คณะอนุกรรมการด้านการปกป้องนักลงทุน ผู้ประกอบการ และตลาดทุน (Subcommittee on Investor Protection, Entrepreneurship and Capital Markets) ของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ได้กำหนดประชุมพิจารณาเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงต่างๆ จากการที่บริษัทสัญชาติจีนเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหุ้นของสหรัฐฯ ซึ่งการประชุมจะมีขึ้นในวันที่ 22 กันยายนนี้
โดยประเด็นหลักของการหารือ นอกจากพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นในเรื่องความเสี่ยงที่บริษัทต่างชาติ โดยเฉพาะจีน จะทำให้เกิดขึ้นจากการเข้ามาจดทะเบียนในตลาดสหรัฐฯ แล้ว ยังจะหารือเรื่องแนวทางการรับมือและมาตรการป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นด้วย
การเปิดเวทีรับฟังดังกล่าวมีขึ้นท่ามกลางความวิตกกังวลเกี่ยวกับการที่รัฐบาลจีนเดินหน้ายกระดับมาตรการกำกับดูแลและตรวจสอบบริษัทจีน ซึ่งไม่เพียงแต่มีผลกระทบต่อแผนการลงทุนในตลาดต่างประเทศของบริษัทเหล่านั้นเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อนักลงทุนต่างชาติที่เข้าไปลงทุนในบริษัทจีนด้วย เห็นได้จากความเคลื่อนไหวเมื่อไม่นานมานี้ที่หลังมีรายงานกวดขันของทางการจีนเพียงไม่นาน ราคาหุ้นจีนในตลาดสหรัฐฯ ก็ปรับตัวดิ่งลงแรงทันที
ทั้งนี้ ดัชนี NASDAQ Golden Dragon China Index ซึ่งติดตามความเคลื่อนไหวของบริษัทยักษ์ใหญ่สัญชาติจีน 98 แห่ง ที่จดทะเบียนในตลาดสหรัฐฯ ต่างปรับตัวลดลงทันทีเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม ซึ่งเป็นวันเดียวกันกับที่ทางการจีนเผยแพร่ร่างกฎระเบียบกำกับตลาด ที่มุ่งปกป้องการแข่งขันออนไลน์ให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้น โดยดัชนีดังกล่าวปรับตัวลดลงหนักถึง 26%
ขณะที่คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ (SEC) ได้ออกคำเตือนถึงนักลงทุนเกี่ยวกับความเสี่ยงของการลงทุนในบริษัทจีนในตลาด ณ เวลานี้ โดย แกรี เกนสเลอร์ ประธาน SEC ได้มีคำสั่งระงับการอนุมัติการออกหุ้น IPO ให้กับบริษัทสัญชาติจีนเป็นการชั่วคราวด้วย
แม้ความเคลื่อนไหวของทางการจีนจะทำให้เกิดความเสี่ยงในตลาดหุ้นวอลล์สตรีท แต่บรรยากาศโดยรวมของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในช่วงเวลานี้ถือได้ว่าค่อนข้างผ่อนคลายจากความวิตกกังวลมากพอสมควร เมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านๆ มา หลังจากถ้อยแถลงของ เจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ช่วยสร้างความเชื่อมั่นว่า Fed จะยังไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเร็ววันนี้ แม้จะเดินหน้าลดปริมาณซื้อพันธบัตรรัฐบาลรายเดือนในมาตการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ภายในสิ้นปีนี้ก็ตาม
โดยดัชนี Fear & Greed ของ CNN Business เมื่อวันจันทร์ (30 สิงหาคม) ที่ผ่านมา ขยับขึ้นมาอยู่ในฝั่ง Greed สะท้อนอารมณ์ของนักลงทุนที่พร้อมลงทุนอย่างคึกคัก ก่อนจะขยับลดลงเล็กน้อย มาอยู่ที่ค่ากลาง คือไม่ Fear และไม่ Greed ในช่วงเช้าวันอังคาร (31 สิงหาคม) ซึ่งก่อนหน้านี้ในช่วงปลายสัปดาห์ที่แล้ว ดัชนีดังกล่าวเพิ่งจะดิ่งหนักอยู่ที่ระดับ ‘Extreme Fear’ หรือกลัวขั้นสุด
สัญญาณการคลายความวิตกของนักลงทุนยังแสดงให้เห็นใน VIX ซึ่งเป็นมาตรวัดความผันผวน ความต้องการพันธบัตร ‘ขยะ’ (Junk) และการซื้อขายอนุพันธ์ออปชันในตลาดก็ลดลงจาก Extreme Fear ในสัปดาห์ที่แล้วมาอยู่ที่ Fear
จิมมี ฉาง หัวหน้าเจ้าหน้าที่ลงทุนของสำนักงาน Rockefeller Global Family Office กล่าวว่า การที่บรรยากาศตลาดหุ้นคลี่คลายเพราะ Fed แม้จะอยู่ท่ามกลางสถานการณ์โควิดสายพันธุ์เดลตาที่ยังไม่คลี่คลาย และความตึงเครียดในอัฟกานิสถาน ทำให้ตลาดอยู่ในสภาพ ‘เทฟลอน’ ที่นักลงทุนพร้อมลงทุนเพราะพอใจต่อท่าทีของ Fed โดยไม่สนใจต่อสถานการณ์แวดล้อมที่ไม่น่าพึงใจอื่นๆ
ทั้งนี้ ดัชนี S&P 500 และดัชนี Nasdaq ขยับพุ่งนำนิวไฮระลอกใหม่เมื่อวันจันทร์ที่ 30 สิงหาคม ก่อนขยับลดลงมาเล็กน้อยในวันอังคารที่ 31 สิงหาคม ส่งผลให้ภาพรวมความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นโดยรวมในเดือนสิงหาคมปี 2021 ถือเป็นเดือนที่ดีอีกเดือนหนึ่ง เนื่องจากดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ขยับขึ้นมากกว่า 1% ขณะที่ดัชนี Nasdaq พุ่งขึ้นราว 4% และดัชนี S&P 500 พุ่งขึ้นเกือบ 3%
นักวิเคราะห์มองว่า นักลงทุนส่วนใหญ่ขยับเข้าลงทุนด้วยความรู้สึกว่า แม้จะมีสถานการณ์ให้น่าหวั่นใจ แต่ตนเองกับกลัวพลาด หรือ Fear of Missing Out (FOMO) มากกว่า โดยหุ้นของบริษัทด้านบริการสุขภาพ พลังงาน สาธารณูปโภค อสังหาริมทรัพย์ และเทคโนโลยี เป็นหุ้นที่ได้รับความสนใจมากที่สุด
อ้างอิง: