที่จะดูแลประชาชน
ส่วนความคาดหวัง ยังเรียกร้องเรื่องลาคลอด 180 วัน และให้ผู้ชายหรือ LGBTQ สามารถหยุดมาดูแลได้ จะเป็นสิ่งที่ดีสำหรับผู้ใช้แรงงาน
สกุณา สาระนันท์ ส.ส. สกลนคร พรรคเพื่อไทย
ต้องผลักดันงบประมาณจากส่วนกลางไปสู่ท้องถิ่น
สกุณา สาระนันท์ ส.ส. สกลนคร พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยตระหนักเรื่องสิทธิมาตลอด ไม่เพียงแต่คิดและพูดคำสวยๆ เรื่องสิทธิมนุษยชน แต่ได้ปฏิบัติด้วย เป็นพรรคแรกที่เสนอชื่อผู้หญิงเป็นนายกรัฐมตรี คือนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แล้วประสบความสำเร็จ ส่วนสิทธิอื่นๆ พรรคได้ยืนหยัดกับภาคประชาชนมาตลอด
วันนี้ประเทศของเรายังไม่ให้โอกาสคนชนบทได้เติบโตเต็มศักยภาพของเขา
สำหรับจังหวัดสกลนคร เดิมมีการผลิตการ์เมนต์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ จึงมีแรงงานที่รับงานไปทำอยู่บ้านจำนวนมาก แต่ระยะหลังธุรกิจการ์เมนต์ลดลง เพราะมีการผลิตจากจีน อย่างไรก็ตาม สกลนครมีการฟื้นการทำผ้าย้อมครามขึ้นมา ส่วนความกังวลของแรงงาน นอกจากการเลี้ยงลูกแล้ว ก็ยังมีเรื่องปัญหายาเสพติด เป็นชีวิตแรงงานหญิงในชนบทที่นอกจากกังวลเรื่องลูกแล้วยังเจอสามีติดยา ส่วนการศึกษารัฐก็ไม่ได้ลงทุนให้ผู้หญิงหรือพ่อแม่ในชนบทสบายใจเรื่องการศึกษา ทั้งเรื่องบุคลากรศูนย์เด็กเล็ก อาหาร สิ่งแวดล้อม
มองว่ารัฐบาลต้องสนับสนุนส่งเสริมให้พ่อแม่ผู้ปกครองสามารถผลิตทรัพยากรคุณภาพสู่สังคม ต้องผลักดันงบประมาณจากส่วนกลางไปสู่ท้องถิ่น ให้เขามีศักยภาพพัฒนาสร้างอนาคตของเขาเอง พรรคเพื่อไทยเชื่อในศักยภาพนี้ที่ประชาชนจะสามารถตัดสินใจ บริหารจัดการอนาคตของเขาเองได้ ส่วนสวัสดิการให้แม่ลาคลอดได้มากกว่า 98 วัน เชื่อว่าทุกฝ่ายเห็นด้วย