การเติบโตของ Apple นอกจากเทคโนโลยีที่ล้ำหน้าแล้ว ดีไซน์และการออกแบบก็ถือว่ามีส่วนช่วยผลักดันการเติบโตและช่วยแสดงถึงความเป็น Apple ได้เป็นอย่างดี ซึ่งผู้อยู่เบื้องหลังดีไซน์ในผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของ Apple มาอย่างยาวนานนั่นคือ จอนนี ไอฟ์ แต่การลาออกจาก Apple ของไอฟ์นั้น ทำให้การออกแบบของ Apple เปลี่ยนไปอย่างไร บทความนี้จะเล่าให้ฟัง
Apple อาจจะไม่สามารถอยู่ได้มาถึงปัจจุบันเลยก็ได้ หากไม่มีไอฟ์ เขาเป็นเหมือนพระเจ้าผู้สร้างสรรค์ที่อยู่เบื้องหลังรูปลักษณ์ของทั้ง iMac, iPod, iPad และที่สำคัญที่สุดคือ iPhone
โดยเขาเป็นผู้ที่ทำให้ Apple เป็นแบรนด์ผู้บุกเบิกการออกแบบที่เรียบง่าย แต่ก็มักจะมีความขัดแย้งระหว่างดีไซน์กับการใช้งาน เพราะหลายคนมองว่าไอฟ์กำลังมองว่ารูปลักษณ์ของอุปกรณ์นั้นมีความสำคัญเหนือกว่าความง่ายในการใช้งาน
หากไม่นับอิทธิพลของสตีฟ จ็อบส์ ผู้ล่วงลับไปแล้ว บางทีไอฟ์อาจให้ความสำคัญกับสุนทรียศาสตร์มากเกินไปหน่อย เพราะตั้งแต่ที่เขาก้าวลงจากตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายดีไซน์เมื่อปลายปี 2019 ดูเหมือนว่า Apple จะเริ่มกลับมาเน้นไปที่ฟังก์ชันการทำงานมากขึ้น ตั้งแต่ iPhone, Apple TV ไปจนถึง MacBook นี่ถือเป็นการปิดฉากยุคสมัยของการมุ่งเน้นไปที่ความสวยงามของผลิตภัณฑ์เป็นหลักของ Apple
หลักฐานการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเลยคือ การเปิดตัวแล็ปท็อป MacBook Pro รุ่นใหม่เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม คุณลักษณะเด่นที่เป็นตัวชูโรงเมื่อ 5 ปีที่แล้วภายใต้การอุปถัมภ์ของไอฟ์ถูกยกเลิก อย่างแป้นพิมพ์ผีเสื้อ (Butterfly Keyboard) ที่ช่วยให้อุปกรณ์บางลง แต่กลไกนี้ทำให้ผู้ใช้งานพิมพ์ยากขึ้น
หรือการอำลา Touch Bar ซึ่งเป็นแถบแสดงผลแบบสัมผัสที่อยู่ด้านบนของแป้นพิมพ์ ซึ่งสามารถแสดงฟังก์ชันสำหรับเว็บเบราว์เซอร์ และเครื่องมือต่างๆ อย่างการปรับเสียงหรือควบคุมการเล่นเพลง แต่ Touch Bar นี้แทบเป็นไปไม่ได้ที่จะใช้โดยไม่มอง สร้างความลำบากให้กับผู้ใช้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะผู้ใช้มืออาชีพและโปรแกรมเมอร์
รวมถึงเปลี่ยนกลับมาใช้พอร์ต HDMI ซึ่งทำให้สามารถเสียบคอมพิวเตอร์เข้ากับจอแสดงผลความละเอียดสูงได้โดยไม่ต้องใช้อะแดปเตอร์
การออกแบบที่ถูกตัดออกไปและฟังก์ชันข้างต้นนี้อาจจะยังอยู่หากอยู่ภายใต้การดูแลของไอฟ์ แต่ อีแวนส์ แฮงกี ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมออกแบบอุตสาหกรรมคนปัจจุบัน ได้เข้ามาดูแลและปรับแต่งส่วนต่างๆ มากมาย ที่ดูเหมือนเป็นการบ่งบอกถึงปรัชญาการออกแบบของ Apple ที่เปลี่ยนแปลงไป
อย่างการออกแบบ iPhone ล่าสุดก็ได้ยกเลิกกระจกขอบโค้งที่ส่งผลให้จอแสดงผลอาจแตกได้หากทำตกที่ด้านข้าง หรือรีโมต Apple TV ที่เคยออกแบบให้มีความสมมาตรน่าดึงดูด แต่ก็สร้างความรำคาญให้กับผู้ใช้ เพราะผู้ใช้มักจะกดปุ่มผิดโดยไม่ได้ตั้งใจหากถือกลับด้าน และรีโมตนี้ก็ถูกออกแบบปรับปรุงใหม่ไปแล้วในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
“ตั้งแต่จอนนี่ ไอฟ์ จากไป ผลิตภัณฑ์ Apple ก็ไม่มีแรงดึงดูดใดๆ จากการดีไซน์ที่เข้ามาดึงดูดเราก่อนฟังก์ชันเลย” พอล ฟาวด์ อาจารย์ด้านการออกแบบอุตสาหกรรมที่ University for the Creative Arts ในเมืองแคนเทอร์เบอรี ประเทศอังกฤษกล่าว “เหล่าผู้ที่รับช่วงออกแบบต่อ กำลังรับฟังความคิดเห็นของลูกค้าอยู่”
Apple รักษาความดื้อรั้นในด้านการออกแบบมาอย่างยาวนาน ตามบทความที่ มาร์ก เกอร์แมน เขียนในชื่อหัวข้อว่า ‘ความลับของ Apple มันกำลังบอกเราว่าเราควรจะชอบแบบไหน’ อันที่จริงหาก Apple ยึดถือความต้องการของผู้บริโภคมากเกินไป ก็อาจสูญเสียสิ่งที่ช่วยให้ประสบความสำเร็จ นั่นคือคติที่ว่า ‘Think Different’ หรือ ‘คิดต่าง’ ซึ่งการที่ผลิตภัณฑ์ของ Apple มีความน่าดึงดูด และสามารถตั้งราคาได้ในระดับพรีเมียมนั้น ส่วนหนึ่งก็มาจากการออกแบบ
แต่บางครั้งการฟังลูกค้าของคุณก็มีข้อดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผลิตภัณฑ์นั้นถูกออกแบบโดยเน้นดีไซน์มากกว่าการใช้งาน เพราะท้ายที่สุดคุณอาจสูญเสียลูกค้ามืออาชีพ ไม่ว่าจะเป็นสถาปนิก นักดนตรี ผู้สร้างภาพยนตร์ เพียงเพราะพวกเขาไม่สามารถเสียบแล็ปท็อปเข้ากับจอภาพได้
และผู้ใช้มืออาชีพเหล่านี้ก็เป็นกลุ่มลูกค้าหลักของสินค้าระดับบนที่มีราคาแพงของ Apple เนื่องจากมีกำลังซื้อสูง และสินค้าระดับบนนี้ยังสามารถสร้างกำไรให้กับ Apple ได้อย่างมหาศาลอีกด้วย
ทั้งนี้ คนที่มีอิทธิพลต่อการออกแบบของไอฟ์ คือ ดีเทอร์ แรมส์ ซึ่งเป็นผู้คิดหลักการ 10 ข้อสำหรับ ‘การออกแบบที่ดี’ โดยหลักการข้อที่ 3 คือ ‘การออกแบบที่ดีคือความสวยงาม’ แต่ดูเหมือนว่า Apple จะจำข้อที่ 2 และ 4 ได้อย่างขึ้นใจ คือ ‘การออกแบบที่ดีคือการทำให้ผลิตภัณฑ์มีประโยชน์’ และ ‘การออกแบบที่ดีคือทำให้ผลิตภัณฑ์มีความง่ายในการใช้งาน’
ภาพ: Justin Sullivan/Getty Images
อ้างอิง: