×

Bond Yield พุ่งกดดันตลาดโลก โบรกมองหุ้นไทยมีโอกาสปรับฐานแตะ 1,630 จุด จับตาสัญญาณจาก Fed ช่วงปลายเดือนนี้

18.01.2022
  • LOADING...
Bond Yield

หลังจากตลาดหุ้นไทยใช้เวลาประมาณ 1 เดือน ไต่ขึ้นจากระดับประมาณ 1,580 จุด กลับมาที่ระดับ 1,680 จุด ซึ่งเป็นระดับดัชนีที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2562 โดยระหว่างทางที่ดัชนีไต่ขึ้นมา 100 จุดในรอบนี้มีจังหวะของการปรับฐานเกิน 10 จุดอยู่ 2 ครั้ง แต่เป็นการปรับฐานเพียงแค่ 1 วัน ก่อนที่ดัชนี SET จะเดินหน้าปรับขึ้นมาต่อได้ 

 

ล่าสุดวันนี้ (18 มกราคม) ดัชนี SET ปรับตัวลงกว่า 16 จุดอีกครั้ง โดยดัชนีปิดที่ 1,660.27 จุด คิดเป็นการลดลงราว 0.99% โดยมีมูลค่าการซื้อขายรวมกว่า 113,953 ล้านบาท 

 

ภาดล วรรณรัตน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) มองว่า การปรับฐานในวันนี้สามารถพูดได้ว่า Bond Yield ที่เพิ่มขึ้นเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่กดดันตลาด โดย Bond Yield อายุ 10 ปีของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นแตะ 1.8% ขณะที่ Bond Yield อายุ 10 ปีของไทยก็เพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 2.1% ในช่วงเช้านี้ 

 

การเพิ่มขึ้นของ Bond Yield กดดันให้หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีอ่อนตัว เช่นเดียวกับหุ้นหลายตัวที่ราคาปรับขึ้นมาต่อเนื่องก่อนหน้านี้ก็ถูกขายทำกำไรออกมา อย่างไรก็ตาม จะเห็นว่าหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ของไทยเป็นกลุ่มที่ยืนได้แข็งแกร่งกว่าตลาด เพราะได้อานิสงส์จาก Bond Yield ที่ปรับตัวขึ้น 

 

“การปรับฐานของตลาดในรอบนี้จะรุนแรงแค่ไหนคงขึ้นอยู่กับการส่งสัญญาณของ Fed ในช่วงปลายเดือนนี้ ปัจจุบัน 70-80% ในตลาดคาดการณ์ว่า จะเห็นการขึ้นดอกเบี้ยในช่วงเดือนมีนาคมในระดับ 0.25% แต่หาก Fed ส่งสัญญาณว่าอาจจะขึ้นมากกว่านั้น ก็อาจจะเป็น Negative Surprise ต่อตลาดหลังจากนี้” 

 

อย่างไรก็ตาม การปรับฐานของตลาดหุ้นไทยอาจไม่ลึกเท่าตลาดหุ้นหลัก อย่างเช่น Nasdaq เนื่องจากในช่วงที่เม็ดเงิน QE ไหลเข้ามาในตลาดหุ้นมากขึ้นระหว่างปี 2562-2564 ดัชนี SET ขึ้นมาเพียง 4.8% ขณะที่ฝั่งดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นหลายสิบเปอร์เซ็นต์ 

 

“เพราะฉะนั้นในจังหวะปรับฐาน หุ้นไทยก็ควรจะ Defensive กว่าตลาดอื่นๆ และกลุ่มอุตสาหกรรมหลักๆ ของเราก็ไม่ใช่กลุ่มเทคโนโลยี ส่วนตัวมองว่าดัชนี SET บริเวณ 1,620-1,630 จุด เป็นจุดที่น่าเข้าสะสม” 

 

ด้าน วิริยะชัย จิตตวัฒนรัตน์ รองผู้อำนวยการฝ่าย Private Wealth Management ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า Bond Yield ที่เพิ่มขึ้นเป็นปัจจัยกดดันตลาดทางอ้อม โดยตลาดหุ้นไทยล้อไปตามภูมิภาคช่วงเช้า ซึ่งจะเห็นว่าตลาดหุ้นหลักๆ ในเอเชียอย่างญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และฮ่องกง ย่อลงทั้งหมด ขณะที่ดัชนี Dow Jones ก็ปรับตัวลงเมื่อคืนนี้ พร้อมกับการที่ Bond Yield ทั่วโลกขยับขึ้น ทำให้ตลาดหุ้นโลกปรับฐานในระยะสั้น 

 

อย่างไรก็ดี ในปีนี้ยังไม่น่าจะเห็นการขึ้นดอกเบี้ยในไทย และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังช้าอยู่เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ แม้เงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น ทำให้ความกังวลที่ว่า Bond Yield จะสูงต่อเนื่อง ยังไม่น่าจะกดดันตลาดหุ้นมากนัก 

 

“ส่วนตัวมองว่ากำไรของตลาดหุ้นไทยในไตรมาส 4 ปี 2564 จะเป็นตัวกำหนดทิศทางการลงทุนในช่วง 1 เดือนถัดจากนี้ การที่ตลาดหุ้นวิ่งขึ้นมา 100 จุด ในช่วง 1 เดือน ก็น่าจะเห็นแรงขายทำกำไรบ้างเป็นปกติ” 

 

ขณะที่แรงขายจากสถาบันอย่างต่อเนื่องในช่วงต้นปีน่าจะเป็นผลจากแรงขาย LTF สำหรับผู้ที่ซื้อตั้งแต่ปี 2559 และสามารถขายได้แล้ว ส่วนเม็ดเงินต่างชาติที่ไหลเข้าก่อนหน้านี้จริงๆ เริ่มเห็นมาตั้งแต่ปลายปีก่อน เพราะที่ผ่านมาสัดส่วนการถือครองหุ้นไทยยังต่ำมาก แต่แรงซื้ออาจจะยังไม่ได้ต่อเนื่อง เพราะในความเป็นจริงแล้วพื้นฐานตลาดหุ้นไทยยังไม่ได้โดดเด่น ด้วยกำไรต่อหุ้นที่คาดว่าจะเติบโต 10-12% แต่ระดับ P/E 18-19 ก็ถือว่าอยู่ในโซนค่อนข้างแพง

 

“กลยุทธ์ในช่วงนี้คือ Buy on Dip ตลาดในระยะสั้นอาจปรับฐานลงมาบริเวณ 1,635 จุด ขณะที่เป้าหมายทั้งปียังมองที่ 1,730 จุด” 

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X