×

ถอดตัวตนและชิ้นงานแบบเอ็กซ์คลูซีฟกับ ‘Saber’ ศิลปินกราฟฟิตี้ระดับโลก

04.12.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins read
  • เซเบอร์ คือศิลปินแนวหน้าของสหรัฐอเมริกาที่สร้างผลงานด้วยประสบการณ์ในวงการศิลปะร่วมสมัยกว่า 20 ปี เขาเดินทางมายังกรุงเทพฯ เพื่อสร้างสรรค์ผลงานชิ้นใหม่ในชื่อ ‘Decoding City of Angels’ การถอดรหัสแปลความหมายในสายตาของเขาที่มีต่อเมืองหลวงที่ชื่อ ‘กรุงเทพฯ’ ของเรา
  • นี่เป็นบทสัมภาษณ์สุดเอ็กซ์คลูซีฟ เพราะ THE STANDARD เป็นสื่อออนไลน์เพียงแห่งเดียวที่ได้นั่งสัมภาษณ์เพื่อทำความรู้จักกับตัวตนและชิ้นงานใหม่ของเขาให้แฟนศิลปินคนนี้ในเมืองไทยได้สัมผัสเซเบอร์อย่างใกล้ชิดกว่าที่เคย!

สารภาพตามตรงก่อนว่าตัวผมเองไม่ได้เป็นแฟนงานศิลปะในรูปแบบกราฟฟิตี้สักเท่าไรนัก ด้วยเป็นศิลปะที่เต็มไปด้วยลวดลายและสีสันที่เรามองเห็นได้ตามท้องถนน ซึ่งเป็นแขนงหนึ่งในฐานะสตรีทอาร์ตที่ศิลปินขบถใช้พื้นที่สาธารณะในการแสดงชิ้นงาน ซึ่งบางทีเราเองก็มองว่ามันอาจจะเป็นภาวะรบกวนทางสายตาและส่งผลกระทบต่อพื้นที่นั้นๆ หรือเปล่า

 

 

แต่ผมอาจจะต้องเปลี่ยนความคิดของตัวเองที่มีต่อกราฟฟิตี้ไป เพราะนี่ไม่ใช่โอกาสง่ายๆ ที่ผมจะได้มานั่งคุยกับศิลปินกราฟฟิตี้ดังระดับโลกที่ชื่อ เซเบอร์ (Saber) ศิลปินแนวหน้าของสหรัฐอเมริกาที่สร้างผลงานด้วยประสบการณ์ในวงการศิลปะร่วมสมัยเป็นระยะเวลากว่า 20 ปี จนได้รับการยอมรับจากเหล่าศิลปินรุ่นใหม่ และเป็นหนึ่งในศิลปินที่ทรงอิทธิพลที่สุดของยุคที่บอกว่ากราฟฟิตี้ไม่ใช่แค่เรื่องข้างถนน แต่มันคืองานศิลปะที่เต็มไปด้วยความตั้งใจ ทั้งยังสอดแทรกความคิดและทัศนคติที่มีต่อเรื่องราวอื่นๆ ในสังคมได้เช่นกัน

 

 

ผลงานของเซเบอร์เริ่มต้นจากการเป็นศิลปินกราฟฟิตี้ในกลุ่ม MSK และ AWR เขาได้สร้างปรากฏการณ์ให้วงการศิลปะร่วมสมัยอย่างกว้างขวาง เช่น การสร้างกราฟฟิตี้ที่ใหญ่ที่สุดในโลกจนสามารถมองเห็นจากภาพถ่ายดาวเทียมนอกโลก หรือการสร้างงานศิลปะบนท้องฟ้าด้วยการเพนต์ท้องฟ้าครั้งแรกของโลก เพื่อแสดงอุดมการณ์ต่อรัฐบาลสหรัฐอเมริกาด้วยการสร้างงานศิลปะที่สะท้อนความคิดที่มีต่อสังคม ใช้แรงบันดาลใจจากสิ่งแวดล้อมและผู้คนรอบตัวถ่ายทอดทัศนคติของตนเอง ทำให้ผลงานของเขาเป็นที่ยอมรับในกลุ่มศิลปินและนักสะสมศิลปะทั่วโลกมาอย่างต่อเนื่อง

 

 

เซเบอร์ตอบรับคำชวนของเพื่อนๆ และเดินทางมายังกรุงเทพฯ เมืองฟ้าอมรเพื่อสร้างสรรค์ผลงานชิ้นใหม่ในชื่อ ‘Decoding City of Angels’ การถอดรหัสแปลความหมายกรุงเทพฯ ผ่านสายตาของเขาที่มีต่อเมืองหลวงของเรา ซึ่ง THE STANDARD ขอพาคุณไปทำความรู้จักตัวตนและชิ้นงานของเขาให้แฟนๆ ของศิลปินคนนี้ในเมืองไทยได้สัมผัสเซเบอร์อย่างใกล้ชิดกว่าที่เคย

 

 

“นี่คงเป็นการมาเมืองไทยครั้งแรกของคุณสินะ?” ผมเริ่มถามด้วยคำถามง่ายๆ เวลาเราพบเจอชาวต่างชาติที่ไม่คุ้นเคย และทำตัวเป็นเจ้าบ้านที่น่ารักด้วยความเป็นกันเองอย่างอบอุ่น


“ใช่เลยครับ ครั้งแรก และผมรักกรุงเทพฯ นะ มันมหัศจรรย์มาก กรุงเทพฯ มีอะไรหลายอย่างให้หลงรัก มันมีทั้งความแตกต่างของเมือง แซมไปด้วยความฟิวเจอริสติก มีธรรมชาติ มีอดีต มันน่าสนใจ โดยเฉพาะสตรีทฟู้ด มันทำให้เมืองนี้มีชีวิตชีวามาก”


“พอมาถึงจริงๆ แล้วมันแตกต่างจากความคิดแรกของคุณก่อนหน้านี้หรือไม่?” ผมถามเซเบอร์ต่อ


“เอาจริงๆ ผมมาจากลอสแอนเจลิส ผมก็รู้สึกว่าเมืองผมมันใหญ่มากแล้วนะ แต่ก็ไม่คิดว่ากรุงเทพฯ จะใหญ่ขนาดนี้ ค่อนข้างน่าประทับใจ ผมค่อนข้างมีความสุขกับที่นี่นะ”

 

 

จากงานศิลปะกราฟฟิตี้ที่ถอดออกมาจากความรู้สึกและจิตวิญญาณของเขา เราได้เห็นการใช้เทคนิคหลากหลาย เช่น การใช้สเปรย์ การใช้ปากกามาร์กเกอร์ หรือแปรงดีไอวายในงานของเขา ซึ่งเขาเองก็เลือกใช้เทคนิคที่ถนัดในงานชิ้นใหม่ที่ชื่อว่า ‘Decoding City of Angels’ แต่ทำไมเขาจึงต้องมาถอดรหัสเมืองกรุงเทพฯ ดุจเทพสร้างแห่งนี้ล่ะ?

 

“ผมก็คิดว่าลอสแอนเจลิสของผมเป็น City of Angels แค่เมืองเดียวในโลก ผมไม่มีไอเดียอะไรในหัวเลยว่ามันจะมีเมืองฟ้าเมืองสวรรค์เมืองอื่นในโลกเหมือนบ้านผมอีกเหรอวะ?” เซเบอร์พูดขึ้นมาพร้อมกับหัวเราะร่วน


“แต่เพื่อนผมก็บอกว่า คุณรู้ไหมว่ากรุงเทพฯ ก็แปลเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า City of Angels เหมือนกันนะ ผมก็ว้าว จริงดิ ไม่ใช่หรอกมั้ง (หัวเราะ) ผมคิดว่าลอสแอนเจลิสคือเมืองที่ใหญ่ เราคิดว่าตัวเราใหญ่มากตอนอยู่ที่นั่น แต่พอมาถึงที่นี่ผมก็เซอร์ไพรส์มาก โอ้…เมืองนี้มันใหญ่จัง ที่ลอสแอนเจลิส เรามักภูมิใจว่าเมืองของเราเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ วิเศษอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ที่กรุงเทพฯ มันมีอะไรที่ลึกไปกว่านั้น มันมีตัวตนของความเป็นเมืองอยู่สูงมาก มีศาสนา มีวัด มีภูมิหลังและที่มาที่ไป”

 

ที่ลอสแอนเจลิส เรามักภูมิใจว่าเมืองของเราเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ วิเศษอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ที่กรุงเทพฯ มันมีอะไรที่ลึกไปกว่านั้น มันมีตัวตนของความเป็นเมืองอยู่สูงมาก มีศาสนา มีวัด มีภูมิหลังและที่มาที่ไป

 

“ในงานชิ้นใหม่ครั้งนี้ คุณหยิบจับอะไรในกรุงเทพฯ ไปเป็นแรงบันดาลใจของคุณหรือไม่?” ผมถามถึงงานชิ้นใหม่ที่เขาบรรจงรังสรรค์มันขึ้นมาในระยะเวลาอันจำกัด


“ผมมองกรุงเทพฯ ด้วยสายตาของผม ผมทำงานที่พยายามจะให้ความหมายว่าเมืองแห่งนี้มีความหมายกับคนในเมืองอย่างไร ถอดความหมายมันออกมาตามอารมณ์และความคิดของผมแล้ววาดมันออกมา สำหรับตัวงานของผม ไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าสิ่งที่อารมณ์ของผมมีประสบการณ์ร่วมกับเมืองแห่งนี้ และโดยเฉพาะผมมีเวลาสั้นมาก ผมจึงทำงานให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้อารมณ์และงานของผมออกมาได้อย่างสมบูรณ์ที่สุด”


เซเบอร์เลือกมุมมองของเขาผ่านการเดินทางท่องเที่ยวไปยังสถานที่ต่างๆ ในกรุงเทพฯ สิ่งที่เซเบอร์เห็นชัดและหยิบจับมาอยู่ในงานของเขามีอยู่มากมาย และผมพบว่าในงานของเขามีทั้งเรื่องศาสนา ความวุ่นวาย ความสนุกสนาน หรือแม้แต่สายไฟรกรุงรังอันเป็นภาพจำที่เซเบอร์เองเลือกมาในชิ้นงาน แต่สิ่งที่ผมแอบสงสัยและรู้สึกว่าน่าสนใจที่สุดคงจะเป็นการนำแผ่นทองมาทำเป็นชิ้นงานคล้ายๆ กับการลงรักของคนไทย


“เหมือนว่าการใช้แผ่นทองคำเปลวจะเป็นเทคนิคใหม่ของคุณ?” ผมถามอย่างใคร่รู้


“ใช่เลยครับ ผมขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญศิลปะการใช้แผ่นทองในเมืองไทยนี่แหละ มันเป็นขั้นตอนและกระบวนการน่าสนใจที่ผมได้เรียนรู้ใหม่ มันสำคัญกับผมมาก เพราะเหมือนผมได้ใช้อารมณ์และความคิดที่แตกต่างไปมากขึ้น ผมเพียงแค่เรียนรู้วิธีใช้และปลดปล่อยให้งานมันดำเนินไปตามความรู้สึก บางทีผมก็ใช้สเปรย์ การแกะ การขูด หรือสิ่งของใกล้ตัวอย่างโทรศัพท์มือถือมาเสริมให้งานของผมเป็นไปได้อย่างที่คิดมากขึ้น”


การใช้อารมณ์และความรู้สึกถ่ายทอดผ่านลายเส้นและสีสันลงบนวัสดุต่างๆ ในงานศิลปะแบบนามธรรม (Abstract) คุณอาจจะทำความเข้าใจกับมันได้ยาก แต่นั่นก็ขึ้นอยู่กับมุมมองของผู้ชมเองทั้งหมด สีสเปรย์ทั้งโทนสดและโทนอ่อนกว่าสิบชนิดมารวมกับการใช้วัสดุอย่างดินสอดำ หรือการใช้ทองคำเปลวและวัสดุต่างๆ อย่างสร้างสรรค์ แค่นี้ก็ฟังดูหวือหวามากพอให้คุณได้ลองไปเห็นด้วยตาตัวเองสักครั้งแล้ว

 

ผมเห็นคนไทยใส่เสื้อสีดำ ทุกคนออกไปต่อแถวเพื่อเข้าร่วมพระราชพิธี ห้างร้านเปลี่ยนสีโลโก้เป็นขาว-ดำ สำหรับผมมันคือความเป็นเอกภาพ ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ซึ่งถึงแม้ผมจะไม่รู้ว่าทุกคนคิดเห็นเหมือนกันหรือเปล่า แต่มันเป็นเรื่องที่ดี

 

“มันมีอะไรมากกว่าเพียงแค่เทคนิคใหม่ๆ ที่ผมใช้ เพราะเมืองแห่งนี้ก็ให้ประสบการณ์ใหม่ๆ กับผม ให้ผมได้เห็นแง่มุมใหม่ๆ ของอารมณ์ เหมือนได้ค้นหาตัวเองอีกครั้ง”


เซเบอร์ยังคงอธิบายความรู้สึกของเขาที่มีต่อเมืองหลวงของเราต่อ เพราะอารมณ์ของเขาก็เป็นเสมือนเครื่องมือชิ้นหนึ่งในการทำงาน และการได้มาเยี่ยมเยือนกรุงเทพฯ ก็เหมือนกับการได้ปลดล็อกความรู้สึกบางอย่างของเขาออกมา โดยเฉพาะในช่วงที่ผมได้นั่งสัมภาษณ์เขา เป็นจังหวะเดียวกันกับช่วงพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พอดิบพอดี

 

 

“ผมพูดได้อย่างเดียวคือเมืองแห่งนี้เปิดหูเปิดตาผมให้กว้างขึ้นมาก และความจริงที่ว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ใหญ่มาก ทั้งยังเต็มไปด้วยวัฒนธรรมที่หลากหลายและมีคุณค่า มันทำให้ผมได้เรียนรู้อะไรที่บ้านเกิดของผมไม่มี คนกรุงเทพฯ หรือคนไทยเคารพซึ่งกันและกัน มีความเกรงอกเกรงใจที่คนอเมริกันไม่มี สำหรับผมมันแปลกมากนะ


“โดยเฉพาะช่วงนี้ที่ผมเห็นคนไทยใส่เสื้อสีดำ ทุกคนออกไปต่อแถวเพื่อเข้าร่วมพระราชพิธี ห้างร้านเปลี่ยนสีโลโก้เป็นขาว-ดำ สำหรับผมมันคือความเป็นเอกภาพ ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ซึ่งถึงแม้ผมจะไม่รู้ว่าทุกคนคิดเห็นเหมือนกันหรือเปล่า แต่มันเป็นเรื่องที่ดี และผมประทับใจมากกับสิ่งนี้” เซเบอร์กล่าวทิ้งท้ายอย่างน่าประทับใจ

 

Photo: Courstesy of Chin’s Gallery

FYI
  • คุณสามารถเข้าชมงาน ‘Decoding City of Angels’ ของเซเบอร์ได้ที่ Chin’s Gallery พื้นที่นิทรรศการแห่งใหม่ที่สนับสนุนงานศิลปะร่วมสมัย ซึ่งงานของเขาจะจัดแสดง ณ สตูดิโอฝั่งรีเทล ชั้น 5 อาคาร AETAS ถนนเพลินจิต ตั้งแต่วันนี้ไปจนถึง 17 ธันวาคม 2560
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising