หัวใจของการทำธุรกิจคือการทำให้ลูกค้าอยู่กับเราได้นานที่สุด และการสร้างนวัตกรรมคือกุญแจสำคัญในการยึดโยงธุรกิจและลูกค้าเข้าไว้ด้วยกัน
THE STANDARD พูดคุยกับ ตง-ธเนศ จิระเสวกดิลก และ ตี๋-พัฒนพงศ์ รานุรักษ์ สองผู้ก่อตั้งแบรนด์สปา Divana และ Course Director โครงการ NIA SCB Innovation-Based Enterprise (IBE) รุ่นท่ี 3 หลักสูตรสำหรับ SMEs ที่ต้องการสร้างสุดยอดนวัตกรรมที่จะนำมาซึ่งสินค้าและบริการใหม่ เพื่อยกระดับธุรกิจให้เท่าทันการแข่งขันในโลกที่ไม่เคยหยุดนิ่ง
“ถ้า SMEs รอด ธุรกิจอื่นก็รอด”
ตง: SMEs เป็นรากฐานสำคัญของประเทศกำลังพัฒนา ดูได้จากมูลค่า GDP ทั้งหมด ตัวเลขของธุรกิจ SMEs อยู่ที่ 34-35% ฉะนั้นหากเปรียบประเทศเป็นต้นไม้ องค์กรใหญ่คือรากแก้ว ผมคิดว่า SMEs คือรากแขนงที่ช่วยกระจายรายได้ให้กับประชากรทั่วทุกภูมิภาค ทำให้ประเทศเติบโตอย่างแข็งแรงและยั่งยืน
ตี๋: ผู้ประกอบการ SMEs คงพอทราบดีว่ากระแสโลกตอนนี้มันเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและไม่หยุดนิ่ง โดยเฉพาะช่วงการระบาดของโควิด ทำให้มีคนที่ได้ไปต่อและคนที่ต้องล้มเลิกความฝันอยู่ตลอดเวลา สำหรับธุรกิจที่จะเป็นผู้รอด ผมเชื่อว่าสิ่งที่พวกเขาต้องให้ความสำคัญมากที่สุดประกอบไปด้วย 3 เรื่อง ได้แก่
- Macro Trend การเปลี่ยนแปลงของเทรนด์ระดับมหภาค
- Micro Behavior พฤติกรรมที่ไม่หยุดนิ่งของผู้บริโภค
- Unlearn Mindset คนทำธุรกิจต้องพร้อมลุย พร้อมสู้ พร้อมเปิดรับสิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา ยกตัวอย่าง Divana สมัยก่อน เราออกโปรโมชันแค่นิดเดียว ยอดขายก็พุ่งทะยาน ลูกค้าพร้อมสนับสนุนเรา แต่วันนี้ลูกค้าเข้ามาหาเราไม่ได้ เราเปลี่ยนจากกลุ่มลูกค้าต่างชาติ 90% เป็นคนไทย 100% จากออฟไลน์เป็นออนไลน์ แถมยังต้องสลับไปมา ดังนั้นการเรียนรู้และทดลองสิ่งใหม่สำหรับธุรกิจ SMEs จึงเป็นหัวใจสำคัญอันดับแรกๆ ที่ผู้ประกอบการควรทำมากที่สุดในเวลานี้
ดิสรัปต์การสอนรูปแบบเดิมด้วยทฤษฎี E=MC2
ตี๋: พวกเราสนใจเรื่องการศึกษาและอยากมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้มากที่สุด เพราะในยุคที่ผมเติบโต การเรียนการสอนส่วนใหญ่มักเป็นระบบชัตดาวน์ กล่าวคือมีอาจารย์ที่เก่งที่สุด สำคัญที่สุด ถ่ายทอดได้มากที่สุดมาสื่อสารทางเดียวอยู่หน้าชั้นเรียน ทำให้ผลลัพธ์จากวิชานั้นมันมีค่าเท่ากับ 1 เสมอ เพราะองค์ความรู้มาจากเขาเพียงคนเดียวเท่านั้น
จากประสบการณ์ตรงนี้ เมื่อถึงวันที่ผมมีโอกาสสร้างหลักสูตร ผมจึงเริ่มออกแบบการสอนรูปแบบใหม่ เปลี่ยนจาก Knowledge Base เป็น Project Base อิงจากทฤษฎี E=MC2 อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ถ้าเรามองว่านักเรียนแต่ละคนคือเลข 1 ที่มาชนกัน มันจะเกิดการแลกเปลี่ยนทางความคิดเป็น 1+1+1+1 ไปจนถึง 10 เมื่อนั้นมันจะเกิด Bigbang เพราะองค์ความรู้ที่หลากหลาย ทำให้เกิดไอเดียพุ่งทะยานไม่รู้จบ
ผมนำวิธีการนี้ไปใช้ในคลาสสอน Customer Experience (UX/UI) ให้กับนักศึกษาระดับปริญญาโท ผลปรากฏว่าฟีดแบ็กดี แต่ไม่มีคนนำไอเดียไปทำงานต่อ เราจึงนำไอเดียนี้มาเสนอกับทาง SCB โดยบอกความประสงค์ไปตรงๆ ว่าเราอยากสอนเรื่อง Innovation and Technology โดยเอาวิธีการสอนแบบนี้มาทดลองใช้
หลักสูตรที่คิดจาก Pain Point ของ SMEs อย่างแท้จริง
ตง: เราเห็น Pain Point จากตัวเอง ตั้งแต่มีการระบาดของโควิด ธุรกิจเราเหมือนอยู่ในวังน้ำวน ไม่รู้จะเดินหน้าอย่างไรต่อ เราจึงมองหาเพื่อนที่มีวิสัยทัศน์เหมือนกันมาช่วยดึงกันไปข้างหน้า แต่ตัดภาพมาที่ธุรกิจ SMEs อีกจำนวนมาก พวกเขากำลังจะจมน้ำ โดยไม่มีใครช่วยเหลือ ไม่เห็นหนทางไปต่อ ยิ่งทำยิ่งเจ๊ง ยิ่งโปรโมตยิ่งเงินหาย ไม่ต้องพูดถึงกระแสโลกที่เปลี่ยนรายวัน มันเป็นช่วงเวลาที่สับสนมึนงง มีธุรกิจที่ล้มหายไปก็มาก แต่ก็ยังมีกลุ่มคนที่พวกเขายังต่อสู้และต้องการไปต่อ เราจึงอยากเปิดพื้นที่การเรียนรู้ให้คนเหล่านี้มาเริ่มต้นสร้างนวัตกรรมไปด้วยกัน เพื่อให้เกิดสินค้าและบริการใหม่ๆ ตรงใจความต้องการของผู้บริโภคให้ได้มากที่สุด
พื้นที่ระเบิดไอเดียของ SMEs
ตี๋: ย้อนกลับไปเมื่อปี 1996 บิล เกตส์ ผู้ก่อตั้งบริษัท Microsoft เคยโดนพิธีกรรายการโทรทัศน์ตั้งคำถามถึงความแตกต่างระหว่าง ‘โทรเลข’ และ ‘อินเทอร์เน็ต’ ครั้งนั้นเขาตอบกลับไปเพียงว่า ตัวเขาเองก็ไม่รู้ความแตกต่างของสองสิ่งนี้อย่างแน่ชัด รู้แค่อินเทอร์เน็ตสามารถส่งตัวอักษร รูปภาพ รวมถึงวิดีโอได้ และมันอาจทำอะไรได้อีกหลายอย่าง
นั่นคือจุดเริ่มต้นของการสร้างสุดยอดนวัตกรรมพลิกโลก ที่แม้แต่ผู้สร้างก็ยังไม่เห็นภาพปลายทางว่ามันจะนำไปสู่จุดไหนและสามารถเติบโตไปเป็นอะไรได้บ้าง แต่สิ่งที่ทุกคนเรียนรู้ได้จากบิล เกตส์ คือเขาไม่เคยหยุดนิ่งกับการจินตนาการ คิดค้น ทดลอง ลงมือทำจริง โดยยึดจากพฤติกรรมและความต้องการของผู้บริโภคเป็นศูนย์กลาง ทำให้ธุรกิจของ Microsoft มีสินค้าและบริการใหม่ๆ ตามกระแสโลกที่เปลี่ยนไป และครองใจผู้บริโภคมาได้ยาวนานหลายทศวรรษ
ผมชอบเรื่องราวของบิล เกตส์ เพราะมันตรงกับแนวคิดนี้ในการทำหลักสูตร IBE ตามที่เล่าว่าคอร์สปกติเป็น Knowledge Base มีครูมาสอนว่าวิธีการที่ดีคืออะไร และให้ผู้เรียนไปลองทำตามวิธีการเหล่านั้น ซึ่งมันอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ไม่รวดเร็วพอต่อยุคสมัย ดังนั้นผมอยากให้คนที่มาเข้าเรียนได้ทดลองทำจริงก่อน แล้วค่อยดูต่อว่าผลลัพธ์เป็นอย่างไร โดยเรามี Mentor ที่ผ่านประสบการณ์ล้มลุกเรียนรู้มาแล้ว คอยแนะนำว่าตรงไหนที่ดีแล้วต้องพัฒนาต่อ ตรงไหนที่ยังเป็นปัญหาต้องแก้ไข เพราะเราอยากให้พวกเขาได้เรียนรู้เองก่อนแล้วค่อยถามผู้เชี่ยวชาญ
“ธุรกิจต้องไม่ยึดติดกับความสำเร็จแบบเดิม เพราะคุณไม่รู้เลยว่าวันไหนจะมีคนรุ่นใหม่ที่เข้าใจพฤติกรรมลูกค้ามากกว่าเข้ามาเล่นในตลาดเดียวกัน และสามารถดิสรัปต์คุณได้ภายในระยะเวลาอันสั้นแบบที่คุณไม่เคยทำได้มาก่อน”
ตง: เราออกแบบการสอนเป็น 3P ได้แก่
People เน้นพัฒนาศักยภาพของผู้นำให้มี Mindset ที่พร้อมปรับตัวและเกิดวิสัยทัศน์ที่ไปต่อได้ในอนาคต รวมถึงเสริมทุกทักษะที่จำเป็นแก่การเสริมสร้างธุรกิจให้แข็งแกร่ง โดยเฉพาะเรื่องการสื่อสาร
Process หยิบยกวิธีการเติบโตแบบสตาร์ทอัพมาใช้กับ SMEs แบ่งขั้นตอนเป็น 1. Idea Validation เริ่มจากการระดมไอเดียให้ได้มากที่สุด เพื่อให้ผู้เรียนเห็นความเป็นไปได้ที่หลากหลาย 2. Product Market Fit ชวนคิดต่อว่าไอเดียที่ได้มาตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าและทิศทางของตลาดมากน้อยแค่ไหน 3. Solutions ท้ายสุดมาดูการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อให้เกิด Business Model ที่พร้อมจะดิสรัปต์ตลาด มีโอกาสเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป
Plot Priority กระบวนการสุดท้าย เราจะผลักดันให้สิ่งที่เขาคิดได้ออกมาทดลองจริงกับตลาด เพื่อให้เห็นโอกาสในการไปต่อ ถ้ามันมีความเป็นไปได้ คุณจะสามารถขยายธุรกิจ มองหาพาร์ตเนอร์ ทำให้สารตั้งต้นกลายเป็นไอเดีย 1+1 ต่อไปได้ ตรงกับทฤษฎี E=MC2 ที่เรายึดมั่น
ซึ่งกระบวนการสอนเป็น Project Base เกือบ 100% เรามีนักเรียน 40 คน แบ่งออกเป็น 10 กลุ่ม แต่เมื่อเริ่มหลักสูตรไปได้ 2-3 ครั้ง จาก 10 กลุ่ม 10 โปรเจกต์ นักเรียนเริ่มมองเห็นไอเดียความเป็นไปได้ใหม่ๆ จนรุ่นล่าสุดพวกเขาพัฒนากันไปเกิน 18 โปรเจกต์แล้ว
ไม่เน้น Connection เน้น Collaboration
ตี๋: หลักสูตร IBE คือห้องทดลองของ SMEs ปลายทางผมไม่ได้อยากเห็นแผนงาน แต่อยากเห็นสินค้าและบริการถือกำเนิดใหม่ ดังนั้นในครั้งที่ 5 ของการเรียน พวกเขาต้องมี Output นี้ออกมาให้เราได้ต่อยอดกันแล้ว
เนื่องจากพวกเรามี Ecosystem ที่แข็งแรง ทุกคนคอยให้คำปรึกษากันและกัน มันส่งผลดีต่อการทำธุรกิจอย่างที่ไม่มีใครคาดถึง ผมจึงอยากให้ผู้เรียนรู้สึกถึงบรรยากาศแบบนี้เช่นกัน ในการคัดสรรผู้สมัคร เราจึงเลือกจาก Business Model ของพวกเขา มากกว่าการเลือกกลุ่มธุรกิจที่จะสร้าง Connection กันอย่างเดียว เพราะเราเชื่อในการ Collaboration มันจะทำให้ SMEs เดินหน้าไปพร้อมกันได้อย่างยั่งยืน
นักเรียนของเรามีตั้งแต่เด็กรุ่นใหม่อายุ 22 ปี ไปจนถึงผู้บริหารรุ่นเก๋าวัย 65 ปี เราไม่เคยจำกัดเพศ วัย ศาสนา ภาษาของคนสมัคร เพราะเราเชื่อว่าการศึกษาที่ดีต้องเข้าถึงความหลากหลายให้ได้มากที่สุด
ท้ายสุดหากถามว่าหลังจบหลักสูตรนี้ผู้เรียนจะเปลี่ยนไปอย่างไร ผมตอบได้เลยว่า SMEs กลุ่มนี้จะมีนวัตกรรมเป็นของตนเอง พร้อม Unlearn ทุบแก้วสารพัดนึกของตัวเองและเรียนรู้สิ่งใหม่ เขาจะไม่ได้คำนึงถึงแค่การมุ่งหากำไรสูงสุด แต่ยังใส่ใจคนรอบข้าง ยกตัวอย่างเจ้าของร้านอาหารจีนชื่อดังที่มาเรียนกับเรา เขาตัดสินใจทำแพลตฟอร์มเพื่อช่วยธุรกิจโต๊ะจีน เพราะเขาเห็นว่าธุรกิจกลุ่มนี้ยังมีช่องว่างและไม่มีใครให้การสนับสนุน เขาจึงอยากทำตรงนี้
ผมเชื่อว่าถ้า SMEs เกิดธุรกิจสีขาว สีเขียว สีฟ้ามากขึ้น มันจะทำให้เกิดการจ้างงานมากขึ้น พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตผู้คนในสังคมได้ดียิ่งกว่าเดิม นี่คือสิ่งที่พวกเราอยากเห็นมากที่สุดในการทำหลักสูตรครั้งนี้