ปัญหาประชากรศาสตร์จ่อคิวเป็นปัญหาระดับโลก เมื่อ ‘อัตราการเกิดต่ำ’ กลายความเสี่ยงครั้งยิ่งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจและปัญหาสังคม
ปี 2543-2563 อัตราการเกิดทั่วโลกลดลงถึง 21% หากเป็นเช่นนี้ต่อไปคาดการณ์ว่าภายในสิ้นศตวรรษ มีอย่างน้อย 23 ประเทศที่ประชากรจะลดลงกว่าครึ่ง รวมถึงประเทศไทย เพราะหากเทียบข้อมูลจากสำนักงานสถิติในประเทศต่างๆ การคาดการณ์ที่ว่านั้นไม่เกินจริงเลย เมื่อเกาหลีใต้เองก็เพิ่งเผยว่าปี 2564 อัตราการเกิดอยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ฝั่งประเทศจีนปี 2564 อัตราการเกิดลดลงมาอยู่ที่ 7.52 ต่อประชากร 1,000 คน ถือว่าต่ำสุดนับตั้งแต่ก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน
ประเทศไทยก็วิกฤตไม่แพ้กัน สำนักงานสถิติแห่งชาติระบุ ตัวเลขเด็กเกิดใหม่ปี 2564 เพียง 544,570 คน ต่ำสุดในรอบ 10 ปี ในขณะที่อัตราการเสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้นสวนทาง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์คาดการณ์ว่า ประชากรไทยจะลดลงเหลือ 69 ล้านคนในปี 2593 และเหลือ 47 ล้านคนในปี 2643
หากเป็นเช่นนี้ต่อไปอาจเกิดวิกฤตขาดแคลนแรงงานในอนาคต และส่งผลต่ออัตราการเติบโตของเศรษฐกิจระยะยาวได้ ในหลายประเทศมีการวางแผนรับมือมาสักระยะแล้ว อย่างที่ญี่ปุ่น ออกมาตรการจ่ายเงินให้กับคู่รักที่ต้องการมีลูกในเมืองหลวง 100,000 เยน (28,000 บาท) ต่อลูก 1 คน และในท้องถิ่นบางเมืองมอบเงิน 1 ล้านเยน (200,000 บาท) ให้ครอบครัวที่มีลูกคนที่ 4
ด้านสิงคโปร์ กระทรวงพัฒนาสังคมและครอบครัวกระตุ้นการสร้างครอบครัวด้วยการให้เงินช่วยเหลือเด็กแรกเกิดแบบจ่ายครั้งเดียว 3,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ (72,000 บาท) ให้กับเด็กที่เกิดช่วง 1 ตุลาคม 2563 – 30 กันยายน 2565 ในขณะที่เกาหลีใต้แจกเงินเด็กแรกเกิด 1 ขวบ 300,000 วอน (8,000 บาท) ทุกเดือน และผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ได้รับเงิน 1 ล้านวอน (30,000 บาท) และค่าใช้จ่ายเตรียมคลอดอีกครอบครัวละ 2 ล้านวอน (60,000 บาท) ทางด้านสหราชอาณาจักรเปิดรับคนต่างชาติเข้ามาอยู่ในประเทศเพื่อเพิ่มจำนวนประชากร
แล้วประเทศไทยมีนโยบายและแผนรับมือกับวิกฤตอัตราการเกิดต่ำอย่างไร นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เผยว่า จากการคาดการณ์ความรุนแรงของปัญหาในขณะนี้ ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีแนวโน้มประชากรลดลงมากกว่าร้อยละ 50 ภายในปี 2643
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย
“หากเทียบระดับความรุนแรงในขณะนี้อาจเห็นได้ไม่ชัดนัก แต่อีก 20 ปีข้างหน้า ถ้าอัตราการเกิดยังลดลงต่อเนื่องจะเริ่มเห็นผลกระทบที่ชัดเจน โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจและสังคม เพราะผู้จ่ายภาษีลดลง งบประมาณในการพัฒนาประเทศและเงินอุดหนุนให้กับกองทุนต่างๆ อาจไม่เพียงพอ ประกอบกับจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น จะทำให้ภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพเพิ่มขึ้น การให้สวัสดิการกับผู้สูงอายุหรือแม้แต่เด็กแรกเกิดอาจได้รับผลกระทบ”
นพ.สุวรรณชัย เล่าย้อนกลับไปในช่วงปี 2506-2526 ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศไทยมีจำนวนเด็กเกิดใหม่มากกว่า 1 ล้านคนต่อปี เนื่องจากโครงสร้างสังคมทำให้หลายครอบครัวมีบุตรเพื่อเป็นแรงงานในครอบครัว ปี 2513 รัฐบาลจึงได้ออกนโยบายด้านประชากร มุ่งเน้นเรื่องการวางแผนครอบครัวและการคุมกำเนิด ส่งเสริมให้ครอบครัวหนึ่งมีบุตร 2 คน และได้มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ทำให้หลังจากปี 2526 เป็นต้นมา อัตราการเกิดต่ำกว่า 1 ล้านคน จนกระทั่งปี 2553 อัตราเด็กเกิดใหม่อยู่ที่ 850,000 คนต่อปี ก็เริ่มเห็นผลกระทบกับภาคเศรษฐกิจและสังคมชัดขึ้น
“อีกหนึ่งตัวแปรสำคัญที่ส่งผลต่ออัตราการเกิดต่ำในปัจจุบันคือเรื่องของอัตราการเจริญพันธุ์ วิธีดูคือ ให้ดูจำนวนบุตรที่เกิดโดยเฉลี่ยตลอดช่วงอายุของผู้หญิง ค่าที่เหมาะสมคือ 2 หมายความว่า ชาย-หญิงแต่งงานกันควรจะมีลูกเพื่อทดแทนอยู่ที่ 2 คน ซึ่งเราพบว่าตัวเลขอัตราการเจริญพันธุ์ในประเทศไทยลดลงรวดเร็วควบคู่มากับอัตราการเกิดต่ำ เมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาหลายประเทศ ตัวเลขอัตราการเจริญพันธุ์ลดลงช้ากว่าประเทศไทย”
คาดการณ์ภายในปี 2643 จะมีมากถึง 95 ประเทศทั่วโลกที่จำนวนประชากรลดลง และส่วนใหญ่เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ทั้งในทวีปอเมริกาเหนือ ยุโรป และเอเชีย นพ.สุวรรณชัย กล่าวต่อว่า “ประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 6 ของประเทศที่มีอัตราการเจริญพันธุ์ต่ำที่สุด รองจากเกาหลีใต้ สิงคโปร์ ฮ่องกง มาเก๊า และญี่ปุ่น”
ปัจจัยที่ทำให้ ‘อัตราการเกิดต่ำ’
การระบาดของไวรัสโควิด-19 มีผลกระทบต่ออัตราการเกิดต่ำหรือไม่ ประเด็นดังกล่าว นพ.สุวรรณชัย ให้ความเห็นว่า “การคาดการณ์ทั้งหมดนั้นเป็นการทำแบบจำลองก่อนสถานการณ์โควิด แต่อย่างไรก็ตามการเกิดโรคระบาดโควิด-19 ในช่วง 2 ปีนี้ อาจเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่เร่งปัญหานี้ให้เกิดเร็วขึ้น เนื่องจากผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจทำให้หลายครอบครัวขาดรายได้หรือรายได้ลดลง ย่อมส่งผลต่อการตัดสินใจมีบุตร เนื่องจากเป็นภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นและไม่มั่นใจว่าจะสามารถดูแลเด็กที่เกิดมาได้อย่างมีคุณภาพ”
ปัจจุบันยังไม่มีตัวเลขภาพรวมทั่วโลกถึงความเชื่อมโยงระหว่างการเกิดโรคระบาดกับอัตราการเกิดต่ำ แต่หากดูเฉพาะตัวเลขสถิติของประเทศไทยในช่วงที่เกิดสถานการณ์โควิด-19 นั้น พบอัตราการเกิดลดลงคงที่ คือ ลดลงปีละเฉลี่ย 40,000 คนต่อปี อาจกล่าวได้ว่าการระบาดของโรคไม่ใช่ตัวแปรสำคัญนัก
ส่วนสาเหตุแท้จริงที่ทำให้ ‘อัตราการเกิดต่ำ’ ตามการวิเคราะห์ของ The Economist Intelligence Unit พบ 4 กลุ่มปัจจัย ได้แก่ นโยบายประชากร, การขยายตัวของเมืองและการพัฒนา, การมีส่วนร่วมของแรงงานเพศหญิง และการเปลี่ยนทางสังคมและวัฒนธรรม แต่สำหรับประเทศไทย นพ.สุวรรณชัย อธิบายว่า “ปัญหาดังกล่าวเกิดจากหลายสาเหตุ สำนักอนามัยเจริญพันธุ์ ได้มีการวิเคราะห์ปัจจัยหรือสถานการณ์ที่มีผลต่อภาวะการเจริญพันธุ์ต่ำในประเทศไทย ปัจจัยแรกคือ ผลต่อเนื่องจากนโยบายวางแผนครอบครัวที่ดำเนินการมาต่อเนื่องกว่า 40 ปี ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก เพียงแต่สังคมและเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงเร็ว ทำให้อัตราการเจริญพันธุ์ลดลงรวดเร็ว
“ปัจจัยต่อมาคือ จำนวนหญิงวัยเจริญพันธุ์ลดลง ตัวเลขปี 2555 หญิงวัยเจริญพันธุ์อายุ 15-49 ปี มีจำนวน 18,000,000 คน แต่ปี 2563 ลดลงเหลือประมาณ 16,500,000 คน ประเด็นต่อมาคือ หญิงไทยแต่งงานลดลง ด้วยทัศนคติที่เปลี่ยนไป มุมมองต่อความสมบูรณ์ในชีวิตไม่ได้ขึ้นอยู่กับการแต่งงานมีบุตรเท่านั้น ที่สำคัญผู้หญิงมีบทบาททางสังคมและเศรษฐกิจมากขึ้น มีการศึกษาและหน้าที่การงานที่ดี มองว่าหากคู่ครองไม่ดี การอยู่เป็นโสดเป็นทางเลือกที่ดีกว่า รวมถึงรูปแบบของชีวิตคู่ที่หลากหลายมากขึ้น สังคมเปิดกว้างเรื่องการครองคู่ระหว่างเพศเดียวกัน
“แนวคิดเกี่ยวกับการมีบุตรก็เป็นปัจจัยสำคัญในสังคมปัจจุบัน คู่แต่งงานต้องการมีบุตรลดลง หลายคู่มองว่าการมีลูกมีผลกระทบต่อรูปแบบการใช้ชีวิต หน้าที่การงาน รวมทั้งภาระเพิ่มขึ้น หลายคู่ต้องวางแผนระยะยาวก่อนว่าหากมีแล้วจะเลี้ยงอย่างไร ส่งเข้าเรียนที่ไหน และรอจนกว่าจะพร้อมจริงๆ ทำให้ระยะเวลาการมีลูกยืดออกไปจนกระทั่งผู้หญิงประสบปัญหาภาวะมีบุตรยากเนื่องจากอายุที่มากขึ้น หรือในคู่แต่งงานที่พร้อมแต่ประสบปัญหามีบุตรยากหรือไม่สามารถมีบุตรได้ ก็ส่งผลต่อภาพรวมของอัตราการเกิดต่ำทั้งสิ้น”
ผลกระทบจากอัตราการเกิดต่ำในระยะยาว
เมื่อดูผลกระทบที่เกิดขึ้นจากอัตราการเกิดที่ลดลง นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า โครงสร้างประชากรจะเปลี่ยนไป สัดส่วนของประชากรวัยเด็กและวัยแรงงานจะลดลง ในขณะที่สัดส่วนของประชากรวัยสูงอายุจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้อัตราส่วนพึ่งพิงวัยสูงอายุต่อวัยแรงงานเพิ่มขึ้น
“เมื่อประชากรวัยแรงงานลดลง ผลกระทบที่ตามมาคือ การขาดแคลนแรงงาน ผลิตผลของประเทศลดลง รายได้จากการจัดเก็บภาษีลดลง ผลกระทบต่อมาคือ โครงสร้างครอบครัวของสังคมไทยจะเปลี่ยนไป ครอบครัวเดี่ยวและครอบครัวไร้บุตรหลานมากขึ้น ทำให้ผู้สูงอายุในอนาคตต้องพึ่งพาตัวเอง สัดส่วนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นยังเพิ่มภาระทางงบประมาณในการดูแลทั้งทางสุขภาพและทางสวัสดิการสังคมต่างๆ เนื่องจากรัฐต้องแบกรับค่าเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่จะเพิ่มขึ้นทุกปี นอกจากนี้การที่ผู้สูงอายุขาดคนดูแล อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตในระยะยาวด้วย”
มาตรการและแผนรับมือของกรมอนามัย
จากสาเหตุและผลกระทบที่จะตามมา ‘กรมอนามัย’ เตรียมแผนรับมืออย่างไรนั้น นพ.สุวรรณชัย บอกว่า การแก้ปัญหาเด็กเกิดน้อยคงไม่มุ่งเน้นเฉพาะการเพิ่มจำนวนการเกิด แต่ต้องให้ความสำคัญกับคุณภาพการเกิดด้วย
“การเพิ่มจำนวนการเกิดนั้นต้องใช้เวลา แต่อย่างไรก็ต้องทำ อย่างน้อยต้องชะลอไม่ให้อัตราการเกิดลดลง และพยายามขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ เพื่อจูงใจให้มีครอบครัวและมีลูก ที่ต้องทำควบคู่กันคือ ให้ความสำคัญกับคุณภาพการเกิดให้มากที่สุด ปัจจุบันกรมอนามัยดำเนินการผ่านนโยบายด้านสุขภาพตั้งแต่ก่อนแต่งงานมีการให้คำปรึกษา จนกระทั่งมีคู่ ตั้งครรภ์ก็ต้องรีบฝากครรภ์ให้เร็วที่สุดและดูแลตามมาตรฐานที่กำหนด ไปจนถึงระหว่างคลอดก็ต้องทำให้เด็กสมบูรณ์มากที่สุด ซึ่งจะต้องดูแลตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์”
ตัวอย่างมาตรการหลักในการสนับสนุนครอบครัวที่ต้องการมีบุตร
- ผลักดันให้รัฐบาลมีมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับครอบครัวที่มีเด็ก อายุ 0-5 ปี
- ส่งเสริมการจัดตั้งสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยอายุต่ำกว่า 2 ปี เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระในการเลี้ยงดูเด็กอ่อนก่อนวัยเรียนในเวลากลางวัน ที่พ่อแม่จะต้องออกไปทางานประกอบอาชีพ
- ช่วยเหลือผู้ที่ประสบปัญหาภาวะมีบุตรยากให้เข้าถึงการรักษาในอายุที่น้อยลง เพื่อเพิ่มโอกาสในการมีลูกมากขึ้น
- ส่งเสริมการเข้าถึงบริการ การเตรียมความพร้อมก่อนตั้งครรภ์ การฝากครรภ์และการดูแลในช่วงคลอด เช่น การตรวจสุขภาพชาย-หญิง ก่อนการตั้งครรภ์ การให้วิตามินเสริมธาตุเหล็กและโฟลิก เพื่อลดภาวะซีดและป้องกันความพิการแต่กำเนิด การตรวจคัดกรองโรคธาลัสซีเมียและดาวน์ซินโดรมในหญิงตั้งครรภ์ เพื่อให้การเกิดทุกรายมีคุณภาพ และเด็กที่เกิดมาทุกรายมีสุขภาพแข็งแรงพร้อมที่จะเติบโตและมีพัฒนาการสมวัยต่อไป
ข้อมูลจากโครงการการเจริญพันธุ์และสุขภาวะยังพบว่า คู่แต่งงานจำนวนมากมองว่าการมีลูกส่งผลกระทบต่อความก้าวหน้าและความมั่นคงในหน้าที่การงาน กว่า 39% ผู้หญิงต้องออกจากงานเพื่อดูแลลูก ดังนั้นมาตรการสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนประเด็นนี้คือ
- การยืดหยุ่นเวลาทำงาน การใช้นโยบาย Work from Home กับครอบครัวที่มีบุตร เพื่อให้พ่อและแม่บริหารจัดการเวลาในการเลี้ยงดูบุตรโดยไม่กระทบกับความมั่นคงของรายได้และความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน
- ลดหย่อนภาษีสำหรับเลี้ยงดูบุตรเพิ่มขึ้น ปัจจุบันค่าลดหย่อนบุตรเป็นค่าลดหย่อนแบบเหมาสำหรับคนที่มีลูก สามารถลดหย่อนลูกได้คนละ 30,000 บาทต่อปี แต่ถ้ามีลูกตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป และเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายที่เกิดในปี 2561 หรือหลังจากนี้ จะสามารถลดหย่อนบุตรคนที่ 2 เป็นต้นไป คนละ 60,000 บาทต่อปี
- ให้คูปองส่วนลดของใช้ที่จำเป็นสำหรับเด็ก หรืออาจะใช้วิธีการเดียวกับนโยบายคนละครึ่ง
นอกจากมาตรการต่างๆ ที่จะช่วยลดภาระในการเลี้ยงดูบุตรแล้ว การสร้างสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมและเอื้อต่อผู้ที่ต้องการจะมีบุตรก็เป็นเรื่องสำคัญที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันดำเนินการ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ไม่ว่าจะเป็นทำให้ประชาชนมีความมั่นคงทางรายได้ ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน การเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพด้วยค่าใช้จ่ายที่เหมาะสม รวมไปถึงโอกาสในอนาคตของบุตรหลานที่จะเกิดมา ซึ่งปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ล้วนส่งผลต่อการตัดสินใจว่าจะมีบุตรหรือไม่ทั้งสิ้น
ในเรื่องของภาวะมีบุตรยาก ปัจจุบันองค์กรด้านสุขภาพระหว่างประเทศจัดให้ภาวะมีบุตรยากเป็นโรคชนิดหนึ่งที่จำเป็นต้องดูแล “ตอนนี้ประเทศไทยอยู่ระหว่างการดำเนินการ หากเราดูแลตั้งแต่อายุน้อยๆ โอกาสที่จะมีบุตรก็จะเพิ่มมากขึ้น ลดโอกาสเด็กเกิดมาแล้วมีปัญหาความผิดปกติให้ต่ำลงด้วย” นพ.สุวรรณชัย กล่าวเสริม
“จริงๆ แล้วประเทศไทยตระหนักถึงปัญหานี้มากว่า 20 ปี และได้ดำเนินการหลายภาคส่วน แต่ก็ยังไม่เพียงพอและไม่ทันต่อสถานการณ์ เรามี ‘นโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ’ ว่าด้วยการส่งเสริมการเกิดและการเจริญเติบโตของประชากรอย่างมีคุณภาพ รวมถึงโครงการเกี่ยวข้องกับการเกิดและการเจริญเติบโตถึง 144 โครงการที่ดำเนินงานโดยกระทรวงสาธารณสุข แต่ผลสำเร็จของการดำเนินงานเป็นไปได้เพียง 21.2% เท่านั้น เนื่องจากหน่วยงานต่างๆ ยังต้องพึ่งงบประมาณจากส่วนกลางเพื่อดำเนินกิจกรรมโครงการ รวมถึงทรัพยากรบุคคลที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในเรื่องดังกล่าวมีไม่เพียงพอ”
ดังนั้นหากมองที่เป้าหมายอาจดูเหมือนไม่มีสัญญาณที่ดีขึ้น แม้ในประเทศพัฒนาแล้วอย่างสิงคโปร์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ แต่นั่นเป็นเพียงด้านเดียวที่เห็น เพราะความจริงแล้วในหลายประเทศสามารถชะลออัตราการเจริญพันธุ์ที่ลดลงเร็วให้ช้าลงได้ หรือบางประเทศชะลอจนตัวเลขคงที่ด้วยมาตรการและนโยบายต่างๆ
“การดำเนินงานเรื่องนโยบายประชากรด้านสาธารณสุขของประเทศไทยถือเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ดังนั้นนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติที่กำลังดำเนินการอยู่นี้ หากทุกภาคส่วนร่วมด้วยช่วยกัน เชื่อว่าจะประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน” นพ.สุวรรณชัย กล่าวทิ้งท้าย