×

นั่งแยกชายหญิง-บางแห่งใช้ม่านกั้น หลังมหาวิทยาลัยในอัฟกานิสถานกลับมาเปิดการเรียนการสอนอีกครั้ง

07.09.2021
  • LOADING...
มหาวิทยาลัยในอัฟกานิสถาน

วานนี้ (6 กันยายน) มหาวิทยาลัยหลายแห่งในอัฟกานิสถานกลับมาเปิดการเรียนการสอนอีกครั้ง หลังกลุ่มกองกำลังติดอาวุธตาลีบันยึดกรุงคาบูลและโค่นล้มรัฐบาลอัฟกันมานานกว่า 3 สัปดาห์ โดยมีการสั่งให้นักเรียนนักศึกษานั่งแยกชายและหญิง บางแห่งใช้ม่านมากั้นระหว่างกลาง ซึ่งประเด็นด้านสิทธิสตรีถือเป็นหนึ่งในประเด็นที่ประชาคมโลกจับตามองอัฟกานิสถานภายใต้ตาลีบันในขณะนี้

 

ที่ผ่านมา ตาลีบันเคยขึ้นปกครองประเทศเมื่อช่วงปี 1996-2001 ซึ่งในขณะนั้นมีการจำกัดสิทธิและพื้นที่ของผู้หญิงในแวดวงการศึกษา รวมถึงสังคมของการทำงาน แต่หลังจากที่กลุ่มตาลีบันกลับขึ้นมาบริหารประเทศอีกครั้งในรอบ 20 ปี กลุ่มนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิสตรีต่างยังคงรวมกลุ่มเรียกร้องให้กลุ่มตาลีบันประกันสิทธิและเปิดพื้นที่ให้แก่เด็กและผู้หญิง เพื่อร่วมเป็นส่วนสำคัญของสังคมอัฟกัน 

 

ทางด้านอันจิลา นักศึกษาหญิงของมหาวิทยาลัยในกรุงคาบูลให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Reuters ระบุว่า “การนำม่านมากั้นถือเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ ฉันรู้สึกแย่มากจริงๆ ตอนเดินเข้าไปในชั้นเรียน เรากำลังค่อยๆ ถอยหลังกลับไปเมื่อ 20 ปีก่อน” โดยเธอยังระบุอีกว่า แม้ก่อนหน้าที่กลุ่มตาลีบันจะบุกยึดอำนาจ จะมีการนั่งเว้นระยะห่างจากผู้ชายอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้แบ่งแยกกันทางกายภาพชัดเจนมากขนาดนี้

 

ในเอกสารบ่งชี้ระเบียบการจัดการเรียนการสอนภายในมหาวิทยาลัยในอัฟกานิสถาน ระบุให้ผู้หญิงต้องสวมฮิญาบขณะอยู่ในชั้นเรียน มีการแยกประตูเข้าออกกับผู้ชาย มหาวิทยาลัยบางแห่งมีคำสั่งให้จ้างคณาจารย์ผู้หญิง เพื่อมาทำการสอนแก่นักศึกษาหญิงโดยเฉพาะ พร้อมระบุว่าจะต้องมีการแยกชายหญิง ให้ผู้หญิงเรียนในชั้นเรียนย่อยหรือชั้นเรียนขนาดเล็ก หรือใช้ม่านกั้นกลางระหว่างผู้ชายและผู้หญิง 

 

ขณะที่สมาชิกอาวุโสของกลุ่มตาลีบันระบุว่า การแบ่งห้องเรียนโดยใช้ม่านกั้นถือเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ทั้งหมด เนื่องจากอัฟกานิสถานมีข้อจำกัดด้านทรัพยากรและจำนวนแรงงานคน นี่จึงเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่เราจะให้อาจารย์คนเดียวกันสอนชั้นเรียนทั้งสองฝั่งทั้งผู้ชายและผู้หญิง

 

นอกจากประเด็นด้านสิทธิสตรีแล้ว อาจารย์จำนวนไม่น้อยยังกังวลในเรื่องของจำนวนนักเรียนนักศึกษาที่อาจจะหลุดออกจากระบบการศึกษาของอัฟกานิสถาน หลังจากเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย หลายภาคส่วนหยุดชะงักหรือได้รับความเสียหายอย่างหนักจากการเข้ายึดอำนาจของกลุ่มตาลีบัน ยังไม่นับรวมกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด ส่งผลให้นักเรียนนักศึกษาจำนวนมากอาจไม่ได้กลับเข้าสู่ชั้นเรียน เนื่องจากปัญหาทางด้านการเงิน บางครอบครัวขาดรายได้เนื่องจากถูกยกเลิกการจ้างงาน

 

บทความที่เกี่ยวข้อง:

 

ภาพ: Social media handout / via Reuters

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X