ทำไมแม่เบี้ยต้องขูดมะพร้าว? ทำไมแม่นากต้องเก็บมะนาวใต้ถุนเรือน? เชื่อว่าหลายคนคงเคยตั้งคำถามกับหลากหลายฉากจำในหนังและละครหลายๆ เรื่อง ความจริงแล้วทั้งหมดนี้มีที่มาที่ไป ในแง่การทำหน้าที่สื่อสารผ่านภาพและสร้างความจดจำสุดประทับใจให้คนดู และเชื่อหรือไม่ว่าบางฉากที่ปรากฏในหนังหรือละครเพียงเวอร์ชันเดียว แต่กลับกลายเป็นสัญลักษณ์ให้ผู้ชมเรียกร้องอยากดูมาจนถึงปัจจุบัน ส่วนบางฉากก็จำเป็นชนิดไม่มีไม่ได้ เพราะมันช่วยขับเคลื่อนเรื่องราวไปข้างหน้า ส่วนจะมีเรื่องไหนบ้างเราลองไปสำรวจกัน
‘ขูดมะพร้าว’ จะขูดก็ได้ไม่ขูดก็ได้ในแม่เบี้ย
แม่เบี้ยในเวอร์ชันปี พ.ศ. 2544 จากผลงานการกำกับของ คิง-สมจริง ศรีสุภาพ นำแสดงโดย มะหมี่-นภคปภา นาคประสิทธิ์
แม่เบี้ย ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ ละครทีวี และละครเวทีรวม 6 ครั้ง ฉากจำที่กลายเป็นซิกเนเจอร์ของเรื่องคือ ฉากขูดมะพร้าว ทั้งที่ความจริงแล้วฉากขูดมะพร้าวมีอยู่แค่ในแม่เบี้ยเวอร์ชันปี พ.ศ. 2544 จากผลงานการกำกับของ คิง-สมจริง ศรีสุภาพ นำแสดงโดย มะหมี่-นภคปภา นาคประสิทธิ์ เท่านั้น สำหรับในเวอร์ชันแรก ปี พ.ศ. 2532 (ฮันนี่-ภัสสร บุณยเกียรติ) และเวอร์ชันละครทีวีครั้งแรก ปี พ.ศ. 2534 (แสงระวี อัศวรักษ์) เน้นความเซ็กซี่ของตัวละครเมขลาในฉากอาบน้ำในคลองมากกว่า
ความจริงแล้วตามบทประพันธ์เดิมไม่ได้มีฉากขูดมะพร้าวในเรื่อง แต่พูดถึงตัวละครเมขลาที่มีความงามอย่างไทย ทำให้เกิดการตีความได้หลากหลาย ซึ่งการนั่งกระต่ายขูดมะพร้าวคือความลงตัว ทั้งท่วงท่าลีลาที่เน้นให้เห็นสรีระความเป็นหญิง และความเป็นไทยในคาแรกเตอร์ของนางเอก ส่วนในเวอร์ชันล่าสุด ทางช่อง 7 ก็ใช้วิธีนวดแป้งคั้นน้ำกะทิแทน
ฉากเก็บมะนาวใต้ถุนเรือน ถ้าไม่มีก็คงไม่ใช่แม่นาก
ครองแชมป์เรื่องราวที่ถูกนำมารีเมกมากที่สุดในเมืองไทย แค่เฉพาะในเวอร์ชันละครทีวีก็ประมาณ 9 ครั้ง ยังไม่นับรวมเวอร์ชันภาพยนตร์และละครเวทีอีกนับไม่ถ้วน และแทบทุกเวอร์ชันจะต้องมีฉากสำคัญนั่นคือฉากเก็บมะนาวใต้ถุนเรือนบรรจุไว้ โดยปรากฏครั้งแรกในภาพยนตร์เรื่อง แม่นาคพระโขนง (ภายหลังชื่อแม่นากสะกดด้วย ก) เมื่อปี พ.ศ. 2502 ผลงานการกำกับของ เสน่ห์ โกมารชุน นำแสดงโดย ปรียา รุ่งเรือง ภาพยนตร์เรื่องนี้ประสบความสำเร็จอย่างสูง ทำรายได้ไปกว่า 1 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นเงินมหาศาลในสมัยนั้น ทำให้ ปรียา รุ่งเรือง ได้รับบทแม่นากต่อจากนั้นอีกถึง 4 ครั้ง ซึ่งฉากเก็บมะนาวมีความสำคัญในฐานะฉากที่เผยให้พ่อมากรู้ว่าเมียของตัวเองเป็นผี อีกทั้งคุณลักษณะแขนยืดยาวก็กลายเป็นสัญลักษณ์ประจำตัวแม่นากพระโขนงไปโดยปริยาย
ฉากเก็บมะนาวเกือบไม่ได้ปรากฏในภาพยนตร์เรื่อง นางนาก (2542) เพราะตีความเรื่องเล่าของแม่นากใหม่ทั้งหมด แต่ในที่สุด อุ๋ย-นนทรีย์ นิมิบุตร ก็ตัดสินใจบรรจุไว้ในเรื่อง
พจมานต้องถือชะลอมเข้าบ้านทรายทองจริงหรือ?
เมื่อได้ยินวรรคหนึ่งของเพลง บ้านทรายทอง ‘นี่คือสถานแห่งบ้านทรายทองที่ฉันปองมาสู่…’ ภาพที่ปรากฏขึ้นในสมองก็คือเด็กสาวผู้เปีย 2 ข้าง ถือกระเป๋าเดินทางและชะลอมเข้าสู่รั้วคฤหาสน์ทรายทอง แต่ความจริงแล้วภาพพจมานถือชะลอมเพิ่งจะปรากฏครั้งแรกในภาพยนตร์เรื่อง บ้านทรายทอง ในปี พ.ศ. 2523 ผลงานการกำกับของ รุจน์ รณภพ ทั้งที่ก่อนหน้านั้นไม่เคยมี ส่วนในเวอร์ชันล่าสุดที่แสดงโดย มิน-พีชญา วัฒนามนตรี พจมานก็เดินเข้าบ้านทรายทองด้วยกระเป๋าเดินทางเพียงอย่างเดียว โดยที่ไม่ได้ถือชะลอมอีกต่อไป จนกลายเป็นที่วิจารณ์ของชาวเน็ต
ฉากพจมานเดินเข้าบ้านทรายทองนับว่าเป็นการสื่อสารด้วยภาพที่เล่าเรื่องราวได้อย่างดีเยี่ยม องค์ประกอบในแทบทุกเวอร์ชันคือฉากพจมานยืนประจันหน้ากับคฤหาสน์หลังใหญ่ที่เปลี่ยนชีวิตเธอไปตลอดกาล และมุมกล้องที่ซ้ำกันจนเหมือนจะตั้งใจ คือการฉายจากมุมสูงมาที่ตัวพจมาน ที่สื่อให้เห็นถึงความต่ำต้อยของเด็กสาวจากบ้านนอกในสายตาของสมาชิกบ้านทรายทอง
‘ลูบน้ำแข็ง’ ในจันดารา ลูบที่หลังสะเทือนถึงหัวใจ
ถ้าคิดว่าฉากในจันดาราเวอร์ชันต่างๆ แซ่บซ่านสะท้านทรวงแล้ว อยากแนะนำให้อ่านบทประพันธ์เรื่องนี้จากฝีมือของ อุษณา เพลิงธรรม แล้วจะรู้ว่าคนไทยสมัยก่อนเสรีเรื่องเซ็กซ์แทบไม่ต่างจากคนในยุคปัจจุบัน ซึ่งฉากลูบน้ำแข็งก็มีการกล่าวถึงในบทประพันธ์ด้วย ทำให้ต้องมีฉากนี้ในจันดาราทุกเวอร์ชันตั้งแต่ถูกสร้างในปี พ.ศ. 2520 โดย อรัญญา นามวงศ์ รับบทคุณบุญเลื่อง และในเวอร์ชันต่อๆ มา ทั้ง คริสตี้ ชุง และ หญิง-รฐา โพธิ์งาม ก็ต้องเผยแผ่นหลังให้จันใช้น้ำแข็งลูบหลังเช่นกัน
ฉากนี้เป็นฉากสำคัญ เพราะเป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ชั่วชีวิตระหว่างจันและคุณบุญเลื่อง ผู้เป็นแม่เลี้ยงและรักแท้ของเขา อีกทั้งยังแสดงถึงปมในใจเกี่ยวกับแม่ ทำให้เขาชอบผู้หญิงที่อายุมากกว่า
‘นั่งบนขื่อ’ ฉากหลอนของบัวแปงหรืออีแพงจากบ่วง
ผีบัวแปงหรืออีแพง (ในเวอร์ชันปี พ.ศ. 2535 ใช้ชื่อบัวแปง แสดงโดย หมู-พิมพ์ผกา เสียงสมบุญ ส่วนเวอร์ชันปี พ.ศ. 2553 ใช้ชื่ออีแพง แสดงโดย นุ่น-ศิรพันธ์ วัฒนจินดา) ขึ้นทำเนียบผีที่หลอนที่สุดในวงการผีไทย เพราะเป็นผีบ้าคลั่งแค้น จนบทสวดมนต์หรือผลบุญใดๆ ก็ไม่อาจทำให้เธอสงบลงได้ ภาพจำของผีตัวนี้คือการนั่งอยู่บนขื่อ ที่หลอนไปถึงจินตนาการของคนดู เพราะมันเป็นตำแหน่งที่เราจะมองเห็นเมื่อนอนหงาย กลายเป็นโพสิชันเอกลักษณ์ที่ทำให้นึกถึงประจำตัวละครตัวนี้ไปในที่สุด
‘ตบหน้ากระทรวง’ ฉากเอาคืนแสนสะใจสไตล์ละครไทย
ฉากคลาสสิกที่บ่งบอกถึงความเป็นละครไทยได้เป็นอย่างดี เพราะมันถึงพริกถึงขิงและเล่นกับอารมณ์คนดู เหมือนได้ชำระแค้นให้กับมุตตาด้วยลูกตบแบ็กแฮนด์ของมุนินทร์ที่หน้ากระทรวง สถานที่เดียวกัน แต่ผู้ถูกกระทำนั้นต่างไป นอกจากลูกตบสลบลงบันได ความเด็ดของฉากนี้คือบทสนทนาของตัวละครที่เผ็ดร้อนไม่แพ้กัน นับตั้งแต่เวอร์ชันภาพยนตร์ในชื่อ แรงหึง ในปี พ.ศ. 2529 แสดงโดยจินตหรา สุขพัฒน์ กับประโยค “…คุณมันอภิสิทธิ์ชนอยู่แล้วนี่ ขนาดหาผัวคุณยังต้องใช้เส้นเลย” หรือในเวอร์ชันปี พ.ศ. 2544 และ 2555 ทั้งแอน ทองประสม และ เจนี่ เทียนโพธิ์สุวรรณ ใช้บทสนทนาที่แทบจะเหมือนกันเป๊ะ! โดยเฉพาะประโยคปิดท้าย “จำไว้ มุตตาไม่ใช่เหยื่อของคุณอีกต่อไป”
อ้างอิง: