ยังคงเป็นบิ๊กดีลที่น่าจับตามองสำหรับการควบรวมกิจการระหว่าง TRUE และ DTAC ซึ่งล่าสุดใน Change.org ได้มีแคมเปญ ‘รณรงค์ต่อต้านการผูกขาดทางการค้ากรณีการควบรวมกิจการระหว่างทรูและดีแทค’ โดยตั้งเป้ารวบรวมผู้สนับสนุน 2,500 ราย
แคมเปญที่ถูกเขียนโดย KHUN KUNA ระบุว่า ขอเรียกร้องให้ ปปช, กสทช. และคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า ได้โปรดทำหน้าที่ในการตรวจสอบดีลควบรวมกิจการระหว่าง TRUE และ DTAC ด้วย เนื่องจากเป็นการรวบผูกขาดทางการตลาด ขัดต่อกฎหมาย และก่อให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม
เพราะจะเหลือผู้ให้บริการเพียงแค่ 2 รายเท่านั้น โดยปัจจุบัน DTAC มีผู้ใช้บริการ 19.2 ล้านราย ส่วน TRUE มีผู้ใช้บริการ 32 ล้านราย เมื่อควบรวมกันแล้ว TRUE จะมีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นมาเป็น 51.2 ล้านคน จึงแทบจะเป็นการผูกขาดตลาดโทรคมนาคมไปโดยปริยาย นอกจากนี้ในฐานะลูกค้า DTAC เหมือนเป็นการถูกมัดมือชกให้ต้องไปใช้ทรูโดยไม่ได้สมัครใจ และไม่มีการชี้แจงข้อมูลใดๆ ให้พวกเราทราบเลย
“โทรคมนาคมถือเป็นปัจจัยที่ 5 ในการใช้ชีวิต การควบรวมครั้งนี้จึงถือเป็นการทำให้ประชาชนเสียผลประโยชน์ในระยะยาว”
สำหรับความคืบหน้าดีลระหว่าง TRUE และ DTAC นั้น ทาง DTAC คาดว่าจะบรรลุข้อตกลงที่มีผลผูกพันภายในสิ้นไตรมาส 1/65 จากนั้นจะดำเนินการยื่นขออนุมัติและทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของบริษัทโดยสมัครใจ (VTO) ซึ่งผู้บริหารคาดว่าธุรกรรมนี้จะแล้วเสร็จในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2565 โดย Telenor และ CP Group วางแผนถือหุ้นฝ่ายละ 1 ใน 3 ของบริษัทใหม่
ก่อนหน้านี้ ภาดล วรรณรัตน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) กล่าวว่า ประโยชน์หลักของการควบบริษัทในครั้งนี้ คือการลดต้นทุนค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น ค่าใช้จ่ายต่อสาขา ค่าใช้จ่ายด้านคอลเซ็นเตอร์ และงบลงทุน
โดยฝ่ายวิจัย บล.หยวนต้า มองว่า หากควบรวมบริษัทสำเร็จจะทำให้รายได้บริษัทใหม่หลังควบรวม TRUE และ DTAC ในปี 2565 อยู่ที่ 1.4 แสนล้านบาท EBITDA จะอยู่ที่ 8.6 หมื่นล้านบาท และกำไรสุทธิน่าจะอยู่ที่ 2.5-3 หมื่นล้านบาท และมาร์เก็ตแชร์รวมกันแล้วจะอยู่ที่ 52.9%
ขณะที่บริษัทใหม่หลังควบรวมน่าจะใช้งบลงทุนราว 3 หมื่นล้านบาทต่อปี ซึ่งลดลงจากงบลงทุนของ TRUE ที่ 3-3.5 หมื่นล้านบาท และ DTAC 1.5-2 หมื่นล้านบาท
แม้จะสร้างผลประโยชน์ในแง่ของธุรกิจแต่ก็มีคำถามว่า จะเกิดผลกระทบต่อผู้บริโภคในระยะยาวอย่างไร ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร นักลงทุนหุ้นคุณค่าของตลาดทุนไทยที่ระบุว่า การรวมบริษัทครั้งนี้ทำให้เหลือผู้เล่นในตลาดเพียง 2 เจ้า ซึ่งอาจทำให้รายใดรายหนึ่งมีอำนาจควบคุมตลาดมากไป และทำให้การแข่งขันในตลาดน้อยลง ซึ่งจะกระทบกับผู้บริโภคในที่สุด
ด้าน สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) มองว่า การควบรวมอาจส่งผลให้ธุรกิจโทรคมนาคมไทยที่มีโครงสร้างที่ผูกขาดอยู่แล้วเกิดการผูกขาดมากยิ่งขึ้นจนเข้าสู่ระดับอันตราย แม้ทั้ง 2 บริษัทจะอ้างเรื่องของการสร้างความเท่าเทียมและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อให้ไทยไปแข่งขันในเวทีโลกเพื่อการรวบรวมนั้น แต่ในทางเศรษฐศาสตร์เรียกกรณีนี้ว่าเป็นการลดผู้ประกอบการลง
อย่างไรก็ตาม การควบรวมกิจการระหว่าง TRUE และ DTAC แม้จะทำให้ผู้นำในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมเปลี่ยนแปลงไป แต่สำหรับในแวดวง ‘ตลาดหุ้น’ แล้ว หากนับในเชิงของมูลค่าตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) ดูเหมือนว่า ‘เบอร์หนึ่ง’ จะยังเป็นของ ‘ADVANC’ หรือ AIS เหมือนเดิม
โดย ณ วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2565 ราคาหุ้น ADVANC อยู่ที่ระดับ 223 บาทต่อหุ้น คิดเป็นมาร์เก็ตแคปรวมอยู่ที่ 663,185 ล้านบาท ในขณะที่ TRUE ราคาหุ้นอยู่ที่ 4.90 บาท และมีมาร์เก็ตแคปอยู่ที่ 163,504 ล้านบาท ส่วน DTAC ราคาหุ้นอยู่ที่ 47.75 บาท มีมาร์เก็ตแคปอยู่ที่ 113,062 ล้านบาท
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- จับตาบิ๊กดีล ‘TRUE-DTAC’ เปลี่ยนโฉมผู้นำวงการโทรคมนาคมไทย แต่เบอร์หนึ่งในตลาดหุ้นยังไม่เปลี่ยน ด้าน กสทช. เตรียมเรียกเข้าชี้แจง
- TDRI ชี้ ดีล TRUE ควบรวม DTAC เข้าข่ายผูกขาดระดับอันตราย เพิ่มต้นทุนไทยเปลี่ยนผ่านสู่ Digital Economy จี้ กสทช. และ กขค. เข้าดูแล
- ‘ดร.นิเวศน์’ มองดีล ‘ทรูรวมดีแทค’ ลดการแข่งขันในอุตสาหกรรม อาจกระทบผู้บริโภคในระยะยาว ชี้ความคิดเห็นคณะกรรมการ กขค. ยังเป็น Significant Risk
- หุ้น ‘TRUE-DTAC’ พุ่งแรง หลังประกาศควบกิจการ นักวิเคราะห์มองแผนควบรวมช่วยลดค่าใช้จ่ายกว่า 1 หมื่นล้าน
- DTAC รายงานกำไรปกติ 4Q64 ออกมากำไรต่ำกว่าคาด
อ้างอิง:
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
- Twitter: twitter.com/standard_wealth
- Instagram: instagram.com/thestandardwealth
- Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP