การเลือกตั้งวันที่ 26 มกราคม 2518 ห่างจากการเลือกตั้งครั้งล่าสุดเกือบ 6 ปี ซึ่งผลปรากฏว่ามีพรรคการเมืองที่ได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เข้าสภาถึง 22 พรรค โดยพรรคประชาธิปัตย์ได้เสียง 72 ที่นั่ง ตามมาด้วยพรรคธรรมสังคม 45 ที่นั่ง, พรรคชาติไทย 28 ที่นั่ง, พรรคเกษตรสังคม 19 ที่นั่ง, พรรคกิจสังคม 18 ที่นั่ง ทั้งนี้มีพรรคการเมืองขนาดเล็ก หรือที่เรียกว่าพรรคต่ำสิบ 13 พรรค และมีพรรคที่ได้เพียง 1 ที่นั่ง 5 พรรค ขณะที่จำนวน ส.ส. ทั้งหมดคือ 296 คน กึ่งหนึ่งจะต้องไม่น้อยกว่า 135 คนตามธรรมเนียม พรรคประชาธิปัตย์ในฐานะพรรคอันดับ 1 ได้สิทธิ์รวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลก่อน แต่ด้วยเงื่อนไขทางการเมืองที่ประชาธิปัตย์สร้างไว้เอง ทำให้สุดท้ายพรรคประชาธิปัตย์สามารถรวมกับพรรคเกษตรสังคมที่มี 19 ที่นั่ง รวมกันเป็น 91 เสียง พยายามจัดตั้งรัฐบาลผสมเสียงข้างน้อยขึ้น แต่ก็ต้องล้มเหลว เพราะเมื่อคณะรัฐมนตรีแถลงนโยบายเพื่อขอความไว้วางใจจากสภาก็ถูก ส.ส. ลงมติไม่ไว้วางใจ 152 ต่อ 111 เสียง
สำหรับเงื่อนไขทางการเมืองที่พรรคประชาธิปัตย์สร้างไว้จนไม่สามารถรวมเสียง ส.ส. ได้เกินกึ่งหนึ่ง คือคำสัญญาที่ให้ไว้ในช่วงหาเสียง พรรคประชาธิปัตย์สัญญากับประชาชนในช่วงหาเสียงว่าพรรคจะไม่จัดตั้งรัฐบาลที่มีอดีตสมาชิกพรรคสหประชาไทย ซึ่งเป็นพรรคของ จอมพล ถนอม กิตติขจร เด็ดขาด ด้วยข้อโจมตีว่าเป็นพรรคเชื้อสายทรราช
ด้วยเงื่อนไขนี้ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ไม่สามารถจับมือกับพรรคธรรมสังคมซึ่งมีกว่า 45 ที่นั่ง รวมถึงพรรคสังคมชาตินิยม 16 ที่นั่ง นอกจากนี้พรรคประชาธิปัตย์ยังไม่สามารถตกลงจับมือกับพรรคชาติไทยได้ เพราะพรรคชาติไทยเรียกร้อง 3 กระทรวงใหญ่คือ กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขณะที่อีกมุมของการวิเคราะห์มองว่า การตกลงกันไม่ได้เกิดจากความไม่ตั้งใจจริงที่จะเจรจาของทั้ง 2 พรรคมากกว่า รวมถึงความไม่ตั้งใจของพรรคประชาธิปัตย์ในการไปเจรจาจับมือกับกลุ่มพรรคต่ำสิบ
ท้ายที่สุด แม้ประชาธิปัตย์จะประสบความสำเร็จในการเลือกตั้ง แต่ก็ล้มเหลวในการรวมเสียงตั้งรัฐบาล ถูกสภาลงมติไม่ไว้วางใจตั้งแต่ก่อนเริ่มปฏิบัติหน้าที่ เปิดช่องให้ ‘หม่อมน้อง’ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช หัวหน้าพรรคกิจสังคม ซึ่งมีเพียง 18 ที่นั่ง แต่รวมเสียงได้เป็นรัฐบาล