ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าหลายๆ คนที่ติดตามชมรายการแข่งขันทำอาหาร MasterChef Thailand ในซีซันที่ 5 จะเกิดความรู้สึกเดียวกับผู้เขียนหรือไม่ ความรู้สึกที่ยังเดาไม่ถูกว่าซีซันนี้จะออกมาในทิศทางไหน แต่แอบลุ้นลึกๆ ให้รายการ ‘เปลี่ยนรูปแบบใหม่จริงๆ’ และชูความเป็นโฮมคุกของเหล่าผู้เข้าแข่งขันเหมือนกับที่โปรโมตมาตลอด ซึ่งหลังจากที่ได้ดู EP.2 เมื่อวันอาทิตย์ที่ 20 กุมภาพันธ์ 2565 จบ ก็ต้องยอมรับว่าน่าติดตามมากๆ จริงๆ
จากตอนที่ 1 ผู้เข้าแข่งขันต้องทอดไข่ดาว ตำน้ำพริกกันแบบดุเดือดประมาณ Fight for your apron จนความผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ ทำให้เหลือผู้เข้าแข่งขันทั้งหมด 12 คนจาก 60 คน นับว่าเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก และเกิดการตั้งคำถามว่าบางคนสมควรถูกตัดสิทธิ์จากความผิดพลาดเพียงเล็กน้อยมากจริงหรือ นั่นทำให้ในตอนที่ 2 ทางรายการได้ติดต่อกลับไปยังผู้เข้าแข่งขัน 24 คน เพื่อมอบโอกาสต่อสู้ครั้งที่ 2 ในการชิงผ้ากันเปื้อน
#ต้องทำงานเป็นทีมให้ได้แม้กับคนไม่รู้จัก
รายการเริ่มต้นจากให้ผู้เข้าแข่งขันทั้งหมดแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม และเลือกหัวหน้าทีม มาแค่นี้ก็สนุกแล้ว เพราะทุกคนยังไม่มีโอกาสรู้จักหรือเคยเห็นการทำงานของกันและกันมาก่อน แต่เมื่อมันคือโจทย์ ทุกคนก็แบ่งออกเป็นทีมสีชมพู นำโดยเอม และทีมสีฟ้า นำโดยโหน่ง และเริ่มทำอาหารด้วยกัน
#การบริหารจัดการความเด็ดขาดและการแก้ปัญหาคือสกิลสำคัญของเฮดเชฟ
หลังจากแบ่งทีมเรียบร้อย โจทย์แรกเลยคือการทำอาหารคาว 1 จาน และหวาน 1 จาน จากวัตถุดิบหลักทั้ง 3 ชนิด ได้แก่ เนื้อออสเตรเลียนส่วนริบอาย ปูม้า และลูกตาล เพื่อเสิร์ฟให้กับคณะกรรมการทั้ง 50 เสิร์ฟ ซึ่งแน่นอนว่าโฮมคุกแต่ละคนมีแบ็กกราวด์การทำอาหารที่แตกต่าง ไม่ใช่ว่าเคยผ่านโรงเรียนสอนทำอาหารมาก่อนและสามารถสรุปได้ทันทีว่าทุกคนเข้าใจเทคนิคพื้นฐานเหมือนกัน รวมถึงไม่ใช่โฮมคุกทุกคนเคยทำอาหารสเกลใหญ่ขนาดนี้ ทุกอย่างจึงกลายเป็นความโกลาหล ที่เอาเข้าจริงหากอาหารออกมาเป๊ะสิ จะแปลกใจ
สกิลที่ได้เรียนรู้ชัดเจนคือภาวะความเป็นผู้นำของคนที่ถูกเลือกมาเป็นเฮดเชฟ เพราะในครัว หากทุกอย่างถูกวางแผน แบ่งงาน และฟังคำสั่งจากคนคนเดียว จะช่วยให้หน้าที่ที่ได้รับมอบหมายผ่านไปได้ด้วยดี นั่นทำให้จากตรงนี้หัวหน้าทีมสีฟ้าถูกเปลี่ยนกลางคัน เมื่อเกิดการตัดสินใจที่ไม่เด็ดขาดพอ
#อาหารต้องได้มาตรฐานสัญญาแบบไหนต้องเสิร์ฟแบบนั้น
แน่นอนว่าจากความโกลาหลของคน 24 คนที่ต้องทำอาหารให้คนจำนวนมากร่วมกันเป็นครั้งแรก แทบเป็นไปไม่ได้เลยว่าอาหารจะออกมาเป๊ะ ซึ่งเหล่าคณะกรรมการก็ได้ให้ข้อติชมที่เป็นประโยชน์มาก ซึ่งสิ่งที่เราเชื่อว่าโฮมคุกทุกคนได้เรียนรู้จากเรื่องนี้คือมาตรฐานว่าเมื่อสัญญาว่าจะเสิร์ฟแบบไหนต้องทำให้ได้ และต้องได้มาตรฐานเหมือนกันทุกจาน ที่สำคัญตอนนี้เป็นตอนที่ทำให้เรารู้สึกว่า มาสเตอร์เชฟซีซันนี้ไม่ได้ต้องการคนที่สกิลล้ำเลิศเสิร์ฟไฟน์ไดนิ่งตลอดเวลา แต่สอนเบสิกสกิลก้นครัวจริงๆ ที่จะเป็นพื้นฐานสำคัญที่ดีต่อการเป็นเชฟ
อีกอย่างกลายเป็นเรารู้สึกชัดเจนมากว่าจากวัตถุดิบที่ได้มา แต่ละคนไม่จำเป็นต้องทำอะไรแฟนซีเพื่อ Impress กรรมการเลย แต่ทำจานคลาสสิกที่อร่อยต่างหากที่สำคัญที่สุด
‘อาหารออกมาหน้าตาแย่มากๆ แต่ยอมรับว่าทั้งตอนนี้คือคลาสเรียนเรียนทำอาหารชั้นดีที่ทำให้เหล่าโฮมคุก (และเราคนดู) ได้ฝึกสกิลในครัวกันหนักมาก’ นี่คือสรุปที่เราได้เรียนรู้จาก EP.2 นี้ ส่วนตอนต่อไปจะเป็นอย่างไร ใครจะเป็นแชมป์มาสเตอร์เชฟคนใหม่ เราจะคอยรายงานให้ได้อ่านกันต่อไป
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/masterchefthailand
ภาพ: MasterChef Thailand