×

‘จะหัวหรือก้อยต้องเสี่ยงกัน’ เช็กความเสี่ยงเปิดประเทศ 1 พ.ย.

23.10.2021
  • LOADING...
ความเสี่ยงเปิดประเทศ

วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ที่จะถึงนี้ ไทยจะเปิดประเทศแบบไม่ต้องกักตัว ในพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว 17 จังหวัด ซึ่ง 1 ในนั้นคือกรุงเทพมหานคร และบางจังหวัดเปิดเฉพาะบางพื้นที่ เช่น ชลบุรี เปิดเฉพาะ อำเภอบางละมุง เมืองพัทยา อำเภอศรีราชา อำเภอเกาะสีชัง และอำเภอสัตหีบ เฉพาะตำบลนาจอมเทียน และตำบลบางเสร่ เมื่ออ่านรายชื่อพื้นที่นำร่องจบ หลายคนน่าจะมีคำถามเกิดขึ้นในใจว่า ศบค. จะควบคุมการเข้า-ออกพื้นที่เหล่านี้อย่างไร ในเมื่อแต่ละอำเภอ/จังหวัดไม่ได้แยกขาดจากกันในเชิงภูมิศาสตร์และสังคม

 

โดยเฉพาะกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ที่เชื่อมต่อกับจังหวัดปริมณฑลอย่างแยกขาดจากกันไม่ได้ ทั้งเส้นทางคมนาคม และผู้คนที่เดินทางข้ามพื้นที่ไปมาทุกวัน หลักฐานที่บอกความเชื่อมโยงนี้ได้ชัดเจนที่สุดคือการระบาดของโควิดในระลอกที่ 3 และ 4 เพราะเมื่อเกิดการระบาดในกรุงเทพฯ ก็จะขยายวงต่อไปยังจังหวัดใกล้เคียง ส่วนมาตรการการจำกัดการเดินทางข้ามจังหวัดที่ผ่านมา ตั้งแต่การระบาดที่จ.สมุทรสาครก็ไม่สามารถทำได้จริง แต่นี่ยังไม่ใช่ความกังวลหลักต่อการเปิดประเทศในครั้งนี้

 

หลายคนกังวลว่าการเปิดประเทศจะทำให้สถานการณ์การระบาดภายในประเทศแย่ลง ในขณะที่กิจการ/กิจกรรมบางประเภทยังไม่ได้รับการผ่อนคลายมาตรการ เช่น การเปิดโรงเรียน บางสถานที่เปิดแล้วต้องกลับมาปิดอีกครั้งเพราะมีการระบาดเป็นคลัสเตอร์ บางคนยังไม่กล้าเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ บางคนกลัวว่าจะต้องกลับมาล็อกดาวน์อีกรอบถ้าควบคุมการระบาดไม่ได้ แล้วพื้นที่นำร่องและประเทศไทยเสี่ยงแค่ไหนจากนโยบายการเปิดประเทศแบบไม่ต้องกักตัว

 

ความเสี่ยงจาก ‘ผู้ติดเชื้อนำเข้า’

ย้อนกลับไปช่วงต้นปี 2563 กรมควบคุมโรคเคยแบ่งสถานการณ์การระบาดออกเป็น 3 ระยะ คือ 

 

  • ระยะที่พบผู้ติดเชื้อจากประเทศอื่น (Imported case) ไม่พบการแพร่โรคในไทย 
  • ระยะที่พบการแพร่เชื้อในประเทศในวงจำกัด (Limited local transmission) เช่น กรุงเทพฯ หรือจังหวัดที่มีนักท่องเที่ยวมาก 
  • ระยะที่พบการแพร่เชื้อในประเทศไทยในวงกว้าง 

 

ถึงแม้ว่าปัจจุบันจะไม่ได้ใช้การแบ่งสถานการณ์เช่นนี้แล้ว แต่กรอบแนวคิดนี้น่าจะสามารถนำกลับมาประยุกต์ใช้ได้อีกครั้ง

 

ปัจจุบันคงไม่มีใครคัดค้านว่าประเทศไทยอยู่ในระยะที่ 3 เพราะในการระบาดระลอกล่าสุดพบผู้ติดเชื้อกระจายทุกจังหวัด และหลายจังหวัดยังคงพบการระบาดต่อเนื่องมาถึงตอนนี้ ส่วน ศบค. ก็ยอมรับความเสี่ยงในการระบาดจึงเปลี่ยนแนวคิดเป็น ‘การอยู่ร่วมกับโควิด’ (Living with COVID) เพื่อให้ประชาชนสามารถดำเนินชีวิตได้ใกล้เคียงปกติ และลดผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยควบคุมไม่ให้จำนวนผู้ติดเชื้อเกินศักยภาพของระบบสาธารณสุขแทน

 

ตลอด 1 ปีกว่าที่ผ่านมาไทยควบคุมการเดินทางเข้า-ออกประเทศได้เป็นอย่างดี ถ้าจะพูดให้ถูกต้องคือเฉพาะการเดินทางเข้า-ออกทางอากาศ เพราะเมื่อลงจากเครื่องบิน ทุกคนจะต้องกักตัวในสถานกักกันที่รัฐจัดให้ (SQ) หรือทางเลือก (ASQ) เป็นเวลา 14 วัน และตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR อย่างน้อย 2 ครั้ง ทำให้ไม่มีความเสี่ยงจาก ‘ผู้ติดเชื้อนำเข้า’ (ทางอากาศ) เลย ดังนั้นหากไทยเปิดประเทศแบบไม่ต้องกักตัวก็จะทำให้ความเสี่ยงตรงนี้เพิ่มขึ้นหรือเป็นระยะที่ 3 + ระยะที่ 1

 

แต่ ศบค. ยังคงมีมาตรการ ‘ก่อนเดินทาง’ และกำหนดมาตรการ ‘เมื่อเดินทางมาถึง/ระหว่างอยู่ราชอาณาจักร’ เพิ่มเติม ดังนี้ 

 

  1. เดินทางมาทางอากาศจากประเทศที่กำหนด โดยต้องอยู่ในประเทศนั้นอย่างน้อย 21 วัน 

 

  1. ได้รับวัคซีนครบอย่างน้อย 14 วัน 

 

  1. ตรวจ RT-PCR ก่อนเดินทางไม่เกิน 72 ชั่วโมง 

 

  1. ตรวจอีกครั้งเมื่อเดินทางมาถึง และรอผลที่โรงแรม หากผลเป็นลบสามารถเดินทางในประเทศได้ 

 

  1. ตรวจหาเชื้อด้วย ATK 1 ครั้งในวันที่ 6-7 และรายงานในแอปพลิเคชัน

 

จึงน่าจะลดความเสี่ยงจาก ‘ผู้ติดเชื้อนำเข้า’ ลงได้ระดับหนึ่ง ทั้งลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อ เพราะนักท่องเที่ยวจะต้องตรวจหาเชื้ออีกครั้งในอีก 1 สัปดาห์ถัดมา (ถ้าเปรียบเทียบกับมาตรการของสหราชอาณาจักรถือว่าเข้มกว่า เพราะหากเป็นผู้ที่ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์แล้วจะไม่ต้องกักตัวและตรวจหาเชื้อครั้งเดียวเมื่อเดินทางมาถึง แต่การตรวจด้วย ATK มีข้อจำกัดตรงที่อาจพบผลลบลวงได้) และลดความเสี่ยงต่ออาการรุนแรง เพราะนักท่องเที่ยวได้รับวัคซีนครบแล้ว

 

ความเสี่ยงจาก ‘ผู้ติดเชื้อภายในประเทศ’

ในขณะที่สถานการณ์การระบาดในประเทศไทยมีแนวโน้มคงที่ ถึงแม้จำนวนผู้เสียชีวิตจะลดลง แต่จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เฉลี่ย 7 วันย้อนหลังประมาณ 10,000 รายต่อวัน หรือคิดเป็น 15 รายต่อแสนประชากร ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ (66%) อยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 23 จังหวัด และหลายจังหวัดมีแนวโน้มพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ได้แก่ นครศรีธรรมราช ตาก ระยอง จันทบุรี เชียงใหม่ ขอนแก่น หากจะเกิดการระบาดในพื้นที่นำร่องก็น่าจะมีสาเหตุจาก ‘ผู้ติดเชื้อภายในประเทศ’ มากกว่า 

 

การผ่อนคลายกิจกรรม/กิจการในพื้นที่นำร่อง เช่น กิจกรรมเพื่อความบันเทิง จะเพิ่มการพบปะกันระหว่างผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่กับนักท่องเที่ยว และหากไม่ได้ป้องกันตัวหรือมีมาตรการที่รัดกุม จะเพิ่มโอกาสในการแพร่เชื้อจากผู้ติดเชื้อรายหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่ง ประกอบกับน่าจะมีการเดินทางจากตำบล/อำเภอ/จังหวัดอื่นเข้ามาประกอบอาชีพหรือท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ความเสี่ยงต่อการเกิดการระบาดเป็นคลัสเตอร์จึงสูงขึ้นและอาจติดเชื้อกลับออกไปแพร่ระบาดต่อยังพื้นที่ใกล้เคียงได้

 

มาตรการลดความเสี่ยงที่สำคัญคือการฉีด ‘วัคซีน’ โดยเมื่อเดือนมิถุนายน 2564 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีตั้งเป้าหมายตอนประกาศจะเปิดประเทศใน 120 วัน ว่าจะต้องมีการฉีด ‘วัคซีนเข็มแรก’ ให้ได้ 50 ล้านคน (70%) แต่ข้อมูล ณ วันที่ 21 ตุลาคม 2564 มีผู้ได้รับวัคซีนเข็มแรกทั้งหมด 39.4 ล้านคนหรือคิดเป็น 54.6% นอกจากความครอบคลุมของวัคซีนจะไม่เป็นไปตามเป้าหมายแล้ว การฉีดวัคซีนเพียง 1 เข็มยังไม่สามารถมั่นใจได้ว่าจะป้องกันอาการป่วยหนักได้

 

ต่อมาในเดือนกันยายน 2564 กระทรวงสาธารณสุขเสนอหลักเกณฑ์พิจารณาการเปิดจังหวัดนำร่อง โดยจะต้องมีความพร้อมด้านสถานการณ์ 3 ข้อ คือ 

 

  • ผู้ได้รับ ‘วัคซีนครบ’ อย่างน้อย 50% (ถ้าเฉพาะพื้นที่นำร่องใช้เกณฑ์ 70%) และกลุ่มเสี่ยงต่ออาการรุนแรงจะต้องได้รับวัคซีนอย่างน้อย 80% 
  • ศักยภาพการรองรับผู้ป่วยเพียงพอ อัตราครองเตียงผู้ป่วยเหลืองแดงไม่เกิน 80% 
  • การเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง มีผู้ติดเชื้อเฉลี่ยไม่เกิน 5-10 รายต่อแสนประชากรต่อวัน

 

สังเกตว่ากระทรวงสาธารณสุขเน้นการได้รับวัคซีนครบและกลุ่มเสี่ยงต่ออาการรุนแรง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว เนื่องจากสายพันธุ์ที่ระบาดในขณะนี้เป็นสายพันธุ์เดลตา ประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อลดลง แต่ยังคงป้องกันอาการป่วยหนักได้ ยิ่งไปกว่านั้นผู้สูงอายุที่ได้รับวัคซีนเชื้อตายควรจะได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นด้วย จังหวัดที่ผู้สูงอายุได้รับวัคซีนครบแล้วสูงที่สุดคือ ภูเก็ต 92.1% กรุงเทพฯ 73.7% ระนอง 69.3% พังงา 64.2% และสุราษฎร์ธานี 63.5%

 

มีเพียงภูเก็ตจังหวัดเดียวเท่านั้นที่ผ่านเกณฑ์ความครอบคลุมของการได้รับวัคซีน ทว่าสถานการณ์ในจังหวัดยังพบผู้ติดเชื้อรายใหม่เฉลี่ย 140 รายต่อวัน หรือคิดเป็น 20-25 รายต่อแสนประชากร สูงกว่าเกณฑ์ที่ตั้งไว้ ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุขเปิดช่องให้อาจใช้ลักษณะการระบาดและแนวโน้มสถานการณ์ร่วมด้วย ส่วนศักยภาพการรองรับผู้ป่วย ปัจจุบันมีผู้ป่วยที่กำลังรักษาทั้งหมด 1,793 ราย (29.6% ของเตียงทั้งหมด) โดยเป็นผู้ป่วยสีแดง 30 ราย (38.8% ของเตียงสีแดง) 

 

Phuket Sandbox อาจเป็นตัวอย่างของพื้นที่นำร่อง เพราะเปิดรับนักท่องเที่ยวที่ได้รับวัคซีนครบแล้วแบบไม่กักตัวมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2564 แต่ด้วยสภาพภูมิศาสตร์ที่เป็นเกาะ มีช่องทางเข้า-ออกทางบกผ่านด่านตรวจท่าฉัตรไชย ทางอากาศผ่านสนามบิน ส่วนที่เหลือเป็นท่าเรือ ผู้ที่จะเดินทางเข้าจังหวัดต้องได้รับวัคซีนตามที่กำหนดและตรวจหาเชื้อก่อนเดินทางไม่เกิน 72 ชั่วโมง และที่ผ่านมายังควบคุมการจัดกิจกรรมที่มีการรวมตัวกันของคนจำนวนมาก รวมถึงการปิดสถานบันเทิง 

 

มาตรการลดความเสี่ยงที่ต้องรัดกุม

นอกจากการลดความเสี่ยงต่อ ‘อาการรุนแรง’ ด้วยมาตรการวัคซีนแล้ว ในพื้นที่นำร่องควรลดความเสี่ยงใน ‘การแพร่เชื้อ’ ด้วย ซึ่ง ศบค. ประกาศให้มีการใช้มาตรการควบคุมโรคแบบบูรณาการ โดยกิจกรรม/กิจการสามารถเปิดดำเนินการได้ภายใต้มาตรการป้องกันที่ทางราชการกำหนด เช่น มาตรการป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล (Universal prevention) มาตรการปลอดภัยสำหรับองค์กร (COVID free setting) และมาตรการอื่นๆ ที่คณะกรรมการโรคติดต่อแต่ละจังหวัดกำหนด

 

การป้องกันการแพร่เชื้อต้องอาศัยมาตรการทั้งระดับบุคคล องค์กร และชุมชน โดยระดับบุคคลที่ยังต้องปฏิบัติอยู่คือการสวมหน้ากากในสถานที่ปิด เช่น ห้องปรับอากาศ (ส่วนสถานที่เปิดโล่งและสามารถเว้นระยะห่างได้ เช่น สวนสาธารณะ ชายทะเล อาจไม่จำเป็น) และการล้างมือบ่อยๆ ในขณะที่ระดับองค์กรต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางวิศวกรรมให้อากาศถ่ายเทสะดวก ควบคุมจำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมไม่ให้แออัด ตรวจหาเชื้อด้วย ATK ก่อนเข้าร่วมกิจกรรม และตรวจหาเชื้อในพนักงงานเป็นประจำ

 

ระดับชุมชน หน่วยงานด้านสาธารณสุขยังคงต้องตรวจหาเชื้อ (Test) สอบสวนโรค (Trace) และแยกกักโรค (Isolation) หรือ TTI อยู่ เพื่อตรวจจับการระบาดได้เร็ว ควบคุมโรคได้ทัน และป้องกันไม่ให้ลาม โดยเฉพาะการเฝ้าระวังในกลุ่มอาชีพหรือสถานที่เสี่ยง เช่น อาชีพที่เกี่ยวข้องกันนักท่องเที่ยว ตลาด โรงงาน แคมป์ก่อสร้าง ซึ่งต้องทำไม่เพียงแต่ในพื้นที่นำร่องเท่านั้น แต่ควรขยายถึงตำบล/อำเภอ/จังหวัดข้างเคียง เช่น กรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งมีการเดินทางข้ามพื้นที่ไปมาทุกวัน

 

ให้ ‘แซนด์บ็อกซ์’ ทำนายกัน

แอบมองเธออยู่นะจ๊ะ แต่เธอไม่รู้บ้างเลย… เอาล่ะ เตรียมใจไว้หน่อย มันจะหัวก้อยต้องเสี่ยงกัน’ การเปิดประเทศแบบไม่ต้องกักตัวครั้งนี้ชวนให้นึกถึงเนื้อเพลง คุกกี้เสี่ยงทาย ของวง BNK48 เพราะมีความเสี่ยงรออยู่ข้างหน้า ทั้งจาก ‘ผู้ติดเชื้อนำเข้า’ จากต่างประเทศ ซึ่งอาจนำเข้าสายพันธุ์ใหม่เข้ามา และ ‘ผู้ติดเชื้อภายในประเทศ’ ซึ่งยังคงมีการระบาดอยู่ในหลายจังหวัด ส่วนมาตรการลดความเสี่ยงที่สำคัญคือความครอบคลุมของการฉีด ‘วัคซีน’ ยังไม่ถึงเป้าหมาย

 

Koisuru Fortune Cookie มาลุ้นดูสิ อาจจะเจอความหวังที่ยังรออยู่’ หลังจากปิดประเทศมานานเกือบ 2 ปี ทำให้ภาคเศรษฐกิจได้รับผลกระทบอย่างมาก ทุกคนน่าจะเห็นตรงกันว่าควรเปิดประเทศ แต่ประเด็นน่าจะอยู่ที่เปิดอย่างไรและเมื่อไรมากกว่า บางคนเห็นว่าควรเปิดเมืองให้กลับมาใช้ชีวิตใกล้เคียงกับปกติก่อน บางคนเห็นว่าควรเปิดแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่ในเมื่อ ศบค. ตัดสินใจเปิดพื้นที่นำร่อง (Sandbox) 17 จังหวัด ซึ่งครอบคลุมทุกภาคของประเทศไทยในเดือนพฤศจิกายนนี้

 

หลายคนจึงต้องลุ้นให้สถานการณ์ไม่แย่ลงไปกว่าที่เป็นอยู่ ทั้งที่ ศบค. มีเวลาเตรียมความพร้อมมากกว่า 120 วัน ส่วนระยะเวลาที่เหลืออีกประมาณ 1 สัปดาห์นี้ทุกฝ่ายในพื้นที่นำร่องและจังหวัดใกล้เคียงต้องเตรียมระบบป้องกันโรคให้รัดกุม และแผนรองรับในกรณีที่เกิดการระบาดขึ้น ความหวังของหลายคนในขณะนี้น่าจะเป็นการฉลองปีใหม่อย่างปลอดภัย ศบค. จะประคับประคองไปถึงจนถึงวันนั้นหรือไม่ ‘Come on, Come on, Come on, Come on, Baby ให้แซนด์บ็อกซ์ทำนายกัน

 

อ้างอิง

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X