อ้างอิงจากรายงานล่าสุดของ Credit Suisse พบว่า การที่ AirAsia ได้ปรับตัวสู่ธุรกิจที่ครอบคลุมทั้งการเดินทางและไลฟ์สไตล์ พร้อมขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีข้อมูลและเทคโนโลยี ทำให้ถูกยอมรับว่าเป็นหนึ่งในสามธุรกิจยูนิคอร์นแห่งอาเซียนที่อยู่ในมาเลเซีย ควบคู่ไปกับ Carsome และ Edotco
“ถือเป็นการตอกย้ำที่ดีมากว่ากลยุทธ์ของ AirAsia ในการเป็นมากกว่าสายการบิน และก้าวเข้าสู่ธุรกิจรูปแบบดิจิทัลเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องที่สุด เราได้สร้างตัวตนสำเร็จในตลาดอีคอมเมิร์ซและการขนส่งในภูมิภาคอาเซียน” โทนี เฟอร์นันเดส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม AirAsia กล่าว
ตามรายงานของ AirAsia ระบุว่า ธุรกิจดิจิทัลของบริษัท ประเมินมูลค่ากว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จึงได้รับสถานะยูนิคอร์นในเวลาไม่ถึงสองปี นับตั้งแต่ความพยายามในการเติบโตเพื่อเป็นมากกว่าสายการบิน ในช่วงที่ธุรกิจการบินต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบากอันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ของโควิด
เฟอร์นันเดสย้ำว่า ตอนนี้ AirAsia “ไม่ควรได้รับการจดจำในฐานะสายการบินเท่านั้น” แต่ควรเป็นกลุ่มผู้ให้บริการด้านดิจิทัล แม้รากฐานยังอยู่ในอุตสาหกรรมการบิน แต่ก็เติบโตได้อย่างดีด้วยการสร้างแพลตฟอร์มซูเปอร์แอปฯ ของตัวเอง รวมทั้ง AirAsia Academy ซึ่งเป็นหน่วยธุรกิจด้านการศึกษา นอกจากนี้ยังมี Teleport ทำธุรกิจการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์
รวมถึงธุรกิจบริการทางการเงิน BigPay ที่ให้บริการโซลูชัน FinTech ที่แข็งแกร่ง เพื่อก้าวสู่การเป็นธนาคารเสมือนจริงแห่งแรกของอาเซียน ส่วนในด้านสายการบิน มีแฟรนไชส์ร้านอาหารและกลุ่มธุรกิจเกี่ยวกับอาหารภายใต้แบรนด์ Santan และบริษัทวิศวกรรม – Asia Digital Engineering (ADE)
“เป้าหมายของเราคือการเป็นบริษัทจัดจำหน่ายดิจิทัลที่ได้รับความนิยม สร้างกำไร และสามารถบริหารจัดการต้นทุนได้มีประสิทธิภาพที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” เฟอร์นันเดสกล่าว
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP