ปัจจัยที่นักลงทุนทั่วโลกต่างเฝ้าติดตามในเวลานี้คงจะหนีไม่พ้นความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่เริ่มรุนแรงมากขึ้น และยังไม่มีทีท่าว่าจะหาข้อยุติได้
สถานการณ์ที่พลิกไปมาส่งผลให้ราคาสินทรัพย์ลงทุนทั่วโลกตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาผันผวนตามไปด้วย และล่าสุดในสองวันที่ผ่านมา ราคาของสินทรัพย์เสี่ยงส่วนมากปรับตัวลงไปในทิศทางเดียวกัน
อย่างดัชนี S&P 500 ของสหรัฐฯ ลดลง 3.3% ดัชนี Nasdaq ลดลง 4.6% Euro Stoxx 50 ลดลง 4.7% หรือดัชนีหุ้นทางฝั่งเอเชีย อาทิ Hang Seng และ Nikkei 225 ที่ลดลง 4.1% และ 3.2% ตามลำดับ
ผลต่อเศรษฐกิจไทยอาจเกิดได้ใน 3 มิติ
อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า ผลกระทบต่อเศรษฐกิจจะแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับว่าเหตุการณ์จะพัฒนาไปทางไหน
อย่างไรก็ดี เชื่อว่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยจะเกิดใน 3 มิติ คือ
- ราคาน้ำมันจะเพิ่มสูงขึ้น หนุนให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นตาม แต่ในส่วนนี้ยังพอมีทางออก เช่น การกลับมาเพิ่มกำลังการผลิตของ OPEC เพื่อชดเชยส่วนที่หายไปจากรัสเซีย
- การส่งออกอาจจะชะลอ เพราะหากเศรษฐกิจยุโรปได้รับผลกระทบและชะลอตัว ประเทศไทยซึ่งส่งออกไปยังยุโรปราว 10% ก็อาจได้รับผลกระทบทางอ้อม
- การท่องเที่ยว ในช่วงก่อนโควิดนักท่องเที่ยวรัสเซียคิดเป็นประมาณ 4% ถือว่าไม่ได้มากนัก แต่ก็ต้องคาดหวังให้ผลกระทบไม่ลุกลามต่อไปยังประเทศอื่นๆ ในยุโรป
สิ่งที่น่าติดตามหลังจากนี้คือเรื่องของ Fund Flow ซึ่งมีโอกาสจะไหลเข้า Emerging Asia อย่าง เวียดนาม ไทย และอินเดีย รวมไปถึงประเทศในลาตินอเมริกา เพราะประเทศเหล่านี้ได้รับผลกระทบจำกัด
“ความขัดแย้งครั้งนี้จะบอกว่าไม่ลุกลามก็ไม่ใช่ เพราะปัจจุบันยุโรปกับรัสเซียเชื่อมโยงกันผ่านก๊าซธรรมชาติค่อนข้างมาก ยุโรปนำเข้าก๊าซจากรัสเซีย 30% ซึ่งจะต้องแก้โจทย์นี้ให้ได้ ส่วนสหรัฐฯ จะได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่เผชิญกับเงินเฟ้อสูงอยู่แล้วเผชิญความยากลำบากมากขึ้น อย่างไรก็ตาม สภาพคล่องในสหรัฐฯ ยังสูงอยู่ เงินจะต้องหาที่ไป ซึ่งก็มีโอกาสจะไหลเข้า Emerging Asia”
‘หุ้นไทย’ โดนผลกระทบแค่เล็กน้อย
ณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์การลงทุน บล.หยวนต้า มองว่า ความรุนแรงน่าจะเกิดขึ้นแค่บริเวณชายแดน ส่วนโอกาสที่จะลุกลามบานปลายเป็นสงครามระหว่างประเทศ เชื่อว่าค่อนข้างยากในยุคปัจจุบัน สิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นคือการตอบโต้กันไปมาพร้อมกับเจรจาควบคู่ไปด้วย ทำให้สถานการณ์อาจจะไม่ได้จบเร็ว ทำให้การปรับพอร์ตของนักลงทุนจะปั่นป่วน เพราะต้องปรับเพื่อรองรับกับสถานการณ์ที่ไม่คาดหวัง
แน่นอนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นลบกับสินทรัพย์เสี่ยงโดยรวม โดยเฉพาะกับตลาดหุ้นที่มีความผันผวนสูงก่อนหน้านี้ น่าจะเห็นแรงขายออกมามากกว่า อย่างเช่น สหรัฐฯ และยุโรป และบางประเทศที่มีธุรกรรมการค้ากับรัสเซียมาก เช่น เอเชียเหนือ ส่วนตลาดหุ้นที่ผันผวนต่ำ รวมถึงหุ้นไทย มีโอกาสจะถูกใช้เป็นแหล่งพักเงิน
“วิธีการหนึ่งที่นักลงทุนอาจเลือกใช้ป้องกันความเสี่ยงคือ การ Short ตลาดที่ผันผวนสูง แล้วเปิด Long ในตลาดที่ผันผวนต่ำ น่าจะเห็นเป็นภาพนี้เกิดขึ้น”
สำหรับหุ้นไทยเชื่อว่าจะได้รับผลกระทบไม่มาก และการปรับพอร์ตของนักลงทุนไทยจะไม่ยุ่งยากนัก เพราะเรื่องดอกเบี้ยประเทศไทยก็ขึ้นช้ากว่า ส่วนเรื่องรัสเซียก็น่าจะเป็นผลกระทบเพียงทางอ้อม
อย่างไรก็ตาม กระแส Risk off จะยังอยู่ นักลงทุนจะวิ่งเข้าหาอะไรที่เสี่ยงต่ำ เพราะฉะนั้นนักลงทุนควรจะเลือกหุ้นในกลุ่ม Value Play หรือ Domestic Play เช่น ค้าปลีก สื่อสาร และการแพทย์
“เท่าที่ดูตอนนี้ดูเหมือนหุ้นไทยจะดูดีที่สุด เพราะยังมีกลุ่มให้เลือกลงทุนได้อยู่ แต่การที่ดัชนี SET เข้าใกล้เป้าหมาย 1,722 จุด จึงให้น้ำหนักหุ้นเพียง 50-60% ส่วนที่เหลือจะเป็นสินทรัพย์อะไรก็ตาม ควรจะมองเป็น Short Term เพราะเมื่อสถานการณ์มีโอกาสจะพลิกอย่างรวดเร็ว”
เงินไหลเข้าสินค้าโภคภัณฑ์ ‘น้ำมัน-ทองคำ’ เด่นระยะสั้น
ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์การลงทุน บล.หยวนต้า มองว่า เงินลงทุนในระยะสั้นน่าจะไหลเข้าสินค้าโภคภัณฑ์ อย่างน้ำมัน รวมไปถึงราคาของก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน โลหะ ก็น่าจะปรับขึ้นได้ เช่นเดียวกับทองคำในฐาน Safe Haven ก็น่าจะโดดเด่นเช่นกัน รวมถึงพันธบัตรที่จะกลายเป็นแหล่งพักเงิน
ขณะที่สินทรัพย์ดิจิทัลมีแนวโน้มจะปรับฐานต่อ เพราะที่ผ่านมารัสเซียเป็นหนึ่งในแหล่งขุดเหมือง Bitcoin ซึ่งการขุดเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับระบบอย่างหนึ่ง เมื่อความเชื่อมั่นลดลง ราคาก็มีแนวโน้มจะปรับลงตาม
“อย่างไรก็ตาม ราคาของสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับขึ้นน่าจะเป็นเพียงระยะสั้นเท่านั้น”
ส่วนราคาทองคำที่พุ่งขึ้นมาแตะระดับ 1,900 ดอลลาร์ต่อออนซ์ สูงสุดนับแต่เดือนมิถุนายน 2564 อย่างไรก็ตาม Joni Teves วาณิชธนากรของ UBS มองว่า ราคาทองคำที่เพิ่มขึ้นจะเป็นเพียงระยะสั้นเท่านั้น
หากมองไปข้างหน้า ราคาทองคำจะกลับไปอิงกับปัจจัยมหภาคอีกครั้ง อย่างเรื่องของอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง และนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะทำให้ราคาทองคำร่วงกลับลงไปสู่ระดับ 1,600 ดอลลาร์ต่อออนซ์
“สภาพแวดล้อมที่ราคาอสังหาริมทรัพย์กำลังเพิ่มขึ้น และ Fed กำลังใช้นโยบายตึงตัวถือเป็นปัจจัยลบต่อทองคำ ทำให้เราคิดว่าราคาทองคำที่เพิ่มขึ้นจะเป็นเพียงระยะสั้น”
Bitcoin ถูกเทขายในฐานะสินทรัพย์เสี่ยง
ธนลภย์ ปรีดามาโนช นักวิเคราะห์สินทรัพย์ดิจิทัลของ Bitkub Academy มองว่า แม้จะมีผู้ที่มองว่า Bitcoin คือ ‘ทองคำดิจิทัล’ แต่ปัจจุบันยังมีผู้ที่เชื่อในลักษณะนี้ไม่มากนัก ประกอบกับการที่มีผู้เข้ามาเก็งกำไรในตลาดเพิ่มขึ้น ทำให้ Bitcoin และคริปโตอื่นๆ ประพฤติเป็นสินทรัพย์เสี่ยงมากกว่าในปัจจุบัน
เมื่อมีปัจจัยเสี่ยงในลักษณะนี้ นักลงทุนมักจะเข้าสู่โหมด Risk off ก่อน และขายสินทรัพย์เสี่ยงออกมา โดยความเสี่ยงที่นอกเหนือจากสงครามคือการที่สหรัฐฯ อาจจะตัดสินใจแบนการส่งออกน้ำมันของรัสเซีย ทำให้ราคาน้ำมันมีโอกาสจะปรับสูงขึ้นต่อ ผลที่ตามมาคือเงินเฟ้อที่จะสูงขึ้นอีก และอาจจะกดดันให้สหรัฐฯ ใช้นโยบายการเงินแบบตึงตัวมากขึ้น ซึ่งจะกลับมากดดันสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มอีก
“แต่คำถามที่สำคัญกว่านั้นคือ เหตุการณ์นี้กระทบกับพื้นฐานของ Bitcoin จริงๆ หรือไม่ ซึ่งคำตอบคือไม่กระทบ และกลับกันก็มีโอกาสที่จะเห็นคนหันมาใช้ Bitcoin มากขึ้นอีก”
สงครามที่อาจเกิดขึ้นไม่ได้มีแค่เรื่องของนิวเคลียร์ แต่รวมไปถึงธุรกรรมการเงิน ซึ่งสหรัฐฯ อาจจะแบนรัสเซียจากการทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับเงินดอลลาร์
“ทางออกของรัสเซียอย่างหนึ่งคือการหาช่องทางชำระเงินที่ไม่สามารถถูกแบนได้และไม่มีตัวกลาง ซึ่งก็คือ Bitcoin”
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
- Twitter: twitter.com/standard_wealth
- Instagram: instagram.com/thestandardwealth
- Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP