ถ้าถึงเวลาที่ต้องเกษียณอายุการทำงาน หลายคนคิดว่าจะทำอะไรดี บางคนอาจจะท่องเที่ยว, เลี้ยงนก, ปลูกต้นไม้, เลี้ยงหลาน, อยู่บ้านเฉยๆ หรือมีอย่างอื่นที่อยากทำมากกว่านี้ เพราะทันทีที่ก้าวเข้าสู่วัยเกษียณ นั่นหมายถึงการหยุดทำงานประจำและไม่มีรายได้หลักอีกต่อไป แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะหยุดใช้ชีวิต หยุดใช้เงิน เพราะทุกวันที่เหลืออยู่ก็ยังต้องกินต้องใช้ และยิ่งเรามีเป้าหมายในวัยเกษียณมากเท่าไร เราก็ยิ่งต้องใช้เงินมากขึ้นเท่านั้น ดังนั้นเราจึงควรเตรียมพร้อมสำหรับวัยเกษียณเพื่อไม่ให้เดือดร้อนในยามเกษียณได้ โดยสิ่งที่ควรคำนึงถึงหลักๆ ประกอบด้วย
- สุขภาพ เพราะสุขภาพดีต้องมาก่อนสิ่งอื่นใด ซึ่งนับว่ามีความสำคัญต่อคนวัยเกษียณเป็นอย่างมาก ควรดูแลสุขภาพของตนเองอย่างสม่ำเสมอ มีสุขลักษณะประจำตนที่ดี หมั่นสร้างกิจกรรมทำงานตลอดเวลา จะช่วยให้ชีวิตมีความยืนยาวขึ้น สำหรับวัยเกษียณควรหมั่นสังเกตความเปลี่ยนแปลงและอาการซึ่งเป็นสัญญาณเตือนต่างๆ เพื่อจะได้รีบปรึกษาแพทย์ บริโภคอาหารให้เหมาะกับวัย ออกกำลังกายให้เหมาะสมกับสภาพร่างกายของตน และทำจิตใจให้สดชื่นแจ่มใสอยู่เสมอ
- สังคม ไม่ควรแยกตัวออกจากสังคมหรือเก็บตัวเงียบอยู่แต่ในบ้าน ควรออกไปพบเจอเพื่อนฝูงและนัดสังสรรค์กันบ้างเพื่อให้ชีวิตสดชื่น และบางครั้งอาจจะต้องหางานอดิเรกทำ นอกจากนี้ การดำรงชีวิตกับครอบครัวก็สำคัญ ต้องสามารถดำรงชีวิตร่วมกับคนอื่นได้โดยเฉพาะคนหนุ่มสาว ไม่ควรวางตัวเป็นผู้ยิ่งใหญ่ในครอบครัวหรือหมู่คณะ และควรใช้เวลาให้เกิดประโยชน์กับคู่ครองและครอบครัวตนเอง โดยประพฤติปฏิบัติตนเป็นตัวอย่างที่ดีในครอบครัว ตั้งตนอยู่ในความถูกต้อง มีศีลธรรม และควรให้ผู้อื่นให้ความเคารพด้วยความสนิทใจ
- ค่าใช้จ่าย ในส่วนนี้ถือว่ามีความสำคัญไม่น้อย เพราะเมื่อเข้าสู่วัยเกษียณ รายได้ที่เคยมีเป็นกอบเป็นกำทุกเดือนก็จะลดน้อยลงไปกว่าช่วงทำงานมาก แต่รายจ่ายยังคงที่หรืออาจมีมากกว่าเดิม ซึ่งถ้ามีเงินไม่เพียงพออาจทำให้เครียดและส่งผลกระทบถึงเรื่องอื่นได้ ดังนั้นจึงต้องให้ความสำคัญในส่วนนี้มากๆ เพื่อให้พอใช้จ่ายในยามเกษียณ
สำหรับการออมเพื่อการเกษียณนั้นมีหลากหลายรูปแบบ วันนี้ขอยกตัวอย่างแหล่งผลิตภัณฑ์การลงทุนเพื่อเป็นแนวทาง ดังนี้
- ประกันแบบบำนาญ ซึ่งจะช่วยให้เรามีรายได้อย่างต่อเนื่องจนกว่าจะเสียชีวิต โดยผู้เอาประกันจะต้องออมเงินด้วยการชำระเบี้ยประกันตามระยะเวลาที่กรมธรรม์ระบุ และผู้เอาประกันจะได้รับเงินเป็นรายงวดนับตั้งแต่วันที่เกษียณอายุ ไปจนถึงอายุสูงสุดที่กรมธรรม์ได้กำหนดไว้ตามเงื่อนไข โดยผู้เอาประกันสามารถที่จะออกแบบได้ว่าตนเองต้องการเงินในแต่ละงวดเท่าไรเพื่อนำไปใช้ในช่วงหลังเกษียณ ทำให้ผู้เอาประกันสามารถที่จะมั่นใจได้ว่าในช่วงวัยหลังเกษียณจะมีรายได้ที่แน่นอนจำนวนหนึ่งเข้ามาอย่างสม่ำเสมอ โดยที่ไม่ขึ้นอยู่กับสภาวะเศรษฐกิจและสภาวะตลาด
- กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ/กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ทั้ง 2 ประเภทนี้มีลักษณะเหมือนกัน ต่างกันที่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพมีนายจ้างเป็นเอกชน และสามารถเลือกสะสมได้ตั้งแต่ 2-15% ของเงินเดือน โดยนายจ้างจะสมทบให้อีกตามเงื่อนไขของนายจ้าง นอกจากนี้ หากเราย้ายไปทำงานที่ไม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือลาออกไปทำอาชีพอิสระก่อนอายุ 55 ปี ไปจนถึงกรณีที่นายจ้างเลิกกิจการ เราก็ยังสามารถออมต่อเนื่องและได้สิทธิประโยชน์ทางภาษี โดยโอนเงินไปยังกองทุนรวมที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อรองรับเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพโดยเฉพาะ ตามที่เรียกกันว่า RMF for PVD ส่วนกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการมีภาครัฐเป็นนายจ้าง สะสมในอัตราร้อยละ 3 ของเงินเดือน นอกจากนี้ สมาชิกยังสามารถเลือกสะสมส่วนเพิ่มได้ตั้งแต่ร้อยละ 1-12 ซึ่งต้องเป็นตัวเลขจำนวนเต็มไม่มีจุดทศนิยม (เมื่อรวมกับเงินสะสมปกติแล้วจะไม่เกินร้อยละ 15) โดยนายจ้างจะสมทบให้ 3% ของเงินเดือน
- กองทุนรวม ปัจจุบันมีให้นักลงทุนได้เลือกลงทุนหลากหลายสินทรัพย์ ไม่ว่าจะเป็นตราสารหนี้หรือหุ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงสินทรัพย์ทางเลือก โดยนักลงทุนควรคำนึงถึงระดับความเสี่ยงที่รับได้เพื่อผลตอบแทนที่ดียิ่งขึ้นในอนาคต อย่างไรก็ตาม นอกจากการเลือกลงทุนในผลิตภัณฑ์นั้นๆ แล้ว การทยอยลงทุน หรือที่เรียกว่า Dollar Cost Average (DCA) ก็จะช่วยลดความเสี่ยงจากการจับจังหวะการลงทุนได้ด้วย
- Super Saving Fund (SSF) เป็นกองทุนรวมเพื่อการออม มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว ทั้งยังได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี และมีนโยบายการลงทุนให้เลือกหลากหลาย สามารถลงทุนได้ไม่เกิน 30% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท (เมื่อรวมกับ RMF, กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กบข., กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) และประกันบำนาญแล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท) และต้องถือครองไม่น้อยกว่า 10 ปีบริบูรณ์ นับจากวันที่ซื้อ (นับแบบวันชนวัน) สามารถลงทุนเป็นรายปีได้ไม่จำเป็นต้องลงทุนต่อเนื่องทุกปี เหมาะสำหรับผู้เริ่มทำงานถึงอายุ 45 ปี
- Retirement Mutual Fund (RMF) มีลักษณะคล้ายกลับ SSF โดยได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเช่นกัน มีนโยบายการลงทุนให้เลือกหลากหลาย แต่ลงทุนได้ไม่เกิน 30% ของรายได้และต้องไม่เกิน 500,000 บาท (รวมกับ SSF, กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กบข., กองทุนการออมแห่งชาติ, กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายของโรงเรียนเอกชน และประกันบำนาญ) ต้องถือครองจนอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และลงทุนมาครบ 5 ปีบริบูรณ์ โดยต้องลงทุนต่อเนื่องทุกปี หรือปีเว้นปี เหมาะสำหรับผู้มีเงินได้ที่มีอายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับเป้าหมายทางการเงินของแต่ละบุคคล
อย่างไรก็ดี การวางแผนทางการเงินเพื่อชีวิตยามเกษียณควรวางแผนกันตั้งแต่เนิ่นๆ ยิ่งเร็วยิ่งดี อย่าปล่อยให้เวลาล่วงผ่านเลยไปจนเก็บออมหรือลงทุนไม่ทัน ซึ่งจะทำให้ไม่เพียงพอใช้จ่ายในยามเกษียณได้ ทั้งนี้ สำหรับนักลงทุนที่สนใจลงทุนในกองทุนประเภท SSF และ RMF ทาง บลจ.ไทยพาณิชย์ ได้มีโอกาสนำเสนอสินทรัพย์การลงทุนในกองทุนประเภทนี้สูงสุดถึง 50 กองทุน เพื่อเป็นทางเลือกให้กับนักลงทุนที่ต้องการทางเลือกที่หลากหลาย ตอบโจทย์ทุกสินทรัพย์ ครบจบในที่เดียว