×

เมื่อ NASA ‘เงินไม่พอ’ จึงเลือกจับมือแค่ SpaceX เพียงรายเดียว ส่วน Blue Origin หันไปพึ่งศาล โดยย้ำถึงความไม่เป็นธรรม และไม่ส่งเสริมการแข่งขัน

05.11.2021
  • LOADING...
NASA

เกิดความไม่ลงรอย เมื่อ NASA เลือกจับมือกับ SpaceX เพียงบริษัทเดียว ซึ่งแต่เดิมนั้น เจฟฟ์ เบโซส์ และ อีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีทั้ง 2 คน ต่างต้องการให้บริษัทของตัวเองเป็นบริษัทหลักในแผนการส่งนักบินอวกาศไปยังดวงจันทร์ของ NASA หรือ Human Landing System (HLS) แต่ทาง NASA มีเงินไม่เพียงพอ และสามารถจ่ายได้แค่เพียงบริษัทเดียวเท่านั้น จึงตัดสินใจเลือก SpaceX ของมัสก์

 

ทำให้ทางด้าน Blue Origin ต้องลุกขึ้นมาแย้งการตัดสินใจของ NASA โดยกล่าวว่า NASA อคติและโอนเอียงไปทาง SpaceX อย่างไม่เป็นธรรม และแย้งว่า NASA น่าจะตัดสินใจได้ดีกว่านี้ ด้วยการให้ทุนสนับสนุนทั้ง SpaceX และ Blue Origin ในการพัฒนาจรวดที่สามารถลงจอดบนดวงจันทร์ได้

 

ทั้งนี้ แผนการลงจอดบนดวงจันทร์ของทั้ง 2 บริษัทก็มีความแตกต่างกัน โดย SpaceX มีแผนว่าจะใช้จรวด Starship ซึ่งเป็นจรวดลำที่มัสก์หวังว่าจะสามารถพาผู้คนไปตั้งรกรากบนดาวอังคารได้ในอนาคต และในส่วนแผนการของ Blue Origin คือจะพัฒนายานลงจอดบนดวงจันทร์ที่คล้ายกับที่ NASA เคยใช้ในภารกิจ NASA Apollo ในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 ซึ่งภารกิจนั้นนับเป็นภารกิจแรก และภารกิจเดียวที่ NASA เคยส่งมนุษย์ไปบนดวงจันทร์ได้สำเร็จ

 

แม้ว่า Blue Origin จะได้รับเงินเพื่อการพัฒนาจาก NASA ในช่วงแรกของโปรเจกต์ แต่ความขัดแย้งก็เริ่มเกิดขึ้นเมื่อสภาคองเกรสจัดสรรงบให้ NASA น้อยกว่าที่ขอไว้คือ 3.4 พันล้านดอลลาร์ หรือ 1.1 แสนล้านบาท โดยให้งบ NASA เพียงแค่ 2 พันล้านดอลลาร์ หรือ 6.6 หมื่นล้านบาทเท่านั้นสำหรับโปรเจกต์ HLS นี้

 

ทำให้ NASA เลือกร่วมมือกับบริษัทได้เพียงรายเดียวเท่านั้นคือ SpaceX รวมถึงข้อเสนอราคาของ SpaceX นั้นมีราคาอยู่ที่ 3 พันล้านดอลลาร์ หรือ 9.9 หมื่นล้านบาท ซึ่งถูกกว่าข้อเสนอของ Blue Origin ถึง 2 เท่า ที่เสนอราคาไว้ที่ 6 พันล้านดอลลาร์ หรือ 1.9 แสนล้านบาท โดย NASA ก็ย้ำซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่าต้นทุนเป็นปัจจัยที่มีผลอย่างมากในการตัดสินใจเลือก SpaceX

 

Blue Origin พยายามต่อสู้กับการตัดสินใจครั้งแรกในสำนักงานความรับผิดชอบของรัฐบาล หรือ Government Accountability Office (GOA) แต่ก็ถูกปัดตกไปในเดือนกรกฎาคม

 

นอกจากต่อสู้ในสำนักงานความรับผิดชอบของรัฐบาลแล้ว เบโซส์ยังพยายามติดต่อเป็นการส่วนตัวกับ บิล เนลสัน ผู้อำนวยการของ NASA โดยเบโซส์บอกว่าจะลดค่าใช้จ่ายในการพัฒนามูลค่า 2 พันล้านดอลลาร์ให้ หาก NASA กลับมาร่วมมือกับ Blue Origin โดยในข้อความของเบโซส์ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า หากไม่มีการแข่งขันเกิดขึ้น ก็จะไม่สามารถเกิดการพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว ส่งผลให้แผนการของ NASA ก็จะยิ่งล่าช้ากว่าเดิม รวมถึงอาจจะใช้เม็ดเงินมากกว่าเดิมอย่างมหาศาลอีกด้วย

 

แต่ บิล เนลสัน แสดงออกอย่างชัดเจนว่าไม่สนใจข้อเสนอนี้ของเบโซส์ ดังนั้นเบโซส์จึงยกระดับความขัดแย้งขึ้นไปอีก โดยนำเรื่องนี้ขึ้นไปฟ้องในศาล รวมถึงประชาสัมพันธ์โดยนำเสนออินโฟกราฟิกบนโซเชียลมีเดีย ที่เป็นการพยายามวาดแผนการของ SpaceX ในการนำยาน Starship และถังบรรจุน้ำมันที่เติมเชื้อเพลิงเข้าสู่วงโคจร ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ และพาดหัวอินโฟกราฟิกว่า ‘นี่เป็นวิธีที่ซับซ้อนและมีความเสี่ยงสูงมาก’

 

แต่มัสก์ก็ทวีตโต้กลับไปว่า “ถ้าหากการวิ่งเต้นและเหล่าทนายความสามารถพาคนขึ้นไปบนอวกาศได้ ตอนนี้เบโซส์คงไปไกลถึงดาวพลูโตแล้ว”

 

แต่ความพยายามทั้งหมดของ Blue Origin ในการเปลี่ยนการตัดสินใจของ NASA ก็ได้ล้มเหลวลง

 

ข้อพิพาททางกฎหมายทำให้การร่วมมือของ NASA และ SpaceX เกี่ยวกับสัญญาสำหรับ Human Landing System (HLS) หรือระบบส่งมนุษย์ลงจอดได้ถูกระงับการดำเนินการไปก่อนหน้านี้ แต่ล่าสุด NASA กล่าวในแถลงการณ์ว่า จะกลับมาดำเนินการ HLS ร่วมกับ SpaceX โดยเร็วที่สุด

 

รายละเอียดเกี่ยวกับคดีความที่ Blue Orgin ฟ้องต่อศาลในเดือนสิงหาคมนั้น มีเปิดเผยออกมาน้อยมาก เนื่องจากบริษัทต่างๆ ในคดีความนั้น ขอให้ผู้พิพากษาเก็บรายละเอียดกระบวนการพิจารณาคดีส่วนใหญ่ไว้เป็นความลับ

 

นอกจากนั้นแถลงการณ์ยังระบุว่า “การส่งนักบินอวกาศไปยังดวงจันทร์อย่างปลอดภัย ผ่านความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนของ NASA จำเป็นต้องใช้กระบวนการจัดจ้างที่ไม่มีอคติ ควบคู่ไปกับนโยบายที่เป็นธรรม ที่ส่งเสริมการแข่งขัน และเราหวังว่าจะได้ยินคำตอบรับจาก NASA เกี่ยวกับการตัดสินใจครั้งถัดไปในกระบวนการจัดจ้าง HLS (Human Landing System)”

 

เบโซส์ยังทวีตด้วยว่า “เราไม่ได้หวังให้ตัดสินออกมาตามที่เราต้องการ แต่เราหวังว่าจะมีความยุติธรรมเกิดขึ้น และเราเคารพคำตัดสินของศาล ซึ่งเราก็หวังให้ NASA และ SpaceX จะประสบความสำเร็จในการส่งนักบินอวกาศไปยังดวงจันทร์”

 

และเมื่อไม่นานมานี้ วุฒิสภาสหรัฐอเมริกาได้ระบุว่า ต้องการให้ NASA ขยายโครงการ HLS เพื่อร่วมมือกับบริษัทเอกชนทั้ง 2 ราย ซึ่งทาง NASA ยังไม่ออกมาตอบเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่ในแถลงการณ์เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 4 พฤศจิกายน NASA ระบุว่าขณะนี้ยังคงมีแผนที่จะทำงานกับ SpaceX แต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น แต่ Blue Origin ก็อาจมีโอกาสแข่งขันเพื่อทำสัญญาร่วมกันเพื่อสร้างยานลงจอดบนดวงจันทร์ได้ในอนาคต

 

“ยังมีโอกาสสำหรับบริษัทต่างๆ อีกในอนาคตที่จะร่วมมือกับ NASA ในการทำให้มนุษย์สามารถขึ้นไปเหยียบดวงจันทร์ได้ในระยะยาว รวมถึงเรายังต้องการพัฒนาจรวดที่สามารถใช้ซ้ำได้ เพื่อลงจอดบนดวงจันทร์ในปี 2022” แถลงการณ์ของ NASA ระบุ

 

อ้างอิง:

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X