ในขณะที่แนวคิดในการสร้างรายได้จากทรัพย์สินของ ‘การรถไฟแห่งประเทศไทย’ (รฟท.) มีมาหลายปีแล้ว แต่ปัจจุบันแผนดังกล่าวกำลังเป็นรูปเป็นร่าง เพราะมีการจัดตั้งบริษัทเพื่อบริหารจัดการและสร้างรายได้จากทรัพย์สิน
รายงานของ Bloomberg ระบุว่า อสังหาริมทรัพย์ระดับไพร์มจะถูกโอนไปยังหน่วยจัดการสินทรัพย์ ซึ่งเรื่องนี้ถูกพูดโดย ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
รฟท. ก่อตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2433 เพื่อให้บริการขนส่งที่ไม่แสวงหาผลกำไร โดยมีที่ดินในมือกว่า 44,000 เฮกตาร์ทั่วประเทศไทย ทว่าแม้จะเป็นเจ้าของทรัพย์สินรายใหญ่ที่สุดของประเทศ แต่ รฟท. ก็เป็นหนึ่งในหน่วยงานของรัฐที่มีหนี้มากที่สุดเช่นกัน
เพื่อแก้ปัญหาหนี้สินที่สะสมมานาน รฟท. ควรมีรายได้เพิ่มเติมอย่างน้อย 6 แสนล้านบาท ในช่วง 30 ปีข้างหน้า ศักดิ์สยามกล่าวว่า ที่ดินโดยเฉพาะอย่างยิ่งในใจกลางกรุงเทพฯ อาจมีมูลค่ามากกว่าการประเมินในปัจจุบัน หากสามารถพัฒนาเป็นโครงการแนวสูงหรือมิกซ์ยูสได้
รฟท. ขาดทุนรวมกันจากการดำเนินงานเกือบ 4 หมื่นล้านบาทในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่ง “จากประวัติความไร้ประสิทธิภาพของ รฟท. เป็นเรื่องยากที่จะเห็นว่าแผนการดำเนินงานที่ไม่ใช่ธุรกิจหลัก จะสามารถชดเชยการสูญเสียในธุรกิจหลักอย่างยั่งยืนได้อย่างไร” ภวิดา ปานะนนท์ ศาสตราจารย์ประจำสาขาวิชาการบริหารธุรกิจระหว่างประเทศ โลจิสติกส์และการขนส่ง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าว พร้อมเสริมว่า ควรมุ่งเน้นที่การจัดการบริการขนส่งสำหรับผู้คนและสินค้า ไม่ใช่การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์
อย่างไรก็ตาม ศักดิ์สยามระบุว่า การจัดตั้งหน่วยงานที่เข้ามาดูแลเรื่องสินทรัพย์ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของโครงการปรับปรุงกิจการรถไฟให้ทันสมัย นอกจากนี้ยังมีแผนอื่นๆ ที่จะดึงบริษัทเอกชนเข้ามาด้วย ซึ่งตัวอย่างของความเป็นไปได้ในการพัฒนาคือ สถานีกลางบางซื่อ ที่มีมูลค่าการลงทุนกว่า 1.3 พันล้านดอลลาร์ หรือราว 4.4 หมื่นล้านบาท นอกจากอาคารหลักที่มีขนาดใหญ่ถึง 40 สนามฟุตบอล ที่ดินเปล่าที่ล้อมรอบอยู่สามารถนำมาทำอาคารสำนักงาน ห้างสรรพสินค้า และที่อยู่อาศัย
หากความพยายามของ รฟท. ประสบความสำเร็จ ศักดิ์สยามมองว่า รฟท. อาจมีมูลค่ามากกว่า บมจ.ท่าอากาศยานไทย ซึ่งปัจจุบันเป็นบริษัทจดทะเบียนที่ใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศ ตามมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด
อ้างอิง: