วันนี้ (8 กุมภาพันธ์) ความคืบหน้าคดี ม.ร.ว.ปรียนันทนา รังสิต หลานของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ฟ้องศาลแพ่งเรียกค่าเสียหาย 50 ล้านบาท ต่อ ณัฐพล ใจจริง, กุลลดา เกษบุญชู มี้ด และสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน รวม 6 จำเลย จากกรณีตีพิมพ์หนังสือ ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ และ ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี ของ ณัฐพล ใจจริง เนื้อหาจากวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก ปีการศึกษา 2552 จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง การเมืองไทยสมัยรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2491-2500) ซึ่งมีกุลลดาเป็นอาจารย์ที่ปรึกษา และวิทยานิพนธ์ผ่านการประเมินจากกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ 5 คน ด้วยมติเอกฉันท์ให้เป็นวิทยานิพนธ์ดีมาก (Excellent) โดย 1 ใน 5 กรรมการ คือ นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ขณะที่หนึ่งในพยานฝ่ายโจทก์ในคดีนี้คือ ไชยันต์ ไชยพร หัวหน้าโครงการวิจัย ‘จากมวลชนปฏิวัติสู่มวลชนประชาธิปไตยกับพระมหากษัตริย์: การศึกษาพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชในกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย’ ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจากสถาบันพระปกเกล้า
ล่าสุดวันนี้ ศาลแพ่งนัดฟังคำวินิจฉัยของศาลปกครอง จากกรณีจำเลยที่ 2 กุลลดา เกษบุญชู มี้ด อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ ได้ยื่นคำร้องต่อศาลแพ่ง ขอให้ส่งสำนวนให้ศาลปกครองกลางวินิจฉัยว่าคดีนี้อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครองหรือไม่ เนื่องจากจำเลยที่ 2 และทีมทนายเห็นว่าคดีนี้ควรจะอยู่ในอำนาจศาลปกครอง เพราะเป็นการฟ้องในขณะกุลลดาทำหน้าที่เจ้าหน้าที่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ มาตรา 5 วางหลักว่า หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ ในกรณีนี้ผู้เสียหายอาจฟ้องหน่วยงานของรัฐดังกล่าวได้โดยตรง แต่จะฟ้องเจ้าหน้าที่ไม่ได้
ดังนั้นจำเลยที่ 2 และทีมทนายจึงเห็นว่า โจทก์ต้องฟ้องหน่วยงานรัฐต่อศาลปกครอง ไม่สามารถฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐได้
ด้าน วิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความของกุลลดา จำเลยที่ 2 ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD ว่าหลังจากศาลแพ่งทำความเห็นในสำนวนคดีส่งศาลปกครองว่าคดีนี้อยู่ในเขตอำนาจของศาลใดแล้ว
ผลปรากฏว่า ศาลแพ่งและศาลปกครองเห็นพ้องกันให้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาในศาลแพ่ง โดยสรุปใจความว่า ฟ้องโจทก์บรรยายฟ้อง เป็นกรณีที่จำเลยที่ 2 (กุลลดา) ไม่ทักท้วงข้อความในวิทยานิพนธ์ของจำเลยที่ 1 (ณัฐพล) เป็นการจงใจและประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ไม่ทำหน้าที่สมกับฐานะอาจารย์ที่ปรึกษาในการทำวิทยานิพนธ์ ไม่ตรวจสอบข้อเท็จจริงที่อ้างอิงในวิทยานิพนธ์ของจำเลยที่ 1 ตามวิสัยของผู้ที่เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาหลัก ปล่อยปละละเลยให้มีการอนุมัติวิทยานิพนธ์ซึ่งมีข้อความอันเป็นเท็จ จนกระทั่งมีการนำไปเผยแพร่ต่อสาธารณชนทั่วไป ทำให้เป็นที่เสียหายต่อสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร และราชสกุลรังสิตนั้น
เป็นการกระทำอันเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่โดยทั่วไปของบุคคลซึ่งเป็นอาจารย์ผู้ให้คำปรึกษาหลักในการทำวิทยานิพนธ์ โดยมิได้เกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ หรือคำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือละเลยต่อหน้าที่ตามกฎหมายกำหนดแต่อย่างใด มิได้เป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 2 กระทำละเมิดต่อโจทก์โดยละเลยต่อหน้าที่
ศาลปกครองกลางเห็นว่า การทำหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ในการให้คำปรึกษาและคำแนะนำแก่นิสิตเกี่ยวกับเนื้อหาทางทฤษฎี แนวคิด และวิธีการศึกษาวิจัย รวมถึงการเขียนวิทยานิพนธ์ และการใช้ภาษา เป็นเพียงการปฏิบัติหน้าที่โดยทั่วไปในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์หลัก ตามข้อ 69 ของข้อบังคับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าด้วยการศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษา พ.ศ. 2551 เท่านั้น จำเลยที่ 2 มิได้ใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมาย หรือดำเนินกิจการทางปกครอง อันจะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลแพ่งออกนั่งพิจารณา แจ้งความเห็นของศาลปกครองให้คู่ความทราบว่า คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม คดีนี้จึงต้องดำเนินกระบวนพิจารณาที่ศาลนี้ต่อไป
ให้เลื่อนไปกำหนดวันนัดสืบพยานฝ่ายโจทก์และจำเลยทั้ง 6 ในวันที่ 11 มีนาคม 2565 เวลา 09.30 น.
วิญญัติกล่าวว่า อ.กุลลดา ถูกฟ้องในคดีนี้ ทั้งที่ไม่ใช่การกระทำในทางส่วนตัว เพราะอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ ผ่านขั้นตอนที่จะต้องได้รับการแต่งตั้งจากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา เช่นเดียวกับการที่มหาวิทยาลัยแต่งตั้งกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ 5 คน ประกอบด้วย
ไชยวัฒน์ ค้ำชู ประธานกรรมการสอบวิทยานิพนธ์
นครินทร์ เมฆไตรรัตน์
สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ
วีระ สมบูรณ์
กุลลดา เกษบุญชู มี้ด ในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษา
ซึ่งทั้ง 5 คน ได้ลงมติเป็น ‘เอกฉันท์’ ให้วิทยานิพนธ์ของ ณัฐพล ใจจริง เป็นวิทยานิพนธ์ดีมาก (Excellent) โดย ไชยวัฒน์ ค้ำชู ในฐานะประธานกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ เป็นผู้เขียนเหตุผลที่กรรมการประเมินให้ Excellent
วิญญัติกล่าวด้วยว่า อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ไม่ควรถูกฟ้องโดยลำพัง แต่ควรฟ้องต้นสังกัด ซึ่งจำเลยที่ 2 เคยยื่นคำร้องให้เรียกจุฬาฯ มาเป็นจำเลยร่วม ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 เรื่องร้องสอด แต่ปรากฏว่าศาลยกคำร้อง
สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นสัญญาณอันตรายต่อวงการวิชาการ บ่งบอกว่า นิสิตนักศึกษาที่จะทำวิทยานิพนธ์จะมีความยากในการหาอาจารย์ที่ปรึกษา เพราะอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์กับนิสิตมีความเสี่ยงที่จะถูกฟ้องร้องโดยที่มหาวิทยาลัยต้นสังกัดไม่ต้องรับผิดชอบหากถูกฟ้องในอนาคต