×

รายงาน UN ชี้ ประชาคมโลกปรับตัวไม่ทันกับวิกฤตด้านสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น

05.11.2021
  • LOADING...

วานนี้ (4 พฤศจิกายน) จากรายงานเกี่ยวกับการช่องว่างของการปรับตัว โดยโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ชี้ว่า ช่องว่างระหว่างผลกระทบที่เกิดขึ้นจากวิกฤตด้านสภาพภูมิอากาศและความพยายามในการปรับตัวของประชาคมโลกค่อยๆ กว้างมากขึ้นเรื่อยๆ ดูเหมือนว่าประชาคมโลกยังปรับตัวไม่ทันกับวิกฤตด้านสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น

 

ในรายงานประจำปีฉบับนี้พบว่า ค่าใช้จ่ายที่คาดว่าจะใช้เพื่อปรับตัวและรับมือกับผลกระทบต่างๆ จากภาวะโลกร้อน ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตภัยแล้ง น้ำท่วม หรือระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นในบรรดาประเทศที่มีรายได้น้อย อยู่ที่ 5-10 เท่าของจำนวนเงินช่วยเหลือในปัจจุบันที่ส่งมอบเข้ามายังภูมิภาคนั้นๆ

 

อีกทั้งคำมั่นสัญญาที่เหล่าบรรดาประเทศที่มั่งคั่งและพัฒนาแล้วได้ให้ไว้ในความตกลงปารีสเมื่อปี 2015 ที่จะสร้างหลักประกันให้สนับสนุนเงินช่วยเหลือปีละ 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐแก่บรรดาประเทศที่มีรายได้น้อย เพื่อมุ่งไปใช้พลังงานสะอาดมากยิ่งขึ้นและยั่งยืนแทนการใช้พลังงานจากซากฟอสซิล ก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จ เมื่อปี 2019 ที่ผ่านมา มีเงินช่วยเหลือราว 7.9 หมื่นล้านดอลลาร์ที่ส่งมอบให้กับกลุ่มประเทศดังกล่าว

 

โดยรายงานของ UNEP คาดการณ์ว่า ค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการปรับตัวเพื่อรับมือกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ จะยิ่งเพิ่มสูงขึ้น โดยอาจจะเพิ่มสูงถึง 1.40-3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีภายในปี 2030 นี้ และอาจเพิ่มสูงถึง 2.8-5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีภายในปี 2050

 

ประเทศทางใต้ที่ถือได้ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยมาก เมื่อเทียบกับประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่หรือประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่กลับได้รับผลกระทบจากวิกฤตด้านสภาพภูมิอากาศอย่างหนัก สิ่งสำคัญคือประเทศเปราะบางเหล่านี้จำเป็นต้องเข้าถึงเงินทุนและเงินช่วยเหลือได้ง่ายขึ้น เพื่อให้การปรับตัวและรับมือกับวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมเป็นไปในทิศทางที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น 

 

โดยหนึ่งในทางเลือกที่ระบุไว้ในรายงานคือ การส่งมอบแผนปรับตัวไปพร้อมกับแพ็กเกจฟื้นฟูประเทศจากวิกฤตโควิด ซึ่งคาดว่าจะยิ่งช่วยทำให้ประชาคมโลกสามารถปรับตัวและพร้อมรับมือกับสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมที่อาจจะเลวร้ายลงอีกได้ดีมากยิ่งขึ้น

 

ภาพ: Sk Hasan Ali / Shutterstock

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X