×

เข้าใกล้การปะทะไปอีกก้าว! เมื่อรัสเซียรับรองเอกราชแคว้นในภูมิภาคดอนบาสของยูเครน

23.02.2022
  • LOADING...
russia-recognizes-regional-independence

HIGHLIGHTS

8 Mins. Read
  • ผู้นำรัสเซียช็อกโลกด้วยการประกาศรับรองสถานะความเป็นเอกราชของโดเนตสก์และลูฮันสก์ สองแคว้นในภูมิภาคดอนบาสของยูเครน พร้อมลงนามสนธิสัญญาว่าด้วยความร่วมมือด้านต่างๆ อย่างสายฟ้าแลบ
  • จุดเปลี่ยนจากเหตุการณ์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ที่โรงเรียนอนุบาลในภูมิภาคดอนบาสถูกปืนใหญ่ยิงถล่มจนพรุน ทั้งฝ่ายรัฐบาลยูเครนและฝ่ายดอนบาสต่างกล่าวหากันอีกฝ่ายว่าอยู่เบื้องหลัง ผู้นำยูเครนประกาศเคลื่อนกองทัพบุกเข้าดอนบาส ซึ่งจะทำให้ข้อตกลงมินสก์ฉบับที่ 2 ที่ควบคุมสถานการณ์ไม่ให้บานปลายนั้นพังทลายลง
  • สหรัฐอเมริกาและพันธมิตรได้เริ่มนโยบายคว่ำบาตรรอบใหม่ต่อรัสเซียทันที หลังรัสเซียประกาศรับรองดอนบาสให้เป็นรัฐอิสระ
  • การประชุมสุดยอดผู้นำรัสเซีย-สหรัฐฯ โดยความเอื้อเฟื้อของผู้นำฝรั่งเศส ที่จะถูกจัดขึ้นในวันที่ 24 กุมภาพันธ์นี้ เพื่อการเจรจาหาข้อยุติในวิกฤตการณ์ครั้งนี้ล่มลงแล้ว เมื่อสหรัฐฯ ประกาศถอนตัว ไม่เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว เป็นเหตุให้ประชาคมโลกถอยห่างจากคำว่าสันติภาพเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งก้าว

เมื่อค่ำคืนวันที่ 21 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ช่วงราว 22.00-23.00 น. ตามเวลากรุงมอสโก หรือราว 02.00-03.00 น. ของวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ตามเวลาประเทศไทย โทรทัศน์ทางการรัสเซียได้ถ่ายทอดสดแถลงการณ์ของผู้นำรัสเซีย ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ในหัวข้อการรับรองเอกราชของสาธารณรัฐประชาชนโดเนตสก์และสาธารณรัฐประชาชนลูฮันสก์ หลังจากที่ได้รับฟังข้อคิดเห็นจากผู้มีอำนาจในหน่วยงานต่างๆ เช่น นายกรัฐมนตรี ประธานสภานิติบัญญัติ ประธานสภาดูมา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ฯลฯ ที่ต่างพร้อมเพรียงกันกล่าวสนับสนุนให้ปูตินเร่งพิจารณาร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว 

 

ทั้งยังได้ถ่ายทอดสดพิธีการลงนามกฎหมายว่าด้วยการรับรองโดเนตสก์และลูฮันสก์เป็นรัฐเอกราช ซึ่งเป็นการประกาศรับรองก่อนวันเฉลิมฉลองวันผู้พิทักษ์ปิตุภูมิ ซึ่งเป็น ‘วันก่อตั้งกองทัพแดง’ เพียงวันเดียว (23 กุมภาพันธ์) และเป็นวันฉลองสำหรับผู้ชาย ผู้ซึ่งถือเป็นผู้พิทักษ์ปิตุภูมิ เนื่องจากผู้ชายทุกคนต้องเป็นทหาร โดยมี เดนิส ปูชิลิน ผู้นำโดเนตสก์ และ ลีโอนิด ปาเซชนิก ผู้นำลูฮันสก์เข้าร่วมด้วย ซึ่งทั้งสองเขตการปกครองตั้งอยู่ในภูมิภาคที่เรียกว่า ‘ดอนบาส’ (Donbass) 

 

อะไรคือ ‘ดอนบาส’?

‘ดอนบาส’ มาจากคำว่า ‘Донецкий Угольный Бассейн’ (ดาเนียทสกี้ อูโกลนึ่ย บาสเซียน) หรือ ‘Donetsk Coal Basin’ ซึ่งถูกย่อให้สั้นลงเหลือแค่ ‘ดอนบาส’ (Donbass) ที่หมายถึง ที่แอ่งถ่านหินในเขตลุ่มน้ำโดเนตสก์ ที่ครอบคลุมทั้งดอนบาสในส่วนที่อยู่ในเขตอำนาจอธิปไตยยูเครน และดอนบาสตะวันออกที่อยู่ในเขตจังหวัดรอสตอฟ ประเทศรัสเซีย ซึ่งเป็นแหล่งผลิตถ่านหินและถลุงแร่โลหะต่างๆ ที่สำคัญนับตั้งแต่สมัยจักรวรรดิรัสเซีย สหภาพโซเวียตและยูเครนในยุคร่วมสมัย โดยเป็นเขตการปกครองระดับจังหวัดของยูเครน มีประชากรที่พูดภาษารัสเซียค่อนข้างมาก

 

หลังจากที่มีการปฏิวัติไมดานในยูเครนอย่างฉับพลันในปี 2014 และรัฐบาลใหม่ได้มีนโยบายที่คุกคามต่อกลุ่มคนพูดภาษารัสเซีย ทำให้เกิดการต่อต้านรัฐบาลที่กรุงเคียฟและประกาศแยกตัวเป็น ‘สาธารณรัฐประชาชนโดเนตสก์’ และ ‘สาธารณรัฐประชาชนลูฮันสก์’ ตามวิถีทางของ ‘สาธารณรัฐไครเมีย’ ที่เพิ่งประกาศเอกราช จัดทำประชามติ และขอเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย แต่ ณ ขณะนั้นรัสเซียยังไม่ได้ให้การรับรองสถานะเป็นทางการต่อดอนบาสที่ ณ ขณะนั้นประกาศเอกราชอยู่เพียงแต่ฝ่ายเดียวแต่อย่างใด

 

กฎหมายว่าด้วยการรับรองเอกราชของโดเนตสก์และลูฮันสก์ในฐานะเครื่องมือต่อรองสำคัญของรัสเซีย

เอาเข้าจริงร่างกฎหมายว่าด้วยการรับรองสองแคว้นในดอนบาสให้เป็นรัฐเอกราชมีการพูดถึงและนำเสนอมาสักพักแล้ว แต่ยังไม่เคยได้รับการผลักดันให้อยู่ในจุดสนใจของสื่อแต่อย่างใด โดยสมาชิกสภาดูมาของรัสเซีย ก่อนที่จะมีการลงนามรับรองอย่างเป็นทางการในครั้งนี้ได้พูดถึงร่างกฎหมายฉบับนี้ โดย เวียเชสลาฟ โวโลดิน (Vyacheslav Volodin) ประธานสภาดูมา เพิ่งได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อเมื่อวันที่ 29 มกราคมที่ผ่านมาไว้ว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวจะถูกพักการพิจารณาไว้ก่อน เพื่อไม่ให้กระทบต่อการเจรจาของรัสเซียกับสหรัฐฯ และพันธมิตรชาติตะวันตกที่รัสเซียเรียกร้องข้อเสนอ ‘หลักประกันความมั่นคง’ (Security Guarantees) 

 

อย่างที่เราๆ ท่านๆ ได้ประจักษ์ดีว่าข้อเสนอและข้อเรียกร้องของรัสเซียถูกปฏิเสธในทุกเวทีสำคัญที่ผ่านมา จากวันที่ประธานสภาดูมากล่าวถึงการพักพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้มาจนถึงช่วงสัปดาห์ที่ตึงเครียดนี้ อยู่ในช่วงระยะเวลาไม่ถึง 1 เดือน แต่ร่างกฎหมายนี้กลับได้รับการพิจารณาจากทุกฝ่ายและลงนามโดยผู้นำรัสเซียในเวลาเพียงไม่กี่วัน ก่อนที่จะมีการจัดการประชุมสุดยอดระหว่างผู้นำรัสเซีย-สหรัฐฯ ขึ้น โดยการเอื้อเฟื้อของประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครงของฝรั่งเศส ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์นี้ เพื่อคลี่คลายวิกฤตการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในยูเครน จากฉากทัศน์ดังกล่าวอาจวิเคราะห์ได้ว่าเป็นการทิ้งไพ่ใบสำคัญลงในกอง ส่งสัญญาณเชิงบีบคั้นสหรัฐฯ ว่าทางเลือกตอนนี้น้อยลงไปทุกทีๆ

 

อีกข้อสังเกตหนึ่งคือ เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาได้เกิดเหตุยิงปืนใหญ่ถล่มโรงเรียนอนุบาลในดอนบาส โดยทั้งฝ่ายรัฐบาลยูเครนและฝ่ายแบ่งแยกดินแดนในดอนบาสต่างก็กล่าวหาอีกฝ่ายว่าเป็นผู้กระทำ ในขณะเดียวกันตามสื่อตะวันตกก็ได้เผยแพร่ข่าวจากรัฐบาลยูเครนอย่างรวดเร็วที่กล่าวหาว่าฝ่ายกลุ่มแบ่งแยกดินแดนดอนบาสเป็นผู้กระทำ ในขณะที่ฝ่ายดอนบาสก็นำหลักฐานวิถีกระสุนมาพิสูจน์ว่าแนววิถีกระสุนนั้นมาจากทิศทางที่กองพลน้อยที่ 79 ของกองทัพยูเครนตั้งอยู่ 

 

ไม่ว่าข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไร แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเหตุนี้เป็นปัจจัยสำคัญในการให้แต่ละฝ่ายได้นำไปใช้เพื่อสร้างความชอบธรรมในการแสวงหาผลประโยชน์ทางการเมือง ทางผู้นำยูเครนเองก็อ้างเหตุนี้ในการเรียกรวมพลเพื่อเข้าโจมตีและยึดดอนบาสกลับคืนมาให้อยู่ภายใต้อำนาจรัฐบาลเคียฟอีกครั้ง ส่วนทางฝั่งรัสเซียก็ใช้เหตุนี้ในการเร่งพิจารณาร่างกฎหมายรับรองเอกราชของดอนบาส พร้อมกับข้ออ้างในการพิทักษ์ชีวิตและทรัพย์สินของชนเชื้อสายรัสเซียที่มีถิ่นพำนักในพื้นที่ดังกล่าว

 

ฉากทัศน์ที่อาจจะได้เห็นต่อจากนี้: กรณีศึกษาจากสงครามรัสเซีย-จอร์เจีย?

จากภาพผู้ลี้ภัยสงครามหลายหมื่นคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง เด็ก และผู้สูงวัย ทยอยเดินทางเข้ามาพำนักในเขตจังหวัดรอสตอฟ คุสค์ โวโรเนจ หรือแม้กระทั่งมอสโกในเขตรัสเซีย ผ่านขบวนรถไฟและรถบัสพิเศษ น่าจะเป็นสัญญาณสำคัญที่บ่งชี้ว่า การปะทะทางทหารก้าวเข้ามาใกล้เพิ่มอีกก้าวหนึ่งแล้ว

 

หากเรามองย้อนไปดูประวัติศาสตร์ช่วง 14 ปีที่ผ่านมา เราจะสังเกตได้ว่ากระบวนการการสร้าง ‘รัฐกันชน’ (Buffer State) ของรัสเซียมีแบบแผนที่คล้ายๆ กัน นั่นก็คือ ดินแดนที่จะกลายมาเป็นรัฐกันชนนั้นมักจะเป็นเขตการปกครองพิเศษของประเทศเพื่อนบ้าน โดยในดินแดนนั้นจะมีชนกลุ่มชาวรัสเซียที่พูดภาษารัสเซียเป็นคนส่วนใหญ่ในดินแดนนั้น (แต่จะถือเป็นชนกลุ่มน้อยของประเทศเพื่อนบ้านนั้น) ตราบใดที่การเมืองการปกครองและการบริหารประเทศของประเทศเพื่อนบ้านนั้นดำเนินไปอย่างปกติ ทุกอย่างก็จะปกติเรียบร้อย แต่ถ้าหากการดำเนินนโยบายไม่ว่าจะในประเทศหรือระหว่างประเทศของเพื่อนบ้านนั้นกระทบต่อผลประโยชน์ทางลบต่อรัสเซีย แคว้นเหล่านั้นก็พร้อมที่จะกลายเป็นเครื่องมือต่อรองให้กับฝ่ายรัสเซีย

 

กรณีความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครนก็มีจุดเริ่มต้นคล้ายๆ กับของกรณีรัสเซีย-จอร์เจีย เมื่อปี 2008 คือ มีรัฐบาลใหม่ก็มีนโยบายฝักใฝ่ตะวันตกและชาตินิยมขวาจัด จนส่งผลกระทบต่อชนกลุ่มน้อยรัสเซียในประเทศ กรณีของจอร์เจียในสมัยของประธานาธิบดีมิคาอิล ซากาชวิลิ (Mikhail Saakashvili) ที่นอกจากจะโปรอเมริกาอย่างถึงที่สุดถึงขนาดเปลี่ยนชื่อถนนสายหลักเป็นชื่อ ‘ถนนจอร์จ ดับเบิลยู. บุช’ ยังมีแนวนโยบายที่จะพาจอร์เจียสมัครเข้าเป็นสมาชิก NATO รวมไปถึงคุกคามคนรัสเซียในแคว้นอับคาเซีย (Abkhazia) และเซาท์ออสเซเตีย (South-Ossetia) ที่เป็นเขตปกครองตนเองของจอร์เจีย ซึ่งมีความขัดแย้งกับรัฐบาลกลางมาตั้งแต่จอร์เจียแยกตัวออกจากสหภาพโซเวียต 

 

ในที่สุดจอร์เจียก็ส่งทหารเข้าโจมตีเมืองทซคินวาลี (Tskhinvali) ในแคว้นเซาท์ออสเซเตีย รัสเซียจึงเข้ามาแทรกแซงทันที โดยส่งทหารเข้ามาสนับสนุนอับคาเซียและเซาท์ออสเซเตียโจมตีจอร์เจีย จนยึดเมืองใหญ่ของจอร์เจียไว้ได้หลายเมืองเป็นเวลาราว 2 สัปดาห์ ก่อนที่จะถอนทัพออกมา เมื่อบรรลุเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์แล้ว และให้การรับรองเอกราชของทั้งสองแคว้นนี้ หลังจากที่ซากาชวิลิหมดอำนาจไปจากแรงบีบคั้นทางการเมือง รัสเซียและจอร์เจียก็ฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตขึ้นอีกครั้ง เรียกได้ว่าการทำสงครามของรัสเซียในครั้งนี้เป็นไปอย่างจำกัดขอบเขต เพื่อบรรลุเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์บางอย่างก่อน จึงตัดสินใจหย่าศึกสงคราม

 

กรณีของยูเครนก็มีจุดเริ่มต้นคล้ายๆ กัน คือ รัฐบาลใหม่ของยูเครนดำเนินนโยบายที่คุกคามชนกลุ่มน้อยชาวรัสเซีย จนกระทั่งเกิดเป็นกระแสต่อต้านรัฐบาลที่กรุงเคียฟ ซึ่งจะกลายเป็นผลต่อๆ มาที่ไครเมียประกาศแยกตัวเป็นอิสระ ก่อนที่จะขอเข้าร่วมกับรัสเซีย รวมไปถึงสองแคว้นในดอนบาสที่ประกาศแยกตัวแต่เพียงฝ่ายเดียวจากยูเครนมาตั้งแต่ปี 2014 ก่อนที่ความขัดแย้งจะพัฒนามาโดยลำดับในระยะเวลา 8 ปี จนกระทั่งเมื่อรัสเซียถูกปฏิเสธข้อเสนอเรื่องการสร้างหลักประกันความมั่นคง (Security Guarantees) ในทุกเวทีการประชุม จึงมีการนำประเด็นเรื่องการประกาศเอกราชของดอนบาสที่ชะลอไว้กว่า 8 ปีขึ้นมาเป็นเครื่องมือต่อรองชิ้นสำคัญในความขัดแย้งครั้งนี้ ดังนั้นรูปแบบในการทำสงครามก็คงเป็นไปอย่างจำกัดขอบเขตคล้ายกับกรณีของสงครามรัสเซีย-จอร์เจีย

 

ความสัมพันธ์รัสเซีย-ดอนบาสเป็นความสัมพันธ์ระหว่างรัฐต่อรัฐ

เมื่อรัสเซียให้การรับรองทั้งโดเนตสก์และลูฮันสก์เป็นรัฐเอกราช นั่นหมายความว่าในสายตาของรัสเซีย สองแคว้นนี้คือรัฐที่มีอำนาจอธิปไตย มีศักดิ์และสิทธิเท่าเทียมกับรัสเซียและประเทศเอกราชอื่นๆ ในทันที สิ่งที่ตามมาก็คือ ข้อตกลงความร่วมมือระหว่างรัฐในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดเขตแดนตามรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความร่วมมือด้านการทหารที่รัสเซียสามารถส่งกองทหารในนาม ‘กองกำลังรักษาสันติภาพ’ เข้าไปยังดอนบาส เพื่อยุติการระดมยิงพลเรือนของดอนบาส ล่าสุดสภานิติบัญญัติของรัสเซียให้ความเห็นชอบอย่างเป็นเอกฉันท์ต่อประธานาธิบดีปูตินมีอำนาจสั่งการ ‘ปฏิบัติการทางทหารนอกประเทศ’ ได้อย่างเป็นทางการ

 

กรณีล่าสุดของความร่วมมือทางทหารที่รัสเซียได้ใช้บทบาทตามกรอบข้อตกลงสนธิสัญญาทางทหารก็คือ การส่ง ‘กองกำลังรักษาสันติภาพ’ ตามคำร้องของคาซัคสถาน เข้าไปปราบปรามความไม่สงบอันเกิดจากการจลาจลในคาซัคสถานเมื่อช่วงต้นปี 2022 นี้เอง ซึ่งทั้งรัสเซีย คาซัคสถาน และประเทศอดีตสหภาพโซเวียตบางประเทศ เป็นภาคีของสนธิสัญญาความร่วมมือทางทหารฉบับนี้อยู่

 

มองจากมุมของยูเครน ถ้ามองในแง่ของความเป็นจริง ยูเครนยิ่งเสียสิทธิในการใช้อำนาจอธิปไตยปกครองแคว้นโดเนตสก์มากขึ้นอีกขั้นหนึ่ง หลังจากที่เคยสูญเสียอำนาจการปกครองเหนือแคว้นไครเมียมาก่อนหน้านี้แล้ว (ถึงแม้ว่านานาชาติจะยังรับรองในทางกฎหมายระหว่างประเทศว่าไครเมียถือเป็นดินแดนอธิปไตยของยูเครนอยู่ก็ตาม) 

 

มองจากมุมรัสเซีย สองแคว้นในดอนบาสถือเป็นเครื่องมือต่อรองชิ้นสำคัญในการบีบให้ตะวันตกเข้ามาเจรจายอมรับข้อเสนอของรัสเซียว่าด้วยการสร้างหลักประกันความมั่นคง (Security Guarantees) ที่จะไม่ให้ NATO ขยายอิทธิพลเข้ามาประชิดชายแดนรัสเซีย ในอีกแง่หนึ่งยูเครนต้องไม่เข้าร่วม NATO หรือถ้าหากฝ่ายตะวันตกยังยืนยันที่จะไม่เจรจาเรื่องนี้ รัสเซียก็ถือว่าไม่ได้เสียอะไรมาก เพราะถือว่ามีสองแคว้นดอนบาสเป็นรัฐกันชนที่รัสเซียมั่นใจได้ว่าจะเป็น Security Guarantees ให้กับรัสเซียแทน 

 

ข้อตกลงมินสก์ (Minsk Protocol) คือทางออกสู่สันติภาพทุกฝ่าย

ข้อตกลงมินสก์ทั้งฉบับแรกและฉบับสองต่างก็เคยมีบทบาทในฐานะกรอบความร่วมมือที่จะไม่ขยายความขัดแย้งออกเป็นวงกว้าง นับตั้งแต่การปะทะทางทหารเริ่มขึ้นครั้งแรกในช่วงปี 2014 ระหว่างรัฐบาลยูเครนและกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่รัสเซียให้การสนับสนุนเริ่มขยายวงกว้างออกเป็นสงครามขนาดย่อมๆ จึงได้มีความพยายามจากหลายฝ่าย ทั้งบทบาทของยุโรปจากฝรั่งเศสและเยอรมนี รวมไปถึงพี่น้องร่วมเผ่าพันธุ์อย่างเบลารุสที่ได้ยื่นมือเข้ามาช่วยไกล่เกลี่ย จนได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นข้อตกลงมินสก์ ฉบับที่ 1 ที่ให้ทุกฝ่ายหยุดยิง ให้มีการเขตปลอดทหารและอาวุธหนัก ให้มีการแลกเปลี่ยนนักโทษสงคราม รวมไปถึงการนิรโทษกรรมต่อทุกฝ่าย

 

ข้อตกลงมินสก์ฉบับแรกมีอายุไม่ถึง 1 ปีก็ล่มลง เนื่องจากเกิดการปะทะกันด้วยอาวุธระหว่างคู่ขัดแย้งในช่วงเวลาที่กำลังจัดระเบียบใหม่กันอยู่ จึงเป็นที่มาของข้อตกลงมินสก์ฉบับที่ 2 ที่เริ่มมีการบรรจุเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญของยูเครนในการกระจายอำนายสู่ดอนบาสไว้ด้วย

 

ข้อตกลงมินสก์ฉบับที่ 2 มีส่วนช่วยอย่างมากในการจำกัดวงความขัดแย้ง ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ทำให้เกิดการหยุดยิงร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ก็ไม่ทำให้เกิดการปะทะใหญ่ด้วยอาวุธหนักเรื่อยมา จนกระทั่งมีเหตุยิงปืนใหญ่ถล่มโรงเรียนอนุบาลในดอนบาสเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นการฉีกข้อตกลงมินสก์ไปโดยปริยาย ยูเครนกล่าวหาฝ่ายดอนบาสว่าเป็นผู้เริ่มก่อน ส่วนฝ่ายดอนบาสก็งัดหลักฐานมาแสดงว่าวิถีกระสุนมาจากที่ตั้งของกองทหารยูเครน ขณะที่ฝ่ายรัสเซียก็มองว่าเหตุดังกล่าวเป็นเหตุที่มุ่งกระทำต่อพลเรือนบริสุทธิ์ในดอนบาส (ซึ่งมาจากฝ่ายยูเครน) ซึ่งไม่อาจยอมรับได้ และประกาศไม่ยอมรับข้อตกลงมินสก์ฉบับที่ 2 อีกต่อไป และเมื่อรัสเซียประกาศเช่นนี้แล้ว การกลับเข้าสู่เส้นทางสันติภาพผ่านกรอบข้อตกลงมินสก์จึงยิ่งเลือนรางลงทุกที 

 

ปฏิกิริยาจากสหรัฐฯ และพันธมิตรตะวันตก: นโยบายคว่ำบาตรใหม่

ทันทีที่ผู้นำรัสเซียประกาศรับรองเอกราชให้แก่สองแคว้นในดอนบาส สหรัฐฯ และพันธมิตรโลกตะวันตกอย่างสหราชอาณาจักร แคนาดา ญี่ปุ่น ฯลฯ ได้พากันประกาศนโยบายคว่ำบาตรใหม่ต่อรัสเซียทันที ผลที่เกิดขึ้นคือ บุคคลสำคัญในรัฐบาลปูติน ไม่ว่าจะเป็น อเล็กซานเดอร์ บอร์ตนิคอฟ (Alexander Bortnikov) ผู้อำนวยการคณะความมั่นคงกลาง (FSB – อดีตคือ KGB), เซร์เกย์ คิริเยนโก (Sergey Kiriyenko) ผู้อำนวยการสำนักประธานาธิบดี, อดีตนายกรัฐมนตรีมิฆาอิล ฟราดคอฟ (Mikhail Fradkov) รวมไปถึง เดนิส บอร์ตนิคอฟ (Denis Bortnikov) บุตรชายของ ผอ. FSB, วลาดิเมียร์ คิริเยนโก (Vladimir Kiriyenko) บุตรชายของรอง ผอ. สำนักประธานาธิบดี และ ปีเตอร์ ฟราดคอฟ (Petr Fradkov) ผู้อำนวยการธนาคารโปรมสเวียส (PromSvyazbank) บุตรชายอดีตนายกรัฐมนตรี ต่างถูกขึ้นบัญชีดำของสหรัฐฯ

 

ผลลัพธ์เชิงประจักษ์อีกอย่างคือ ค่าเงินรูเบิลของรัสเซียอ่อนค่ามากที่สุดในรอบหลายปี จากเดิมในรอบปีที่ผ่านมา 1 ดอลลาร์สหรัฐ เคยแลกได้ 65-75 รูเบิล พุ่งเป็น 80 รูเบิล ขณะที่ 1 ยูโรเคยแลกได้ 75-85 รูเบิล พุ่งเป็น 91 รูเบิลเพียงชั่วข้ามคืน

 

สำหรับเยอรมนีที่กำลังมีผลประโยชน์เรื่องโครงการ ‘Nord Stream 2’ ที่เป็นโครงการเส้นทางท่อก๊าซเส้นใหม่ที่ส่งก๊าซเข้าตรงสู่เยอรมนีโดยไม่ต้องผ่านยูเครน ทางด้าน โอลาฟ โชลซ์ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของเยอรมนี ก็ได้ประกาศชะลอการรับรองโครงการดังกล่าวออกไปก่อน เพื่อตอบโต้ที่รัสเซียรับรองเอกราชแคว้นโดเนตสก์และลูฮันสก์ 

 

ส่วนทางฝ่ายรัสเซียเองที่มีเครื่องมือทางเศรษฐกิจ คือ การคุมการส่งก๊าซไปยังยุโรป ก็ออกมาตอบโต้ทางการเยอรมนีเช่นกัน นำโดย ดมิทรี เมดเวเดฟ รองประธานสภาความมั่นคงแห่งชาติรัสเซีย (อดีตประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีรัสเซีย) ได้ออกมาประกาศว่า หากต้องมาเริ่มเจรจากันใหม่ ยุโรปอาจจะต้องจ่ายค่าก๊าซที่แพงมากยิ่งขึ้น จากเดิมที่เคยคาดการณ์ไว้ว่าจะอยู่ที่ราว 440 ยูโรต่อคิวบิกเมตร อาจจะกลายเป็น 2,000 ยูโรต่อคิวบิกเมตร

 

การประชุมสุดยอดระหว่างผู้นำรัสเซีย-สหรัฐฯ ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ล่มกลางคัน เมื่อสหรัฐฯ ประกาศยกเลิกการเข้าร่วม: โลกถอยห่างออกจากคำว่า ‘สันติภาพ’ เพิ่มอีกหนึ่งก้าวแล้ว

อาจกล่าวได้ว่าบทสรุปของฉากทัศน์ล่าสุดนี้น่าจะอยู่ที่ผลการประชุมสุดยอดของผู้นำรัสเซียและสหรัฐฯ ที่กำลังจะจัดขึ้น โดยความเอื้อเฟื้อของผู้นำฝรั่งเศส หากมองจากสถานการณ์ที่ผ่านมาในรอบไม่ถึงสัปดาห์ ความเคลื่อนไหวจากฝั่งรัสเซียนั้นสามารถตีความได้ว่าเป็นการโหมโรงก่อนวันประชุมสุดยอดจริง เพื่อแสดงให้เห็นว่ารัสเซีย ‘เอาจริง’ แน่ในเรื่องนี้ แต่ว่าฝ่ายสหรัฐฯ เป็นฝ่ายบอกเลิกเสียก่อน 

 

เวทีการประชุมสุดยอดที่จะจัดขึ้นในวันที่ 24 กุมภาพันธ์นี้ ได้รับการคาดหมายว่าจะเป็นเวทีสุดท้ายของสุดท้ายของการเจรจา ที่มีผู้นำฝรั่งเศสมาเป็นกาวใจให้ทั้งสองฝ่ายได้มาพูดคุยเพื่อหาทางออกให้กับวิกฤตรัสเซีย-ยูเครนโดยสันติวิธี แต่ทางฝ่ายสหรัฐฯ บอกเลิก เพื่อประท้วงฝ่ายรัสเซียจากประเด็นการรับรองเอกราชดอนบาส พร้อมกับประกาศคว่ำบาตรรัสเซียเพิ่มเติม

 

ณ ตอนนี้ก็ยังไม่เห็นว่าจะมีช่องทางหรือกรอบเจรจาอื่นใดอีก ทั้งรัสเซียและยูเครนต่างก็พร้อมที่จะใช้เครื่องมือทางทหารในการจัดการความขัดแย้งในครั้งนี้แล้ว ถือว่าเป็นช่วงเวลาตึงเครียดที่สุดในรอบ 8 ปี ที่พร้อมปะทุออกเป็นสงครามได้ทุกเมื่อ (ที่ผ่านมาในรอบ 2 เดือนเป็นการประโคมข่าวโดยสื่อตะวันตกเสียมากกว่า)

 

อันที่จริงรัสเซียคงจะหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในคณะรัฐบาลยูเครนมากกว่า โดยหวังว่าวันหนึ่งฝ่ายค้านที่โปรรัสเซียอาจก้าวกลับขึ้นมาเป็นรัฐบาล ซึ่งเป็นทางเลือกที่ใช้ต้นทุนทางการเงินน้อยที่สุด แต่ที่สุดแล้วทางเลือกนี้ก็เป็นทางเลือกที่มีต้นทุนทางเวลาที่สูงมาก และคงคิดว่าภายในช่วงระยะเวลาอันจำกัดนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงเดือนกุมภาพันธ์นี้ที่รัสเซียเป็นประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) รัสเซียมีศักยภาพมากเป็นพิเศษในการปกป้องจุดยืนและนโยบายของตนในเวทีระดับโลกด้วย จึงต้องเร่งขยับตัว

 

สถานการณ์ช่วงนี้เป็นช่วงที่ล่อแหลมยิ่ง และควรติดตามร่วมกันอย่างใกล้ชิด และขอให้เกิดสันติภาพขึ้นในเร็ววัน

 

ภาพ: Mikhail Metzel / TASS via Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X