×

‘โอไมครอน’ ระบาดเร็วขึ้น ความรุนแรงลดลงจริงหรือไม่?

13.12.2021
  • LOADING...

“โอไมครอนแพร่เชื้อเร็วกว่า 2-5 เท่า อาการคล้ายไข้หวัด แต่ความรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์อื่น” การสื่อสารของกรมควบคุมโรคเกี่ยวกับสายพันธุ์โอไมครอนในสัปดาห์ที่ผ่านมาค่อนข้างมองโลกในแง่ดี โดยเน้นย้ำในการแถลงข่าวผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอนรายแรกในประเทศเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2564 ว่า “ยังไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อโอไมครอนเสียชีวิต” ทำให้ความตื่นตระหนกของประชาชนลดลงอย่างเห็นได้ชัด 

 

ขณะเดียวกันนักวิชาการบางท่านยังคาดการณ์ว่า สายพันธุ์โอไมครอนจะเปรียบเสมือน ‘วัคซีนชนิดเชื้อเป็น’ เพราะในการผลิตวัคซีนชนิดเชื้อเป็นจะต้องทำให้ไวรัสอ่อนฤทธิ์ลงก่อน แต่สายพันธุ์นี้กลับอ่อนฤทธิ์ลงตามธรรมชาติ และแพร่ระบาดได้เร็วขึ้นจนอาจแทนที่สายพันธุ์เดลตาในที่สุด ทว่า ข้อมูลอะไรที่บอกว่าสายพันธุ์นี้มีความรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์อื่น หรือ ‘ยังเร็วเกินไปที่จะสรุป’ 

 

ผู้ติดเชื้อในแอฟริกาใต้ ‘ช่วงแรก’ ไม่มีอาการรุนแรง

ข้อมูลแรกที่ระบุว่าผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอนมีอาการไม่รุนแรงมาจาก พญ.แอนเจลีก โคเอตซี ประธานแพทยสมาคมแห่งแอฟริกาใต้ (South African Medical Association) ที่ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว BBC เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2564 ว่า ในวันที่ 18 พฤศจิกายน เธอสังเกตว่าผู้ป่วยจำนวนหนึ่งรายที่มารักษาที่คลินิกของเธอมีอาการ ‘น้อยมาก’ ซึ่งต่างจากสายพันธุ์เดลตา

 

ผู้ป่วยรายแรกมาพบเธอด้วยอาการอ่อนเพลียมากมา 2 วัน ปวดศีรษะและปวดตามตัว ซึ่งคล้ายกับการติดเชื้อไวรัสทั่วไป เนื่องจากไม่พบผู้ป่วยโควิดมา 8-9 สัปดาห์แล้ว เธอจึงตัดสินใจตรวจหาเชื้อเลยพบว่า เขาและคนอื่นในครอบครัวมีผลการตรวจเป็นบวก ในวันเดียวกันก็มีผู้ป่วยเข้ามาตรวจเพิ่มอีกด้วยอาการคล้ายกัน เธอรับรู้ว่ามีบางอย่างที่ผิดปกติและแจ้งให้ทางการทราบ

 

“ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการน้อยมากๆ และยังไม่มีใครต้องนอนรักษาในโรงพยาบาล เราสามารถรักษาผู้ป่วยเหล่านี้ได้ที่บ้าน” เธอกล่าว โดยจากประสบการณ์ของเธอ ผู้ติดเชื้อโอไมครอนส่วนใหญ่อายุน้อยกว่า 40 ปี และครึ่งหนึ่งไม่ได้รับการฉีดวัคซีน อย่างไรก็ตาม เธอได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว The Telegraph เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน ว่าสิ่งที่เธอกังวลคือ ถ้าผู้สูงอายุติดเชื้อสายพันธุ์นี้อาจมีอาการรุนแรงได้

 

ถ้าอ่านข่าวนี้เพียงข่าวเดียวยังไม่ควรสรุปว่าสายพันธุ์โอไมครอนมีความรุนแรงลดลง เพราะเป็นข้อมูลจากแพทย์เพียงท่านเดียว และเป็นข้อมูลจากคลินิกเอกชน ซึ่งจำนวนกลุ่มตัวอย่างน้อย และผู้ป่วยที่ไปรักษาที่คลินิกน่าจะเป็นกลุ่มที่มีอาการไม่หนักอยู่แล้ว (ส่วนผู้ป่วยกลุ่มที่มีอาการหนักมักไปรับการรักษาที่โรงพยาบาล) นอกจากนี้ผู้ป่วยส่วนใหญ่ยังเป็นวัยที่มีความเสี่ยงต่ำต่ออาการรุนแรง

 

ผู้ป่วยมี ‘อาการรุนแรง’ แต่สัดส่วนต่ำกว่าระลอกก่อนหน้า

ดังนั้นจึงต้องรอข้อมูลที่เก็บอย่างเป็นระบบหรืออาศัยข้อมูลในภาพรวมเพิ่มเติม ซึ่งข้อมูลในระดับประเทศจากเว็บไซต์ Worldometer พบว่า ถึงแม้จำนวนผู้ติดเชื้อในแอฟริกาใต้จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงครึ่งหลังของเดือนพฤศจิกายน ซึ่งปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เฉลี่ย 7 วันย้อนหลังประมาณ 15,000 รายต่อวัน แต่จำนวนผู้เสียชีวิตอยู่ในระดับต่ำประมาณ 20 รายต่อวัน และคงที่มาตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายน

 

ส่วนในระดับเมือง ข้อมูลจากสถาบันโรคติดต่อแห่งชาติแอฟริกาใต้ (NICD) ระบุว่า ในเมืองชเวน ซึ่งเป็นศูนย์กลางการระบาดในครั้งนี้ ระหว่างวันที่ 14 พฤศจิกายน – 8 ธันวาคม 2564 มีสัดส่วนผู้ป่วยรักษาตัวในโรงพยาบาลน้อยกว่า 1 ใน 3 ของผู้ติดเชื้อทั้งหมด (31%) ซึ่งต่ำกว่าในการระบาดสองระลอกที่ผ่านมาที่มีสัดส่วนผู้ป่วยรักษาตัวในโรงพยาบาลประมาณ 2 ใน 3 (66-67%)

 

“ขณะนี้เป็นช่วงเริ่มต้น แต่มีแนวโน้มว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง” โจ ฟาอาห์ลา รัฐมนตรีสาธารณสุขแอฟริกาใต้ กล่าวในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2564 และตั้งข้อสังเกตว่า ข้อมูลเกี่ยวกับความรุนแรงมีข้อจำกัดหลายประการในระยะแรกของการระบาด ซึ่งมีจำนวนผู้ติดเชื้อน้อย และผู้ติดเชื้อหลายรายตรวจพบหลังจากการรักษาตัวในโรงพยาบาลด้วยสาเหตุอื่น 

 

ขณะเดียวกัน นพ.แอนโทนี เฟาชี ที่ปรึกษาระดับสูงด้านโรคติดเชื้อของสหรัฐอเมริกา ได้ให้สัมภาษณ์สำนักข่าว CNN เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2564 ถึงสถานการณ์ในแอฟริกาใต้ ว่า “ชัดเจนว่าสายพันธุ์ใหม่แพร่กระจายเร็ว ถึงแม้ว่าจะยังเร็วเกินไปที่จะสรุป แต่จนถึงขณะนี้ดูเหมือนว่าจะไม่มีระดับความรุนแรงมากนัก” นั่นคือผู้เชี่ยวชาญของสหรัฐฯ ก็เห็นว่าสายพันธุ์นี้ไม่แย่อย่างที่กังวลกัน

 

ถ้าระบาดเร็ว ‘สัดส่วน’ ที่น้อยจะกลายเป็น ‘จำนวน’ ที่มาก

ข่าวถัดมาเป็นรายงานจากสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2564 ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) เผยแพร่ผลการศึกษาผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอนกลุ่มแรกในสหรัฐฯ จำนวน 43 ราย พบว่า ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่มีอาการเล็กน้อย เช่น ไอ น้ำมูกไหล และมีเพียง 1 รายต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล แต่มีข้อสังเกตว่า ผู้ติดเชื้อเกินครึ่ง (58%) อายุ 18-39 ปี และส่วนใหญ่ (80%) เคยได้รับวัคซีนแล้ว

 

CDC อภิปรายในตอนท้ายของรายงานว่า ผู้ติดเชื้อทุกสายพันธุ์จะมีระยะเวลาในการดำเนินโรคระหว่างการติดเชื้อกับผลลัพธ์ที่รุนแรง ผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้วหรือเคยติดเชื้อมาก่อนน่าจะมีความรุนแรงน้อยกว่าผู้ที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีน ลักษณะของกลุ่มตัวอย่างในรายงานนี้อาจไม่สะท้อนลักษณะของประชากรโดยทั่วไป เพราะผู้ที่มีประวัติเดินทางมาจากต่างประเทศมักมีอายุน้อยและได้รับวัคซีนแล้ว

 

ความเข้าใจเกี่ยวกับความรุนแรงของสายพันธุ์นี้จะเพิ่มขึ้นเมื่อจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น และที่สำคัญ “ถึงแม้ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่จะมีอาการน้อย แต่สายพันธุ์ที่แพร่เชื้ออย่างรวดเร็วอาจส่งผลให้มีจำนวนผู้ป่วยมากเกินศักยภาพของระบบสาธารณสุข” CDC ระบุ ดังนั้นจึงไม่อาจชะล่าใจด้วยการคาดหวังกรณีที่ดีที่สุด (Hope for the Best) แต่ต้องเตรียมความพร้อมสำหรับกรณีที่เลวร้ายที่สุดไว้ด้วย (Prepare for the Worst)

 

มาตรการที่ CDC ใช้ในการชะลอการระบาด ได้แก่ 

  1. การตรวจจับสายพันธุ์ เฝ้าระวังเพื่อตรวจจับสายพันธุ์ได้รวดเร็ว 
  2. การชะลอการระบาดจากต่างประเทศ ลดความเสี่ยงโดยการตรวจเชื้อก่อนเดินทางมาสหรัฐฯ และเพิ่มการตรวจเชื้อเมื่อเดินทางมาถึง
  3. การชะลอการระบาดภายในประเทศ จัดลำดับความสำคัญในการสอบสวนโรคและติดตามผู้สัมผัส
  4. การสนับสนุนการป้องกันตัวส่วนบุคคล ได้แก่ ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น สวมหน้ากากภายในอาคารและสถานที่แออัด ตรวจหาเชื้อและแยกกักตัว

 

‘ไวรัส’ ไม่ได้สนใจอาการอย่างที่ ‘มนุษย์’ คิด

ความเชื่อที่อาจทำให้ประเมินสายพันธุ์ใหม่ต่ำเกินไปคือ “เมื่อไวรัสแพร่กระจายเร็วขึ้น จะมีความรุนแรงลดลง” หรือในทางกลับกัน “เมื่อไวรัสมีความรุนแรงลดลง จะทำให้แพร่กระจายมากขึ้น” หรือในท้ายที่สุดแล้ว “ไวรัสจะพัฒนาการเพื่อให้มีผู้ติดเชื้อจำนวนมากและสามารถระบาดต่อไปได้” ถึงแม้สมมติฐานนี้จะน่าสนใจ แต่ ดร.แอนดรูว์ เพคอสซ์ นักไวรัสวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยจอนส์ฮอปกินส์ กลับเห็นว่า

 

“นี่ไม่ใช่สิ่งที่ไวรัสสนใจ” เขาระบุไว้ในบทความใน The New York Times เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2564 ไวรัสไม่สนใจว่าใครจะติดเชื้อ จะติดเชื้อนานเท่าไร หรือจะมีอาการอย่างไร แต่สิ่งที่ไวรัสต้องการคือหาเจ้าบ้านใหม่ที่สามารถแพร่ต่อไปได้เท่านั้น เพราะไวรัสไม่ได้มีความคิดขั้นสูงและการกลายพันธุ์เกิดขึ้นแบบสุ่ม ส่วนอาการเป็นผลที่ตามมาอีกที โดยอาจรุนแรงมากขึ้นหรือลดลงจากก่อนที่จะกลายพันธุ์ก็ได้

 

อาการของโรคเป็นผลมาจากการทำลายเซลล์เจ้าบ้านหลังจากที่ไวรัสเพิ่มจำนวนและกระตุ้นให้เกิดอาการไอ จาม ละอองสารคัดหลั่งที่มีไวรัสอยู่จึงกระเด็นออกไป ผู้ติดเชื้อบางส่วนแพร่เชื้อตั้งแต่ก่อนมีอาการ (Asymptomatic/Presymptomatic transmission) เพราะการพูดหรือตะโกนก็สามารถกระจายเชื้อได้ กว่าผู้ติดเชื้อจะมีอาการทรุดหนักลง ไวรัสก็สามารถแพร่เชื้อต่อไปยังเจ้าบ้านรายใหม่เรียบร้อยแล้ว

 

การกลายพันธุ์ที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่า ถึงแม้ไวรัสจะแพร่กระจายเร็วขึ้น แต่ความรุนแรงไม่ได้ลดลงเลย ค่าการระบาด (R) ของสายพันธ์ุดั้งเดิมเท่ากับ 2-3 สายพันธ์ุอัลฟาเพิ่มเป็น 4-5 สายพันธุ์เดลตาเพิ่มอีกเป็น 5-8 ในขณะที่สายพันธุ์อัลฟารุนแรงกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม >50% และสายพันธุ์เดลตาก็รุนแรงกว่าสายพันธุ์อัลฟา >100% ดังนั้นความเชื่อ/สมมติฐานนี้จึงไม่ได้เป็นจริงเสมอไป

 

ความรุนแรงลดลง เพราะคนมีภูมิคุ้มกัน

“โควิดจะลดความรุนแรงลงเมื่อเวลาผ่านไปหรือไม่? คำตอบคือน่าจะใช่ แต่อาจไม่เกี่ยวกับการที่ไวรัสพัฒนาการให้มีอาการลดลง” ดร.แอนดรูว์ ระบุ เพราะนักวิทยาศาสตร์ทราบแล้วว่า อย่างน้อยการติดเชื้อในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันมาก่อน ทั้งจากที่เคยติดเชื้อตามธรรมชาติหรือการฉีดวัคซีนจะทำให้ความรุนแรงของโรคลดลง และผลจากทั้งคู่ทำให้เกิดภูมิคุ้มกันในระดับประชากร

 

ภูมิคุ้มกันนี้อาจไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้สมบูรณ์ แต่อาจทำให้ปริมาณไวรัสและระยะเวลาการติดเชื้อลดลง ส่งผลให้อาการของโรคลดลง ส่วนการป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอนอาจต้องการระดับภูมิคุ้มกันที่สูงมากกว่าที่เคยใช้ในการป้องกันสายพันธุ์ก่อนหน้า ซึ่งภูมิคุ้มกันนี้สามารถสร้างขึ้นจากการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นตามที่มีรายงานการทดสอบระดับภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์นี้เมื่อเร็วๆ นี้

 

อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผู้ติดเชื้อในแอฟริกาใต้ในช่วงแรกไม่มีอาการรุนแรงคือ แอฟริกาใต้เพิ่งมีการระบาดของสายพันธุ์เดลตา ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่อาจมีภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อตามธรรมชาติที่สูงระดับหนึ่ง เมื่อติดเชื้อซ้ำอาการจึงไม่รุนแรง ถึงแม้อัตราการฉีดวัคซีนจะไม่สูงมากก็ตาม ดังนั้นการอ้างอิงข้อค้นพบจากประเทศใดประเทศหนึ่งจะต้องคำนึงถึงบริบทของพื้นที่นั้นๆ ด้วย

 

โดยสรุป ข้อมูลในปัจจุบันยังไม่เพียงพอที่จะทำให้มั่นใจว่าสายพันธุ์โอไมครอนมีความรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์ก่อนหน้า เพราะยังเป็นช่วงแรกของการระบาด และบริบทในแต่ละประเทศต่างกัน เราจึงต้องไม่ชะล่าใจกับการระบาดของสายพันธุ์นี้ด้วยการป้องกันตัวส่วนบุคคล ส่วนรัฐจะต้องเฝ้าระวังสายพันธุ์อย่างเข้มข้นทั้งในผู้เดินทางจากต่างประเทศและพื้นที่ท่องเที่ยว รวมถึงฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้ทันเวลา

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising