วานนี้ (19 กันยายน) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร เตรียมเรียกร้องให้บรรดาผู้นำประเทศมั่งคั่งช่วยกันระดมทุน 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3.3 ล้านล้านบาท) ช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนารับมือกับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและภาวะโลกร้อน
“บรรดาประเทศร่ำรวยกำลังเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากมลพิษที่ถูกสร้างขึ้นมาอย่างไม่มีจำกัดตลอดช่วงหลายอายุคน บ่อยครั้งที่สิ่งนี้กลายเป็นค่าใช้จ่ายที่ประเทศกำลังพัฒนาต้องแบกรับ พวกเขาพยายามพัฒนาเศรษฐกิจไปในทิศทางที่สะอาด สีเขียว และยั่งยืน พวกเรามีหน้าที่จะต้องสนับสนุนพวกเขาด้วยเทคโนโลยี ด้วยผู้เชี่ยวชาญที่เรามี และด้วยเงินทุนที่เราได้สัญญาไว้”
โดยคาดว่าจอห์นสันจะเข้าพบกับประธานาธิบดีโจ ไบเดน เพื่อหารือถึงประเด็นดังกล่าวที่ทำเนียบขาว สหรัฐอเมริกา ซึ่งในสัปดาห์นี้ยังมีการประชุมสมัชชาใหญ่ของสหประชาชาติ (UNGA 76) จัดขึ้นที่สำนักงานใหญ่ในรัฐนิวยอร์กอีกด้วย
นอกจากนี้ จอห์นสันยังเตรียมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ COP26 ที่เมืองกลาสโกว์ สกอตแลนด์ สหราชอาณาจักร ระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม – 12 พฤศจิกายนนี้
อย่างไรก็ตาม อล็อก ชาร์มา ประธาน COP26 ระบุว่า ขณะนี้ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีนยังไม่ได้ตอบรับเข้ารับการประชุมในครั้งนี้ แม้จะเหลือระยะเวลาไม่ถึง 50 วันก่อนที่การประชุมจะเริ่มต้นขึ้น โดยผู้นำจีนถือเป็นหนึ่งในประเทศสำคัญที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในโลก การที่จีนยอมเข้าร่วมการประชุม จะช่วยทำให้ COP26 สามารถก้าวไปในทิศทางที่ประเทศในประชาคมโลกก้าวไปข้างหน้าด้วยกันได้
ผู้นำสหราชอาณาจักรระบุว่า ผู้นำประเทศพัฒนาแล้วเห็นพ้องที่จะระดมทุนช่วยเหลือ 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีแก่ประเทศกำลังพัฒนาภายในปี 2020 เพื่อช่วยประเทศเหล่านั้นในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่เมื่อปี 2019 ที่ผ่านมา สามารถระดมทุนได้ 7.96 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งต่ำกว่าเป้าที่วางไว้ โดยคาดว่า สหราชอาณาจักรจะร้องขอให้เยอรมนีและแคนาดาร่วมผลักดันแผน ‘$100bn Delivery Plan’ นี้
ที่ผ่านมารัฐบาลสหราชอาณาจักรได้สนับสนุนทางด้านการเงิน เพื่อสภาพภูมิอากาศระหว่างประเทศในช่วง 5 ปีข้างหน้าแล้ว 1.16 หมื่นล้านปอนด์ (ราว 5.3 แสนล้านบาท) ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว เมื่อเทียบกับ 5 ปีที่แล้ว โดย 550 ล้านปอนด์ (2.5 หมื่นล้านบาท) จะใช้สนับสนุนประเทศกำลังพัฒนาในการปรับใช้นโยบายและเทคโนโลยีเพื่อยุติการใช้พลังงานจากถ่านหิน
โดยเมื่อกลางปี 2019 สหราชอาณาจักรภายใต้การบริหารประเทศของอดีตนายกรัฐมนตรี เทเรซา เมย์ แสดงจุดยืนสำคัญ ผลักดันการบังคับใช้กฎหมายที่จะทำให้สหราชอาณาจักรกลายเป็นประเทศที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิจนเป็นศูนย์ภายในปี 2050 และตั้งเป้าจะยุติการผลิต จำหน่าย และนำเข้ายานพาหนะที่ใช้น้ำมันดีเซลและเบนซินตั้งแต่ปี 2040 เป็นต้นไป นับเป็นประเทศแรกในกลุ่ม G7 ที่ตั้งเป้าหมายอย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม
บทความที่เกี่ยวข้อง:
ภาพ: Tayfun Salci / Anadolu Agency via Getty Images
อ้างอิง:
- https://news.sky.com/story/boris-johnson-calls-on-richest-countries-to-meet-100bn-climate-pledge-12412434
- https://www.thetimes.co.uk/article/its-payback-time-on-climate-boris-johnson-warns-wealthiest-nations-2czmc77rj
- https://www.independent.co.uk/climate-change/news/climate-change-cop26-un-johnson-b1922811.html