แม้เราทุกคนจะทราบกันดีอยู่แล้วว่า ‘น้ำมีประโยชน์ต่อร่างกาย’ เพราะการดื่มน้ำที่เหมาะสมจะนำพาไปสู่การมีสุขภาพดี ผิวพรรณเปล่งปลั่ง ระบบภายในร่างกายสดชื่น ไม่ขาดน้ำ ซึ่งโดยปกติจากข้อมูลของหลายๆ แหล่งบอกตรงกันว่าเราควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว หรือเฉลี่ยก็คือควรดื่มให้ได้ประมาณวันละ 2 ลิตร แต่ก็มีความเชื่อหรือข้อมูลผิดๆ ที่ยังพบเห็นผ่านการแชร์หรือส่งต่อกันไปเรื่อยๆ โดยที่ไม่เป็นความจริง ซึ่งจากความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการดื่มน้ำอาจทำให้เกิดความเสี่ยงที่เป็นอันตรายต่อร่างกายได้เช่นกัน ผศ.ดร.นพ.พัฒนา เต็งอำนวย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรศาสตร์โรคไต โรงพยาบาลพญาไท 2 เปิดเผยว่า คนไทยหลายคนยังมีความเชื่อที่ผิดๆ ว่าการดื่มน้ำมากๆ ทำให้ไตวาย เพราะความจริงแล้วน้ำจะช่วยเจือจางสารพิษที่ไปสู่ไต และการที่เรามีปัสสาวะออกดีไม่ได้แปลว่าไตของเราต้องทำงานหนักขึ้น แต่แสดงถึงการขับของเสียที่มีประสิทธิภาพ ลองเปรียบเทียบกับการล้างภาชนะหรือทำความสะอาดบ้าน อยากให้สะอาดก็ต้องใช้น้ำมากๆ ยิ่งคนที่ไตเสื่อมสภาพยิ่งต้องดื่มน้ำให้มากเพื่อกำจัดของเสียที่คั่งในร่างกายนั่นเอง และยังมีเรื่องที่เข้าใจผิดๆ ที่คนไทยควรเข้าใจให้ถูกต้องเกี่ยวกับการดื่มน้ำดังนี้
- การดื่มน้ำมากๆ ในคนปกติไม่ได้ทำให้ไตวาย แต่กับคนที่ป่วยเป็นโรคไตวายระยะสุดท้าย หมอแนะนำให้ดื่มน้ำน้อยลง เพื่อป้องกันน้ำคั่ง น้ำท่วมปอด
- น้ำประปาต้มไม่ได้ปลอดภัยอย่างที่คิด แต่กลับส่งผลให้พิษโลหะหนักที่มีอยู่ในน้ำประปายิ่งเข้มข้นมากขึ้น
- ดื่มน้ำเยอะ เข้าห้องน้ำบ่อย ไม่ได้ทำให้ไตทำงานหนักขึ้น แต่แสดงถึงการขับของเสียที่มีประสิทธิภาพ
- น้ำดื่มจากเครื่องกรองน้ำไม่ได้ดีที่สุด เพราะหากดื่มมากๆ ก็จะทำให้ร่างกายขาดเกลือแร่ได้
- การดื่มน้ำมากๆ ไม่ได้ทำให้ร่างกายบวมหรือน้ำหนักมากขึ้น
ภาพประกอบ: เทียนจรัส วงศ์พิเศษกุล
ภาพ: Shutterstock
อ้างอิง: Phyathai Hospital