จากกรณีที่สภาผู้แทนราษฎรลงคะแนนเสียงเห็นชอบในหลักการต่อร่างกฎหมาย ที่มุ่งกำหนดความผิดอาญาจากการกระทำทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหายในประเทศไทยเป็นครั้งแรก
ล่าสุดวันนี้ (17 กันยายน) เอ็มเมอร์ลีน จิล รองผู้อำนวยการสำนักงานภูมิภาคฝ่ายวิจัย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เห็นถึงพัฒนาการที่เกิดขึ้นต่อกฎหมายฉบับแรกที่เกี่ยวเนื่องกับความผิดอาญาดังกล่าวที่เดินหน้ามาถึงจุดนี้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องคุ้มครองบุคคลให้รอดพ้นและปลอดภัยจากการละเมิดที่ร้ายแรง รวมทั้งคืนความยุติธรรมให้กับผู้เสียหายและครอบครัว ซึ่งไม่ได้รับความเป็นธรรมมาเป็นเวลานาน
“ในบัดนี้ทางการต้องเร่งดำเนินการขั้นต่อไป และประกันว่าร่างกฎหมายฉบับปัจจุบันต้องสอดคล้องกับพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของไทยอย่างเต็มที่ และประกาศใช้เป็นกฎหมายอย่างรวดเร็ว
“ความล่าช้าของรัฐบาลในการกำหนดให้การทรมานและการบังคับบุคลให้สูญหายเป็นความผิดอาญา ส่งผลให้ผู้เสียหายไม่สามารถเข้าถึงความยุติธรรม และเป็นเหตุให้ผู้เสียหายคนอื่นไม่กล้าออกมาร้องเรียน ทั้งยังส่งสัญญาณต่อเจ้าพนักงานว่า พวกเขาไม่อาจกระทำการละเมิดเช่นนี้ได้อีกโดยไม่ต้องรับโทษ
“ผู้เสียหายจากการทรมานและญาติของผู้ถูกบังคับให้สูญหาย ทั้งกรณีของทนายสมชาย นีละไพจิตร และนักกิจกรรมอย่าง วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ที่ถูกอุ้มหาย ยังคงยืนหยัดในการรณรงค์ให้มีการประกาศใช้กฎหมายดังกล่าว เพื่อเปิดทางให้พวกเขาได้รับความยุติธรรม เข้าถึงความจริง และการเยียวยาสำหรับครอบครัว ร่างกฎหมายนี้ภายหลังการแก้ไขเพิ่มเติม อาจเป็นหนทางหนึ่งที่ช่วยพวกเขาในเรื่องนี้ได้
“การลงคะแนนเสียงเห็นชอบร่างกฎหมายนี้นับเป็นก้าวแรกที่สำคัญ แต่ยังไม่เพียงพอ รายงานข่าวล่าสุดเกี่ยวกับการทรมานโดยตำรวจ เน้นให้เห็นถึงความจำเป็นที่รัฐบาลไทยต้องหาทางแก้ไขปัญหาการทรมานและการใช้อำนาจอย่างมิชอบของเจ้าพนักงานบางคนอย่างมีประสิทธิภาพ
“แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เรียกร้องทางการไทยให้ประกาศใช้กฎหมาย โดยให้ใช้นิยามของการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหายที่สอดคล้องตามเนื้อหาของกฎหมายระหว่างประเทศอย่างเต็มที่ กำหนดความรับผิดชอบทางกฎหมายต่อเจ้าพนักงานในทุกระดับของสายการบังคับบัญชา และให้เคารพหลักการไม่ส่งกลับ (ไปยังสถานที่ที่เสี่ยงต่อการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง) ตามกฎหมาย”
อ้างอิง: