×

หุ้นอสังหาฯ ยังคึกคักรับข่าวปลดล็อก LTV นักวิเคราะห์เตือนระวังแรงขายทำกำไร หลังราคาตอบรับไปมากแล้ว

25.10.2021
  • LOADING...
Real estate stocks

หุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ปรับเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญยกกลุ่มเมื่อวันที่ 21 ตุลาคมที่ผ่านมา หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศผ่อนคลายมาตรการ LTV ส่งผลให้เกิดแรงเก็งกำไรหุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์จำนวนมาก เพราะนักลงทุนคาดการณ์ว่าการผ่อนคลายมาตรการดังกล่าวจะทำให้แนวโน้มยอดขายอสังหาริมทรัพย์ปรับตัวดีขึ้น

 

วิจิตร อารยะพิศิษฐ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) กล่าวว่า ราคาหุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ปรับเพิ่มขึ้นมาพอสมควรเพื่อรับกับข่าวดีที่ธนาคารแห่งประเทศไทยผ่อนคลายมาตรการ LTV เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยการผ่อนคลายมาตรการครั้งนี้ส่งผลเชิงบวกต่อภาพรวมหุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์เป็นอย่างมาก เนื่องจากที่ผ่านมากลุ่มอสังหาริมทรัพย์รับแรงกดดันจากมาตรการนี้มาโดยตลอด

 

อย่างไรก็ตาม หากสำรวจความเคลื่อนไหวราคาหุ้นตั้งแต่วันที่ประกาศผ่อนคลายมาตรการวันแรก (21 ตุลาคม) พบว่าราคาหุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ปรับเพิ่มขึ้นอย่างร้อนแรง และวันนี้ (25 ตุลาคม) แม้จะยังปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่ก็เริ่มมีแรงขายทำกำไรแล้วเช่นกัน

 

โดยเมื่อวันที่ 21 ตุลาคมที่มีการประกาศผ่อนคลายมาตรการ LTV ราคาหุ้นอสังหาริมทรัพย์ที่ปรับเพิ่มขึ้น 10 อันดับแรก มีดังนี้ 

 

SAMCO +24.73%

PRECHA +23.44%

BROCK +14.41%

MJD +8.25%

ORI +7.48%

AP +6.06% 

SPALI +5.88%

NUSA +5.26%

NOBLE +3.85%

SENA +3.50%

 

อย่างไรก็ตาม 10 หุ้นข้างต้น เริ่มมีแรงขายทำกำไรในวันนี้ (25 ตุลาคม) ดังนี้ (ณ เวลา 15.56 น.) 

 

SAMCO -3.45%

PRECHA +12.03%

BROCK -10.24%

MJD +4.76%

ORI -0.78%

AP +4.00% 

SPALI +3.70%

NUSA +0.00%

NOBLE -1.48%

SENA -0.483.50%

 

วิจิตร กล่าวว่า ในเชิงของปัจจัยพื้นฐาน กลุ่มอสังหาริมทรัพย์น่าจะได้รับประโยชน์จากการผ่อนคลายมาตรการไม่มากในปีนี้ ยอดขายในไตรมาส 4 ปีนี้อาจจะไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แต่ในปี 2565 คาดว่าแต่ละบริษัทจะมีแนวโน้มเป็นบวกมากขึ้น และตลาดน่าจะมีการปรับประมาณการรายได้ขึ้น 

 

“แนะนำให้รอราคาอ่อนตัวแล้วค่อยเข้าทยอยสะสมหุ้นอสังหาริมทรัพย์ที่มีสต๊อกพร้อมขายจำนวนมากดีกว่า ราคาหุ้นตอนนี้ถือว่าปรับเพิ่มขึ้นรับข่าวดีค่อนข้างมากแล้ว แม้ว่าค่า P/E จะยังไม่สูงมากก็ตาม” 

 

สำหรับการลงทุนระยะกลางยาว หุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์มีความน่าสนใจตรงที่มีการจ่ายปันผลสม่ำเสมอ และราคาหุ้นค่อนข้าง Laggard เทียบกับตลาด โดยหุ้นเด่นที่แนะนำคือ AP เนื่องจากมี P/E ต่ำสุดสำหรับปี 2564-2565 ที่ประมาณ 6 เท่า และ SPALI ซึ่งมี P/E ที่ 7-8 เท่า รวมทั้งแนะนำน LH เพราะมีแนวโน้มที่จะมีการเติบโตของกำไรเป็นเลข 2 หลัก จากทั้งธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจบริการผ่านทางบริษัทร่วม

 

นักวิเคราะห์ บล.เคทีบีเอสที (ประเทศไทย) เพิ่มน้ำหนักหุ้นกลุ่ม Property ขึ้นเป็น Neutral จากเดิม Underweigh มองแนวโน้มผลการดำเนินงานในปี 2565 มีโอกาสสดใสมากขึ้น หลัง ธปท. ผ่อนคลายมาตรการ LTV เป็น 100% ซึ่งจะช่วยให้เพิ่มความสามารถในการซื้อให้กับลูกค้า และช่วยระบายสต๊อกที่อยู่อาศัยที่สร้างเสร็จแล้วได้เร็วขึ้น 

 

โดยการผ่อนคลาย LTV จะเป็นบวกต่อการซื้อที่อยู่อาศัยตั้งแต่สัญญาที่ 2 เป็นต้นไป รวมถึงที่อยู่อาศัยราคาเกิน 10 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นบวกต่อผู้ประกอบการที่เน้นคอนโด และ Backlog รวม Inventory (Ready to Move) มาก

 

หุ้นที่จะได้ประโยชน์มากสุด ได้แก่ ORI-SPALI-ANAN ตามลำดับ โดย ORI และ SPALI มี Backlog รอโอนในครึ่งปีหลังของปีนี้ ต่อเนื่องถึงปีหน้ามากสุด รวมถึงยังมี Inventory พร้อมโอนค่อนข้างมาก ส่วน ANAN แม้ Backlog จะไม่มาก แต่มี Inventory คงเหลือมากสุด ทำให้มีโอกาสที่จะเกิด Upside ต่อกำไรในปีหน้าได้

 

“ราคาหุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ปรับตัวขึ้นและ Outperform SET +4%-6% ในช่วง 1 และ 3 เดือน ทั้งจากสถานการณ์โควิดที่ดีขึ้น ทำให้กำลังซื้อเริ่มกลับมา และแนวโน้มกำไรปีหน้าที่จะสดใสมากขึ้น จากการผ่อนเกณฑ์ LTV รวมถึงยังมีการสนับสนุนให้ต่างชาติเข้ามาซื้อที่อยู่อาศัยมากขึ้น และโอกาสที่รัฐบาลจะต่ออายุมาตรการลดภาษีโอนและจดจำนองในปีหน้า และขยายเพดานราคาบ้านได้รับรับสิทธิ์เป็น 5 ล้านบาท จากเดิม 3 ล้านบาท”

 

โดยหุ้น Top Pick ได้แก่ ORI ซื้อเป้าหมายราคาที่ 13.00 บาท และ SPALI ซื้อเป้าหมายราคาที่ 25.00 บาท จากกำไรปีนี้ที่จะเติบโตดีกว่ากลุ่ม และกำไรปีหน้ายังมีโอกาส Upside ได้จาก Backlog สูง และมี Inventory พร้อมโอนค่อนข้างมาก

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X