×

Cowboy Bebop กับ 6 เรื่องราวที่จะทำให้คุณได้รู้จักกับแก๊งนักล่าค่าหัวสุดป่วนมากยิ่งขึ้น

08.11.2021
  • LOADING...
Cowboy Bebop

*บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของอนิเมะ Cowboy Bebop*

 

เหลือเวลาอีกไม่นานแล้วที่เราจะได้ออกเดินทางสู่อวกาศไปกับแก๊งนักล่าค่าหัวสุดวายป่วงใน Cowboy Bebop ฉบับซีรีส์ไลฟ์แอ็กชันที่ดัดแปลงมาจากอนิเมะยอดฮิตในวันที่ 19 พฤศจิกายนนี้ ทาง Netflix

 

เพื่อเป็นการอุ่นเครื่องก่อนไปออกล่าอาชญากรตัวร้ายพร้อมกับ Spike Spiegel และพรรคพวก THE STANDARD POP ถือโอกาสรวบรวม 6 เรื่องราวจาก Cowboy Bebop ฉบับอนิเมะที่ออกฉายในปี 1998 และฉบับซีรีส์ไลฟ์แอ็กชัน เพื่อชวนทุกคนมาทำความรู้จักกับแก๊งนักล่าค่าหัวกลุ่มนี้ให้มากยิ่งขึ้น  

 

และสำหรับใครที่ยังไม่เคยได้สัมผัสกับ Cowboy Bebop ฉบับอนิเมะมาก่อน ทาง Netflix ได้นำ Cowboy Bebop ฉบับอนิเมะทั้ง 26 ตอนกลับมาให้คออนิเมะได้ชมอีกครั้ง  

 

รับชมตัวอย่าง Cowboy Bebop ฉบับซีรีส์ไลฟ์แอ็กชันได้ที่นี่ 

 

 

 

1. Cowboy Bebop เรื่องราวของแก๊งนักล่าค่าหัวที่ต้องเผชิญหน้ากับอดีตอันขมขื่น

 

Cowboy Bebop คืออนิเมะแนว Sci-Fi ที่ผลิตโดยสตูดิโอ Sunrise และเริ่มออกฉายครั้งแรกในปี 1998-1999 ความยาวทั้งหมด 26 ตอน กำกับโดย ชินิจิโระ วาตานะเบะ ผู้เป็นหนึ่งในทีมผู้กำกับจากภาพยนตร์อนิเมะ Macross Plus (1995) พร้อมด้วย เคโกะ โนบุโมโตะ จาก Macross Plus มาร่วมเป็นหนึ่งในทีมเขียนบท รวมถึงได้ ยูโกะ คันนะ คอมโพสเซอร์มากฝีมือมารับหน้าที่ประพันธ์เพลงประกอบ

 

อนิเมะบอกเล่าเรื่องราวของโลกอนาคตในปี 2071 ของนักล่าค่าหัว 3 คนอย่าง Spike Spiegel, Jet Black และ Faye Valentine ที่รวมตัวกันเพื่อออกล่าอาชญากรตัวร้ายไปทั่วอวกาศด้วยยานอวกาศ Bebop เพื่อแลกกับค่าตอบแทนที่สมน้ำสมเนื้อ โดยมี Edward เด็กอัจฉริยะ และ Ein หมาคอร์กี้คอยติดสอยห้อยท้ายไปด้วย ขณะเดียวกันพวกเขาก็ต้องเผชิญกับเรื่องราวในอดีตของตัวเองที่คอยตามหลอกหลอนอยู่ตลอดเวลา  

 


 

 

2. สไตล์การนำเสนอที่อยากให้ผู้ชมรู้สึกเหมือนกำลังชมภาพยนตร์สั้นเรื่องหนึ่ง

 

แรกเริ่มเดิมที Cowboy Bebop มีแผนที่จะถูกสร้างเป็นภาพยนตร์ขนาดยาว ก่อนที่ในเวลาต่อมาจะได้รับการต่อยอดเป็นอนิเมะซีรีส์ความยาว 26 ตอน ทางผู้กำกับ ชินิจิโระ วาตานะเบะ และทีมสร้างจึงตั้งใจที่จะนำเสนอเรื่องราวในแต่ละตอนให้เป็นเหมือนภาพยนตร์สั้นเรื่องหนึ่ง มีเนื้อหาที่จบในตอน ไม่ได้มีส่วนเชื่อมโยงกันมากนัก เพื่อให้ผู้ชมได้รับประสบการณ์ในการชมอนิเมะเรื่องนี้ เหมือนกำลังชมภาพยนตร์สั้นตามความตั้งใจแรก

 


 

 

3. Spike Spiegel จุดศูนย์กลางแห่งโลกคาวบอยอวกาศ

 

ชินิจิโระ วาตานะเบะ ได้เริ่มต้นการสร้างอนิเมะ Cowboy Bebop จากการสร้างสรรค์ตัวละครหลักของเรื่องอย่าง Spike Spiegel เป็นอันดับแรก โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากนักแสดงชื่อดังอย่าง ยูซาคุ มัตสึดะ จากละครโทรทัศน์เรื่อง Tantei Monogatari (1979) และเริ่มออกแบบคาแรกเตอร์และเรื่องราวเบื้องหลังของเขาเพื่อใช้เป็นรากฐานในการสร้างโลกของ Cowboy Bebop ให้กว้างใหญ่ขึ้น ก่อนที่จะออกแบบคาแรกเตอร์ตัวละครอื่นๆ ตามมา

 

นอกจากนี้ ศิลปะการต่อสู้ที่ Spike Spiegel ใช้ภายในเรื่องยังได้รับแรงบันดาลใจมาจากศิลปะการต่อสู้แบบ Jeet Kune Do (JKD) ของแอ็กชันสตาร์ระดับตำนานอย่าง Bruce Lee ซึ่งทางผู้กำกับและทีมสร้างยังได้สร้างฉากแอ็กชันในตอนที่ 2 Stray Dog Strut ที่ Spike Spiegel ต้องเผชิญหน้ากับอาชญากร Abdul Hakim เพื่อเป็นการเคารพแก่ภาพยนตร์เรื่อง Game of Death (1978) ในฉากการต่อสู้ระหว่าง Bruce Lee และ Kareem Abdul-Jabbar อีกด้วย 

 


 

 

4. Cowboy Bebop ถูกเซนเซอร์ในญี่ปุ่นอย่างหนัก เนื่องจากมีเนื้อหาที่ไม่เหมาะสำหรับเด็ก

 

Cowboy Bebop เป็นอนิเมะที่มีส่วนผสมระหว่างแนว Western, Sci-Fi และ Neo Noir รวมถึงมีการนำเสนอเนื้อหาและภาพที่ค่อนข้างรุนแรง ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ใหญ่มากกว่าที่จะเป็นอนิเมะสำหรับเด็กๆ จึงส่งผลให้ในช่วงเวลาที่อนิเมะเรื่องนี้ออกฉายทางโทรทัศน์ญี่ปุ่นมักจะถูกเซนเซอร์เนื้อหาอย่างหนัก และถูกลดทอนการฉายให้เหลือเพียง 13 ตอนจากความยาวทั้งหมด 26 ตอน ก่อนที่ในปี 1999 ทางบริษัท WOWOW จะนำอนิเมะ Cowboy Bebop ทั้ง 26 ตอนกลับมาฉายทางช่องของตนเองอีกครั้ง  

 

ไม่ใช่แค่ในญี่ปุ่นเท่านั้น Cowboy Bebop ยังเป็นอนิเมะเรื่องแรกที่ถูกนำมาฉายทาง Adult Swim หนึ่งในรายการของช่องโทรทัศน์ Cartoon Network ซึ่งจะนำการ์ตูนที่มีเนื้อหาที่เหมาะสำหรับผู้ใหญ่มาฉายในช่วงหัวค่ำอีกด้วย  

 


 

 

5. อัดแน่นด้วย Easter Egg จากภาพยนตร์สุดคลาสสิก

 

นอกจากเนื้อเรื่องที่เข้มข้นจริงจังและคาแรกเตอร์อันโดดเด่น อีกหนึ่งมนต์เสน่ห์ของ Cowboy Bebop ที่ผู้ชมต่างหลงใหล คือการที่ทีมสร้างมักจะสอดแทรก Easter Egg เกี่ยวกับภาพยนตร์คลาสสิกไว้ให้ผู้ชมได้ร่วมตามหามากมาย

 

เช่น ในตอนที่ 11 Toys in the Attic ที่บอกเล่าเรื่องราวของสิ่งมีชีวิตปริศนาได้แอบเข้ามาบนยาน Bebop และลอบทำร้ายสมาชิกในยานไปทีละคน จนเหลือเพียง Spike Spiegel ที่ต้องทำทุกวิถีทางเพื่อขับไล่สิ่งมีชีวิตปริศนาตัวนั้นออกไปจากยานให้ได้ โดยเนื้อหาในตอนนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากภาพยนตร์ Sci-Fi ระดับตำนานอย่าง Alien ของผู้กำกับ Ridley Scott ในปี 1979 และ Aliens ของผู้กำกับ James Cameron ในปี 1986 

 

หรือในตอนที่ 15 My Funny Valentine ซึ่งเป็นตอนที่เปิดเผยเรื่องราวในอดีตของ Faye Valentine ที่ต้องนอนจำศีลอยู่ในแคปซูลแช่แข็งมานานกว่า 50 ปี โดยในบริเวณแคปซูลแช่แข็งของ Faye Valentine จะมีรหัสที่เขียนว่า NCC-1701-B ซึ่งหากใครที่เป็นแฟนคลับตัวยงของซีรีส์ Sci-Fi สุดคลาสสิกอย่าง Star Trek ก็คงจะทราบทันทีว่ามันคือรหัสของยาน USS Enterprise 

 

รวมถึงตอนที่ 22 Cowboy Funk ในช่วงขั้นระหว่างโฆษณา โลโก้ของ Cowboy Bebop ที่ปรากฏขึ้นมาในตอนนี้ ได้รับแรงบันดาลใจมาจากโลโก้ของ Flash Gordon (1980) ภาพยนตร์แนวโอเปราอวกาศของผู้กำกับ Mike Hodges 

 

อีกหนึ่ง Easter Egg ที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ ทางทีมสร้างได้แอบใส่ชื่อของ Babe Ruth นักกีฬาอเมริกันฟุตบอลชื่อดังลงไปในตอนที่ 19 Wild Horses โดยเป็นเหตุการณ์ที่ Spike Spiegel และพรรคพวกกำลังไล่ตามจับอาชญากรปล้นเครื่องบินสามคน ที่มีชื่อว่า George, Harman และ Ruth ซึ่งมีที่มาจากชื่อจริงของ Babe Ruth อย่าง George Herman Ruth

 

อ่านบทความ Cowboy Bebop กับชื่อตอนที่ได้แรงบันดาลใจจากชื่อเพลงและอัลบั้มของศิลปินยอดฮิต ต่อได้ที่นี่: https://thestandard.co/cowboy-bebop-2/

 


 

 

6. Cowboy Bebop ฉบับซีรีส์ไลฟ์แอ็กชันที่คับคั่งไปด้วยนักแสดงมากเสน่ห์

 

สำหรับ Cowboy Bebop ฉบับซีรีส์ไลฟ์แอ็กชันจาก Netflix มีความยาวทั้งหมด 10 ตอน โดยได้นักแสดงหนุ่มมาดเท่อย่าง John Cho จาก Star Trek (2009) และ Searching (2018) มาสวมบทเป็น Spike Spiegel พร้อมด้วย Mustafa Shakir จากซีรีส์ Luke Cage (2016) มารับบทเป็น Jet Black และ Daniella Pineda จาก Jurassic World: Fallen Kingdom (2018) มารับบทเป็น Faye Valentine

 

ด้านทีมงานเบื้องหลังได้ Alex Garcia Lopez จากซีรีส์ Daredevil (2018) และ Michael Katleman จากซีรีส์ Life on Mars (2009) มานั่งแท่นผู้กำกับ รวมถึงได้ ชินิจิโระ วาตานะเบะ ผู้กำกับอนิเมะในฉบับปี 1998 มารับหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้กับซีรีส์เรื่องนี้ พร้อมด้วย ยูโกะ คันนะ คอมโพเซอร์ผู้ประพันธ์ดนตรีประกอบอนิเมะเวอร์ชันต้นฉบับจะกลับมารับหน้าที่ประพันธ์เพลงประกอบให้เช่นกัน

 

ภาพประกอบ: เทียนจรัส วงศ์พิเศษกุล

อ้างอิง

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X