วันนี้ (23 กันยายน) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดย วสันต์ ภัยหลีกลี้ และ ศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 1/2564 โดยมีวาระและรายละเอียดที่น่าสนใจคือ ผลการติดตามการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน เกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อ HIV ในการสมัครงานกับบริษัทเอกชน
กสม. ระบุว่า ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ร้อง 6 ราย นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2560 – สิงหาคม 2561 ในกรณีปัญหาเกี่ยวกับการที่บริษัทเอกชนจำนวน 6 แห่ง ซึ่งประกอบกิจการเกี่ยวกับธุรกิจยานยนต์ เฟอร์นิเจอร์ ก่อสร้าง วัสดุก่อสร้าง ประกันภัย และโรงแรม ได้ให้ผู้สมัครงานตรวจสุขภาพและตรวจหาเชื้อ HIV ก่อนรับเข้าทำงาน ซึ่งการกำหนดให้การตรวจเชื้อ HIV เป็นส่วนหนึ่งของขั้นตอนการคัดเลือกบุคคลเข้าทำงาน เป็นการกระทำที่เป็นการเลือกปฏิบัติ โดยอาศัยเหตุแห่งสถานภาพทางสาธารณสุขอันถือเป็นสถานภาพอย่างอื่น (Other Status) การกระทำของบริษัทผู้ถูกร้องจึงเป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน และไม่สอดคล้องตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 และกติการะหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคี โดยได้มีข้อเสนอแนะให้บริษัทพิจารณายกเลิกเงื่อนไขการตรวจหาเชื้อ HIV ก่อนรับเข้าทำงานในทุกตำแหน่ง
กสม. ได้ติดตามผลการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะมาอย่างต่อเนื่อง กระทั่งเมื่อเดือนกันยายน 2564 ได้รับแจ้งจากผู้ถูกร้อง 5 ราย ว่าได้ยกเลิกเงื่อนไขการตรวจหาเชื้อ HIV ก่อนรับเข้าทำงานในทุกตำแหน่ง อันเป็นการขจัดอุปสรรคหรือข้อจำกัดในการเข้าถึงสิทธิในการประกอบอาชีพของผู้ติดเชื้อ HIV ขณะที่อีกรายได้ย้ำกับบริษัทที่เป็นผู้ดำเนินการคัดกรองผู้สมัครงานถึงนโยบายการไม่เลือกปฏิบัติต่อผู้สมัครที่ติดเชื้อ HIV
ขณะที่กรณีการเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อ HIV กรณีกล่าวอ้างว่า กฎ ก.ตร. ว่าด้วยคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของการเป็นข้าราชการตำรวจ พ.ศ. 2547 มีการเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อ HIV
กสม. ได้รับเรื่องร้องเรียนเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2561 กรณีทายาทของข้าราชการตำรวจรายหนึ่ง (นาย ส.) ที่เสียชีวิตเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ราชการ ได้สมัครและเข้ารับการคัดเลือกเพื่อบรรจุแต่งตั้งเป็นข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตร แต่ไม่ผ่านการตรวจร่างกายตามกฎ ก.ตร. ว่าด้วยคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของการเป็นข้าราชการตำรวจ พ.ศ. 2547 และถูกปฏิเสธการบรรจุแต่งตั้ง เนื่องจากเป็นผู้ติดเชื้อ HIV กสม. พิจารณาแล้วเห็นว่า การที่สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ดำเนินการให้มีการตรวจเชื้อ HIV โดยเป็นส่วนหนึ่งของขั้นตอนการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุแต่งตั้งเป็นข้าราชการตำรวจ และนำผลการตรวจไปเป็นเหตุในการปฏิเสธไม่บรรจุแต่งตั้งนาย ส. เป็นข้าราชการตำรวจ เป็นการกระทำที่เป็นการเลือกปฏิบัติต่อนาย ส. โดยเหตุที่เป็นผู้ติดเชื้อ HIV อันเป็นการอาศัยเหตุแห่งสถานภาพอย่างอื่น และเป็นการกระทำที่ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 และกติการะหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีที่จะต้องปฏิบัติตาม อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อนาย ส.
ทั้งนี้ กสม. ได้มีข้อเสนอแนะให้สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจและผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติพิจารณาบรรจุแต่งตั้งนาย ส. เป็นข้าราชการตำรวจ เพื่อไม่เป็นการเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อ HIV และเพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการแพทย์ที่ได้รับการยอมรับเป็นการทั่วไปนั้น แต่เนื่องจากเรื่องนี้มีการฟ้องร้องเป็นคดีอยู่ในศาล หรือเป็นเรื่องที่ศาลมีคำพิพากษา คำสั่ง หรือคำวินิจฉัยเสร็จเด็ดขาดแล้ว จึงเห็นสมควรยุติการติดตามผลดำเนินการ
สำหรับกรณีกฎ ก.ตร. ว่าด้วยคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของการเป็นข้าราชการตำรวจ พ.ศ. 2547 และบัญชีโรคหรืออาการที่ไม่ควรเป็นข้าราชการตำรวจ ห้ามรับผู้ติดเชื้อ HIV เป็นข้าราชการตำรวจนั้น กสม. จะได้หารือกับฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเครือข่ายผู้ติดเชื้อ HIV/เอดส์ และเครือข่ายกลุ่มประชากรที่มีความเปราะบางต่อการถูกเลือกปฏิบัติ ถึงแนวทางในการดำเนินการต่อไป และจะได้หารือถึงความร่วมมือในการสนับสนุนให้มีกฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล เพื่อลดปัญหาการเลือกปฏิบัติ และเป็นหลักประกันสิทธิเสรีภาพของประชากรกลุ่มเปราะบางต่อการถูกเลือกปฏิบัติทั้งหลาย