ถึงแม้ผู้ติดเชื้อโควิดในสหรัฐอเมริกาจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่รายวันเร็วๆ นี้มากกว่า 500,000 ราย ทำลายสถิติการระบาดระลอกที่ผ่านมา และสายพันธุ์โอไมครอนกลายเป็นสายพันธุ์หลักแล้ว แต่ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐฯ (CDC) กลับประกาศลดวันแยกกักตัวลงทั้งผู้ติดเชื้อและผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูง กล่าวคือ
ผู้ติดเชื้อทุกคน ไม่ว่าจะได้รับวัคซีนครบหรือไม่ จะแยกตัว (Isolation) อยู่บ้านเป็นเวลา 5 วัน หากไม่มีอาการหรืออาการดีขึ้นสามารถออกจากบ้านได้ โดยต้องสวมหน้ากากต่ออีก 5 วันเมื่อเข้าไปในที่ชุมชน แต่ถ้ายังมีไข้ ให้อยู่บ้านบ้านจนกว่าจะหายจากไข้ ทั้งนี้ไม่ต้องตรวจหาเชื้อซ้ำ เปรียบเทียบกับแนวทางเดิมคือต้องแยกตัวจนครบ 10 วัน
ผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูง จะแยกเป็น 2 กรณีคือ กรณีที่ 1 ได้รับเข็มกระตุ้น หรือเพิ่งได้รับวัคซีนครบ (ได้รับวัคซีนชนิด mRNA จำนวน 2 เข็มภายใน 6 เดือน หรือได้รับวัคซีน Johnson & Johnson จำนวน 1 เข็มภายใน 2 เดือน) ไม่ต้องแยกตัว แต่ต้องสวมหน้ากากเป็นเวลา 10 วันเมื่อเข้าไปในที่ชุมชน เท่ากับว่าสามารถไปเรียน/ทำงานได้ตามปกติ
กรณีที่ 2 ยังไม่ได้รับวัคซีน หรือได้รับวัคซีนครบมานานแล้วและย้งไม่ได้ฉีดเข็มกระตุ้น จะกักตัวที่บ้าน 5 วัน หลังจากนั้นสามารถออกจากบ้านได้ โดยต้องสวมหน้ากากต่ออีก 5 วันเมื่อเข้าไปในที่ชุมชน กรณีนี้คล้ายกับผู้ติดเชื้อ ซึ่งจำง่ายว่า 5+5 วัน แต่มีทางเลือกว่าหากไม่สามารถกักตัวได้ ต้องสวมหน้ากากเป็นเวลา 10 วันเมื่อเข้าไปในที่ชุมชนแทน
ทั้ง 2 กรณีควรตรวจหาเชื้อในวันที่ 5 ถ้าเป็นไปได้ และหากมีอาการต้องตรวจหาเชื้อและกักตัวจนกว่าจะทราบผลว่าเป็นลบ
CDC ระบุว่า การปรับปรุงแนวทางนี้อยู่บนหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่พบว่าผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่แพร่เชื้อในช่วงแรกคือ 1-2 วันก่อนมีอาการ และ 2-3 วันหลังจากเริ่มมีอาการ ดังนั้นผู้ที่ตรวจพบผลบวกควรแยกตัวเป็นระยะเวลา 5 วัน และหากไม่มีอาการก็สามารถสวมหน้ากากต่ออีก 5 วันเพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อแทน
ข้อมูลในแอฟริกาใต้และสหราชอาณาจักรพบว่าวัคซีนชนิด mRNA 2 เข็มมีประสิทธิผลป้องกันการติดเชื้อ 35% ในขณะที่เข็มกระตุ้นป้องกันเพิ่มขึ้นเป็น 75% และวัคซีนยังป้องกันอาการรุนแรง การรักษาตัวในโรงพยาบาล และการเสียชีวิต ดังนั้น CDC จึงสนับสนุนการฉีดวัคซีนในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 5 ขวบขึ้นไป และเข็มกระตุ้นสำหรับทุกคนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป
“การปรับปรุงคำแนะนำเกี่ยวกับการแยกกักตัวเป็นการสร้างสมดุลระหว่างสิ่งที่เรารู้เกี่ยวกับการระบาดของไวรัสกับการป้องกันที่ได้รับจากการฉีดวัคซีนและเข็มกระตุ้น” ดร.โรเชลล์ วาเลนสกี ผู้อำนวยการ CDC ระบุเหตุผลไว้ในแถลงการณ์ “การปรับเปลี่ยนครั้งนี้ช่วยให้ผู้คนสามารถใช้ชีวิตประจำวันต่อไปได้อย่างปลอดภัย”
ซึ่งสอดคล้องกับการให้สัมภาษณ์ของ ดร.แอนโทนี เฟาชี ที่ปรึกษาระดับสูงด้านโรคติดเชื้อของสหรัฐฯ ว่า “ด้วยผู้ป่วยรายใหม่จำนวนมากที่เรามีและที่คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นจากสายพันธุ์โอไมครอน สิ่งหนึ่งที่เราต้องระมัดระวังคือเราไม่ต้องการให้คนจำนวนมากหายไป เราต้องการดึงคนกลับเข้ามาทำงาน โดยเฉพาะงานที่จำเป็น เพื่อให้สังคมดำเนินไปอย่างราบรื่น”
สำหรับแนวทางของประเทศไทยในขณะนี้ยังไม่มีการลดวันแยกกักตัว โดยผู้ติดเชื้อจะต้องแยกตัวเป็นระยะเวลา 10 วันนับจากวันที่ตรวจพบเชื้อ หรือวันที่เริ่มมีอาการ
ส่วนผู้สัมผัสเสี่ยงสูงจะแบ่งเป็น 2 กรณี คือ ผู้ที่ได้รับวัคซีนครบ (ได้รับวัคซีนครบตามกำหนดตั้งแต่ 2 สัปดาห์ขึ้นไป) จะถูกคุมไว้สังเกต (Close Observation) งดออกจากบ้านโดยไม่จำเป็น 14 วัน ในขณะที่ผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนต้องกักตัวที่บ้าน (Home Quarantine) 14 วัน โดยทั้ง 2 กรณีจะต้องตรวจหาเชื้อด้วยวิธี PCR อย่างน้อย 1 ครั้ง หลังวันที่ 7 เป็นต้นไป
อ้างอิง:
- CDC Updates and Shortens Recommended Isolation and Quarantine Period for General Population https://www.cdc.gov/media/releases/2021/s1227-isolation-quarantine-guidance.html
- CDC shortens recommended Covid-19 isolation and quarantine time https://edition.cnn.com/2021/12/27/health/cdc-covid-quarantine-isolation-shortened-recommendation/index.html
- แนวทางเวชปฏิบัติการวินิจฉัย ดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ฉบับปรับปรุง วันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ.2564 https://covid19.dms.go.th/backend/Content/Content_File/Covid_Health/Attach/25641103093725AM_update-CPG_COVID_v19.5_n_02211102.pdf
- แนวทางการเฝ้าระวังและสอบสวนโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Coronavirus Disease 2019: COVID-19) กรมควบคุมโรค ฉบับวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2564 (ปรับปรุงวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2564) https://ddc.moph.go.th/viralpneumonia/file/g_srrt/g_srrt_221264.pdf