‘6 บาท’ ถูกกำหนดเป็นราคาที่ ‘มาม่า’ แบรนด์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยักษ์ใหญ่ของไทย วางขายมาตั้งแต่ปี 2551 โดยเป็นการขยายราคาขึ้นมา 1 บาท แต่ราคาที่อยู่มาสิบกว่าปีอาจถึงคราวเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง เมื่อวัตถุดิบหลักที่เป็นต้นทุนเพิ่มสูงขึ้นในแบบที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ทำให้ราคาจึงต้องปรับเปลี่ยนและอาจเพิ่มขึ้นมากกว่า 1 บาท ซึ่งทางบริษัทยืนยันว่าจะทำให้กระทบลูกค้าน้อยที่สุด
ต้นทุนเพิ่มแบบที่ไม่เคยเห็นมาก่อน
“ต้นทุนทุกอย่างเพิ่มขึ้นแบบไม่เคยคิดฝันในชีวิต ทั้งน้ำมันปาล์ม แป้งสาลี ซึ่งเป็นต้นทุน 45% ของมาม่า ได้ปรับขึ้นมาไม่น้อยกว่า 40%” เวทิต โชควัฒนา กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) หรือ SPC กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH “ผมคิดว่ามาม่าน่าจะต้องปรับขึ้นราคาหากภาครัฐอนุญาต เพื่อสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง”
บะหมี่กึงสำเร็จรูปเป็นหนึ่งในสินค้าควบคุม ทำให้การที่จะปรับราคาได้นั้นต้องผ่านความเห็นชอบจากกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์เสียก่อน
อ้างอิงรายงานจากประชาชาติธุรกิจระบุว่า ที่ผ่านมาราคาต้นทุนวัตถุดิบจะเพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะ ‘แป้งสาลี’ ปรับขึ้นจากถุงละ 200-300 บาท เป็น 430 บาท ส่วนน้ำมันปาล์มปรับจากราคากิโลกรัมละ 19 บาท เพิ่มขึ้นเป็น 50 บาท รวมไปถึงต้นทุนแรงงาน โดยปัจจุบันต้นทุนผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปอยู่ประมาณ 60-70% ของต้นทุนทั้งหมด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- มาม่า สินค้ามวลชน ยืนยันไม่ปรับขึ้นราคา เพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพให้ผู้บริโภค
- ขายราคาเดิมมากว่า 37 ปี ถึงเวลา M-150 ปรับ Magic Price Point ขึ้นจาก ‘10 บาท’ เป็น ‘12 บาท’
- คาดราคาเบียร์ขายปลีกปรับตัวเพิ่ม! ‘ช้าง’ พุ่งไปที่ 57-58 บาทต่อขวด ส่วน ‘ลีโอ’ อาจขึ้นเป็น 60-62 บาทต่อขวด
เวทิตระบุว่า สิ่งที่ต้องจับตา คือราคาของแป้งสาลีที่อาจปรับตัวขึ้นจากสงครามรัสเซียและยูเครนที่เกิดขึ้น ด้วยทั้งสองถือเป็นผู้ส่งออกข้าวสาลีรายใหญ่ของโลก โดยรัสเซียเป็นอันดับ 1 ส่วนยูเครนเป็นอันดับ 5 แม้ ‘เราจะไม่ได้ซื้อตรงจากทั้ง 2 ประเทศ แต่ก็เลี่ยงผลกระทบไม่ได้ เพราะเมื่อซัพพลายในตลาดหายไปราคาก็ต้องเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังมีต้นทุนแพ็กเกจจิ้งที่เพิ่มขึ้นจากปิโตรเลียม ซึ่งเป็นผลจากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นด้วย’
‘มาม่า’ เป็นหนึ่งในสินค้าหลักที่อยู่ภายใต้ ‘เครือสหพัฒน’ ยักษ์ใหญ่ด้านสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ของไทย ซึ่งมีรายได้รวมทั้งเครือมากกว่า 3 แสนล้านบาท มาม่าถูกผลิตโดย บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TFMAMA และมี SPC เป็นผู้จัดจำหน่าย
อาจเห็นราคามากกว่า 7 บาท
นับตั้งแต่วางขายมาถึงวันนี้ซึ่งมีอายุครบ 50 ปี มาม่าได้ขยับราคาเพิ่มจาก 2 บาท เป็น 6 บาท หรือเพิ่มขึ้นราว 3 เท่าตัว แต่สำหรับปี 2565 อาจเป็นอีกครั้งที่ราคาขายถูกขยับ โดย ‘ราคา 7 บาทอาจจะไม่เพียงพอ ส่วนจะเป็นเท่าไรนั้นตอนนี้ยังตอบไม่ได้ แต่เราจะทำให้กระทบกับผู้บริโภคให้น้อยที่สุด”
หากขึ้นราคา ‘เชื่อว่ากำลังซื้ออาจจะไม่หายไป เพราะยุคนี้การจะทำให้อิ่มท้องและอร่อยต้องใช้เงินกว่า 30 บาท เพราะฉะนั้นมาม่าจึงเป็นสิ่งที่คุ้มค่าคุ้มราคาสำหรับ 1 มื้อ’ เวทิตกล่าว
การขึ้นราคาไม่ใช่หนทางเดียวที่มาม่ากำลังประเมินเพื่อหาหนทางรับมือต้นทุนที่เพิ่มขึ้น โดยยังมีการศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการออกแพ็กเกจจิ้งใหม่ รวมไปถึงการปรับลดขนาดเพื่อให้สามารถวางขายในราคาเดิมได้ แต่ ‘สิ่งที่มาม่าทำต้องไม่กระทบกับผู้บริโภค หากลดขนาดแล้วผู้บริโภคโอเคเราก็อาจจะทำ แต่ถ้าลดแล้วไม่เหมาะสมเราก็จะไม่ทำ”
ข้อมูลจากแหล่งข่าวที่เป็นดีลเลอร์บอกกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ตอนนี้ราคาขายของมาม่า 1 กล่องที่มี 30 ซองได้ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 155-160 บาท
ถึงวันนี้ราคาอย่างเป็นทางการของมาม่าจะยังไม่ถึง แต่การสำรวจของ THE STANDARD WEALTH พบว่า ร้านค้าโชห่วยบางรายก็ได้ปรับขึ้นราคาไปขายที่ 7 บาทเรียบร้อยแล้ว บางแห่งได้ทำเป็นโปรโมชัน 3 ซอง 20 บาท ขณะที่บางแห่งก็ยังขายราคาเดิมโดยยอมได้กำไรที่น้อยลง
เน้นบุกต่างประเทศ
ตลาดบะหมี่และเส้นหมี่กึ่งสำเร็จรูปในปี 2564 (ที่มาข้อมูล Nielsen (Thailand): พฤศจิกายน 2564) ลดลง 3.4% โคยมีมูลค่าตลาดรวมอยู่ที่ประมาณ 16,637 ล้านบาท ซึ่งแบรนด์มาม่ารั้งผู้นำด้วยส่วนแบ่งตลาดรวม 48% จากคู่แข่งประมาณ 4 ราย
อ้างอิงรายงานของ Positioningmag ระบุถึงตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของไทยที่เริ่มอิ่มตัวแล้ว โดยคนไทยมีอัตราการบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 53.2 หน่วยต่อคนต่อปี เป็นอันดับ 5 ของโลก และเทียบกับค่าเฉลี่ยโลกที่ 15 หน่วยต่อคนต่อปี คนไทยนับว่าบริโภคมากกว่าหลายเท่า
มาม่าจึงมองโอกาสไปที่ตลาดประเทศอื่นๆ ทั้งประเทศที่ผู้บริโภคทานบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปสูงมากอยู่แล้ว เช่น เกาหลีใต้ ซึ่งมีอัตราการบริโภค 75-80 หน่วยต่อคนต่อปี หรือประเทศแถบตะวันตกและประเทศในทวีปแอฟริกาที่มีอัตราการบริโภคที่น้อย
ดังนั้นมาม่าจึงมีเป้าหมายการทำตลาดที่มากกว่า Beyond Export นั่นคือ Global Market ซึ่งจะเน้นการทำตลาดผลิตภัณฑ์ในกลุ่มพรีเมียมและ High Value เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้สอดรับกับเทรนด์ของผู้บริโภคในต่างประเทศ รวมทั้งการปรับดีไซน์และขนาดแพ็กเกจจิ้งให้มีความทันสมัยและเหมาะสมกับตลาดในแต่ละประเทศมากขึ้น
โดยตั้งเป้าทำรายได้ต่างประเทศเพิ่มเป็น 1.5 หมื่นล้านบาท ภายในปี 2569 ซึ่งคาดว่าจะมีสัดส่วน 50% ของรายได้รวม จากปัจจุบันที่คิดเป็นรายได้ราว 30%
อ้างอิง:
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP