เกิดอะไรขึ้น:
วันที่ 13 สิงหาคม 2564 บมจ.เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC) เปิดเผยว่าแนวโน้มการดำเนินงานของธุรกิจค้าปลีกและพื้นที่ศูนย์การค้ายังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด รวมถึงภาครัฐบาลได้มีการออกมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่เข้มงวดมากขึ้น เช่น การปิดพื้นที่ขายสินค้าไม่จำเป็น การปิดร้านค้าบางประเภทในศูนย์การค้าพื้นที่สีแดงเข้ม ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ยังคงส่งผลกระทบต่อแนวโน้มยอดขายและรายได้ค่าเช่าใน 3Q64
แต่อย่างไรก็ดี BJC ได้มีการปรับตัวกับสถานการณ์ในปัจจุบัน เช่น การเพิ่มศักยภาพด้านการขนส่ง และการเพิ่มบริการโทรและไลน์มาช้อป เป็นต้น
กระทบอย่างไร:
ในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาหุ้น BJC ปรับตัวขึ้น 1.5%WoW สู่ระดับ 33.50 บาท ขณะที่ SET Index ปรับตัวลง 0.4%WoW สู่ระดับ 1,544.28 จุด (ข้อมูล ณ 19 สิงหาคม 2564)
มุมมองระยะสั้น:
SCBS คาดแนวโน้มยอดขายสาขาเดิม (SSS) 2H64 ของกลุ่มธุรกิจสินค้าและบริการทางการค้าปลีกสมัยใหม่ (MSC) (64% ของยอดขาย, 30% ของกำไร) จะปรับตัวดีขึ้นจาก 1H64 แม้ใน 3Q64TD จะหดตัวลงเป็นตัวเลขหลักเดียวระดับสูง YoY แต่หดตัวน้อยกว่า 2Q64 ที่หดตัว 14%YoY และ 17%YoY ในช่วงที่มีการล็อกดาวน์อย่างมากครั้งแรกใน 2Q63 เนื่องจากกยอดขายผลิตภัณฑ์อาหาร (80% ของยอดขาย MSC) มีแนวโน้มดีขึ้นซึ่งมากพอชดเชยยอดขายผลิตภัณฑ์กลุ่มที่ไม่ใช่อาหาร (20% ของยอดขาย MSC) ที่ลดลงจากผลกระทบของการปิดพื้นที่ขายสินค้าที่ไม่ใช่อาหารในไฮเปอร์มาร์เก็ต 89 สาขาที่ตั้งอยู่ในพื้นที่สีแดงเข้ม (29 จังหวัด) จากสาขาทั้งหมด 152 สาขา ซึ่ง SCBS ประเมินผลกระทบด้านลบได้ราว 10% ต่อ SSS ของบริษัท
ด้านแนวโน้ม SSS ของผลิตภัณฑ์อาหารสด (17% ของยอดขายผลิตภัณฑ์อาหาร) ใน 3Q64TD กลับมาเติบโตเป็นบวก YoY ขณะที่ SSS ของผลิตภัณฑ์อาหารแห้ง (63% ของยอดขายผลิตภัณฑ์อาหาร) ใน 3Q64TD ลดลง YoY ในอัตราที่ชะลอลง เนื่องจากการปิดตลาดสดบางแห่ง การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่หันมาซื้อของใกล้บ้านหนุนต่อ SSS ที่ร้าน Big C Market และ Mini Big C รวมถึงยอดขายจากช่องทาง Omnichannel ที่เพิ่มขึ้นหลังเปิดตัวบริการ Call & LINE และการขยายบริการจัดส่งครอบคลุม 51 จังหวัด
ด้าน Product Mix Margin 3Q64 จะปรับตัวดีขึ้นจากการจัดโปรโมชันลดราคาน้อยลงท่ามกลางยอดขายที่ดีขึ้น ขณะที่ต้นทุนการขนส่งที่สูงขึ้นเพราะราคาน้ำมันสูงขึ้น อาจส่งผลกระทบต่ออัตรากำไรขั้นต้นโดยรวม
แนวโน้มยอดขายกลุ่มธุรกิจสินค้าและบริการทางบรรจุภัณฑ์ (PSC) (14% ของยอดขาย, 35% ของกำไร) ใน 2H64 จะเติบโต YoY จากยอดขายที่ดีขึ้นในบรรจุภัณฑ์แก้วและบรรจุภัณฑ์กระป๋องอะลูมิเนียม และอัตรากำไรของธุรกิจ PSC จะปรับตัวดีขึ้น เพราะประสิทธิภาพการผลิตดีขึ้นและการประหยัดต่อขนาด รวมถึงต้นทุนโซดาแอชที่อยู่ในระดับต่ำ
ขณะที่แนวโน้มยอดขายกลุ่มธุรกิจสินค้าและบริการทางอุปโภคบริโภค (CSC) (16% ของยอดขาย, 20% ของกำไร) ใน 2H64 จะอยู่ในระดับทรงตัวหรือเพิ่มขึ้น YoY โดยได้แรงหนุนจากผลิตภัณฑ์ใหม่และลูกค้าใหม่ในธุรกิจจัดจำหน่าย แต่แนวโน้มอัตรากำไรขั้นลดลงลดลง YoY เพราะต้นทุนวัตถุดิบสูงขึ้น และสัดส่วนยอดขายสินค้ามาร์จิ้นต่ำเพิ่มขึ้น
มุมมองระยะยาว:
SCBS คาดว่าแนวโน้มกำไรปี 2565 ของ BJC จะพื้นตัว YoY โดย SSS และรายได้ค่าเช่าจะฟื้นตัวจากฐานต่ำที่มีสาเหตุมาจากกำลังซื้อและความเชื่อมั่นที่อ่อนแอ และการปิดร้านค้าและพื้นที่ขายจากมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด