×

วิกฤตพลังงานจีนเริ่มบานปลาย กระทบห่วงโซ่การผลิตโลกไล่ตั้งแต่ ‘iPhone’ ยัน ‘ฟาร์มรีดนมวัว’

08.10.2021
  • LOADING...
China energy crisis

วิกฤตขาดแคลนพลังงานของจีนเริ่มลุกลามบานปลายส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่การผลิตของโลกมากขึ้นเรื่อยๆ โดยธุรกิจที่ได้รับผลกระทบนั้นกินวงกว้างตั้งแต่ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อย่าง Toyota ไปจนถึงผู้ผลิตลังกระดาษและเกษตรกรเลี้ยงแกะในออสเตรเลีย 

 

โดยทั่วโลกต่างกำลังวิตกกังวลว่า การขาดแคลนพลังงานในจีนอาจส่งผลกระทบให้เงินเฟ้อในประเทศของตัวเองพุ่งสูงขึ้น เนื่องจากกำลังการผลิตที่ลดลงของจีนซึ่งเปรียบเสมือนโรงงานของโลกจะส่งผลให้การส่งมอบสินค้าสำหรับช่วงเทศกาลวันหยุดสิ้นปีล่าช้าออกไป ขณะเดียวกันในช่วงนี้ยังถือเป็นฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตรของจีน ทำให้ราคาอาหารและวัตถุดิบหลายชนิดมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้น

 

“ถ้าการขาดแคลนไฟฟ้าและการจำกัดกำลังการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรมจีนยังดำเนินต่อไป มันจะเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดปัญหาด้านอุปทานของโลก โดยเฉพาะหากโรงงานที่ผลิตเพื่อการส่งออกได้รับผลกระทบ” Louis Kuijs นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของ Oxford Economics กล่าว

 

เมื่อเร็วๆ นี้สำนักวิจัยหลายแห่งได้ออกมาเตือนถึงแนวโน้มการเติบโตที่ลดลงของเศรษฐกิจจีน โดย Citigroup มองว่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนจะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังเศรษฐกิจของประเทศที่จีนมีการนำเข้าสินค้าสูง เช่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ รวมถึงผู้ส่งออกเหล็กหลายใหญ่อย่างออสเตรเลียและชิลี ขณะที่เยอรมนีอีกหนึ่งคู่ค้าสำคัญก็น่าจะหนีผลกระทบไม่พ้นเช่นกัน

 

“นี่มันดูเหมือนภาวะช็อกจาก Stagflation ในภาคการผลิต ซึ่งไม่ใช่แค่เฉพาะจีน แต่เป็นทั่วโลก ราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นสะท้อนถึงความเกี่ยวข้องกับห่วงโซ่การผลิตโลกที่สูงของจีน” Craig Botham หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ Pantheon Macroeconomics ระบุ

 

แม้ว่าจีนได้พยายามแก้ไขปัญหาขาดแคลนพลังงานที่เกิดขึ้นด้วยการเพิ่มการผลิตถ่านหินในประเทศ รวมถึงเพิ่มการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ ขณะที่รัฐบาลจีนก็ได้ออกมายืนยันว่าจุดเลวร้ายสุดของวิกฤตพลังงานครั้งนี้กำลังจะจบลงในเร็วๆ นี้ 

 

แต่นักเศรษฐศาสตร์จาก Societe Generale SA ยังมองว่า อุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานสูงอย่าง เหล็ก อะลูมิเนียม และซีเมนต์ จะยังเจอปัญหาต่อเนื่องไปอีกหลายเดือน ขณะเดียวกันการเร่งนำเข้าก๊าซธรรมชาติของจีนจากต่างประเทศก็จะดันให้ราคาก๊าซธรรมชาติในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น

 

ด้านธนาคาร Barclays ของอังกฤษประเมินว่า นโยบายจำกัดการใช้พลังงานของจีนจะถูกบังคับใช้ต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า และถ้าทางการจีนบังคับใช้อย่างเข้มงวดธนาคารอาจปรับลดตัวเลขคาดการณ์ GDP จีนในปีนี้ลงมาเหลือ 6%

 

“รัฐบาลจีนจะต้องเจอกับการตัดสินใจที่ยากลำบาก ระหว่างการชะลอตัวทางเศรษฐกิจหรือจะยอมผ่อนคลายนโยบายการใช้พลังงานของประเทศลง” Jian Chang หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ Barclays กล่าว

 

สำนักข่าว Bloomberg ได้รวบรวมอุตสาหกรรมที่เริ่มได้รับผลกระทบและกำลังถูกกดดันจากวิกฤตขาดแคลนพลังงานของจีนเอาไว้ดังนี้

 

  1. กระดาษ

ข้อมูลจาก Rabobank ระบุว่า อุตสาหกรรมผลิตลังกระดาษและบรรจุภัณฑ์ห่อหุ้มสินค้าเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนพลังงานของจีนจนต้องลดการผลิตไปแล้ว 10-15% ในเดือนที่ผ่านมา โดยโรงงานหลายแห่งในจีนต้องหยุดการผลิตลงชั่วคราว

 

  1. อาหาร

ห่วงโซ่การผลิตอาหารโลกกำลังเผชิญกับความเสี่ยง เนื่องจากการขาดแคลนพลังงาน อาจส่งผลกระทบต่อฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิตของจีนซึ่งเป็นผู้ผลิตสินค้าเกษตรอันดับหนึ่งของโลก ราคาอาหารโลกในปีนี้ปรับตัวขึ้นทำสถิติสูงสุดในรอบ 10 ปีไปแล้ว และการขาดแคลนไฟฟ้าของจีนอาจทำให้สถานการณ์ดังกล่าวยิ่งแย่ลงไปอีก

 

ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาโรงงานแปรรูปถั่วเหลืองหลายแห่งของจีนถูกบังคับให้ต้องปิดตัวหรือลดกำลังการผลิตลงเพื่อประหยัดพลังงาน ทำให้ราคาอาหารสัตว์ น้ำมันพืช และปุ๋ย ปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

 

Rabobank ยังคาดว่าการขาดแคลนไฟฟ้าน่าจะส่งผลกระทบต่อฟาร์มนมวัวบางส่วนด้วย เนื่องจากเครื่องรีดนมต้องใช้ไฟฟ้า ขณะที่ธุรกิจชำแหละหมูก็ได้รับผลกระทบในด้านการจัดเก็บสินค้าในห้องเย็นเช่นกัน

 

  1. ขนสัตว์

Australian Broadcasting รายงานข่าวว่า เกษตรกรผู้เลี้ยงแกะในออสเตรเลียเริ่มเห็นผลกระทบจากการขาดแคลนพลังงานของจีนแล้วจากการสั่งซื้อขนสัตว์ที่ลดลง เนื่องจากโรงงานแปรรูปในจีนต้องลดกำลังการผลิตลง 40%

 

  1. เทคโนโลยี

อุตสาหกรรมเทคโนโลยีได้รับผลกระทบค่อนข้างรุนแรง เนื่องจากจีนเป็นฐานการผลิตใหญ่ของอุปกรณ์สำหรับ iPhone และเครื่องเล่นเกม ขณะเดียวกันยังเป็นศูนย์กลางสำคัญในการบรรจุเซมิคอนดักเตอร์และอุปกรณ์ชิ้นส่วนยานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้า

 

บริษัทด้านเทคโนโลยีหลายแห่งต้องปฏิบัติตามกฎเรื่องการใช้พลังงานของรัฐบาลจีน โดย Pegatron พาร์ตเนอร์ในจีนของ Apple เป็นหนึ่งในนั้น ขณะที่ ASE Technology ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์สำหรับชิปคอมพิวเตอร์รายใหญ่ที่สุดของโลกก็ต้องหยุดการผลิตเป็นเวลาหลายวัน หลายฝ่ายยังมองด้วยว่าหากผลกระทบลุกลามไปถึงการผลิตของ Dell Technologies และ Sony Group อาจทำให้ปัญหาขาดแคลนชิปของโลกรุนแรงขึ้นได้

 

  1. ยานยนต์ 

Toyata ซึ่งผลิตรถยนต์มากกว่า 1 ล้านคันต่อปีในจีน ได้ออกมาเปิดเผยว่า โรงงานของพวกเขาในเทียนจินและกวางโจว ได้รับผลกระทบจากปัญหาขาดแคลนไฟฟ้า ทั้งนี้คงต้องจับตาดูว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจของจีนที่จะกลับมาจากวันหยุดยาวหรือ Golden Week ของจีนในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนตุลาคม จะทำให้การใช้ไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นจนกระทบต่อภาคการผลิตอีกหรือไม่

 

อ้างอิง:

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X