ประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐอเมริกาได้ออกมาประกาศเป้าหมายที่ต้องการให้ชาวอเมริกันเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างรวดเร็วจากการใช้รถยนต์และรถบรรทุกที่ขับเคลื่อนด้วยน้ำมันเบนซินไปสู่ยานพาหนะไฟฟ้า ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในแผนของเขาเพื่อการลดมลพิษที่ทำให้โลกร้อน
“เรามีวิสัยทัศน์ของอนาคตที่ตอนนี้กำลังเริ่มเกิดขึ้น อนาคตของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่เป็นไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นแบตเตอรี่ไฟฟ้า, ไฟฟ้าปลั๊กอินไฮบริด, เซลล์เชื้อเพลิงไฟฟ้า” ไบเดนกล่าวที่สนามหญ้าของทำเนียบขาว “คำถามคือเราจะเป็นผู้นำหรือถอยหลังในอนาคต”
ความเคลื่อนไหวของไบเดนถูกมองว่าพยายามยกเครื่องอุตสาหกรรมหลักของอเมริกาเพื่อให้สามารถแข่งขันกับจีนได้ดีขึ้น ซึ่งผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าได้ประมาณ 70% ของโลก ด้วยความพยายามที่ผสมผสานนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจและนโยบายต่างประเทศ ไบเดนต้องการที่จะปรับปรุงและขยายห่วงโซ่อุปทานภายในประเทศ เพื่อให้แบตเตอรี่ที่จำเป็นต่อยานยนต์ไฟฟ้านั้นผลิตขึ้นในโรงงานในอเมริกาด้วย
หากปราศจากการเปลี่ยนแปลงอย่างสิ้นเชิงเกี่ยวกับประเภทของยานพาหนะที่ชาวอเมริกันใช้ เป็นไปไม่ได้ที่ไบเดนจะบรรลุตามคำมั่นสัญญาอันทะเยอทะยานของเขาที่จะลดการปล่อยมลพิษจากภาวะโลกร้อนลง 50% จากระดับปี 2005 ภายในสิ้นทศวรรษนี้ ด้วยรถยนต์และรถบรรทุกที่ใช้น้ำมันเบนซินเป็นแหล่งผลิตก๊าซเรือนกระจกที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา โดยคิดเป็น 28% ของการปล่อยคาร์บอนทั้งหมดของประเทศ
เป้าหมายของการขยับยอดขายรถยนต์ 40-50% เป็นรถไฟฟ้าภายในปี 2030 จาก 2% ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ถูกประกาศโดยมี แมรี บาร์รา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ General Motors, จิม ฟาร์ลีย์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการของ Ford Motor และ มาร์ก สจวร์ต ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการในอเมริกาเหนือของ Stellantis NV รวมอยู่ด้วย ซึ่งไบเดนเรียกร้องให้ทั้ง 3 องค์กรนี้เป็นผู้นำในการเปลี่ยนผ่าน
เป็นที่สังเกตว่า อีลอน มัสก์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Tesla ซึ่งเป็นผู้ที่ขายรถยนต์ไฟฟ้าได้มากที่สุดของสหรัฐฯ ก็ไม่ได้อยู่ร่วมในพิธี เช่นเดียวกับผู้ผลิตรถยนต์ต่างชาติเช่น Toyota Motor และ Hyundai Motor
กระนั้นการเปลี่ยนผ่านอย่างรวดเร็วจากรถยนต์สันดาปไปสู่รถยนต์ไฟฟ้าต้องเผชิญกับความท้าทายหลายประการ ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า เป็นไปไม่ได้ที่รถยนต์ไฟฟ้าจะเปลี่ยนจากเฉพาะกลุ่มไปสู่กระแสหลัก โดยที่สถานีชาร์จไฟฟ้ายังไม่แพร่หลายเท่ากับปั๊มน้ำมันที่มีอยู่ทุกหัวมุม ซึ่งผู้ผลิตทั้ง 3 รายที่เข้าร่วมแผนการนี้ก็เรียกร้องความช่วยเหลือจากไบเดนด้วย
ฝ่ายบริหารของไบเดนได้เตรียมจัดทำแผนที่จะใช้เงินกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 33.5 ล้านล้านบาท สำหรับการเปลี่ยนผ่านนี้ ซึ่งกำลังเข้าสู่ความเห็นชอบจากวุฒิสภาและฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
หนึ่งในแผนของไบเดนคือการใช้เงิน 1.74 แสนล้านดอลลาร์เพื่อสร้างสถานีชาร์จ 5 แสนแห่ง รวมไปถึงใช้เงินอีก 7.3 หมื่นล้านดอลลาร์สำหรับขยายและปรับปรุงโครงข่ายไฟฟ้า ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญในการขนส่งพลังงานไปยังสถานีชาร์จอัตโนมัติแห่งใหม่ นอกจากนี้ไบเดนยังร่างข้อกฎหมายอีกข้อสำหรับสนับสนุนแผนการดังกล่าวผ่านแรงจูงใจด้านภาษีของทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค ตลอดจนสนับสนุนการวิจัยที่เกี่ยวข้อง เช่น การผลิต การพัฒนา และการรีไซเคิลแบตเตอรี่
องค์กรวิจัยระหว่างประเทศว่าด้วยการขนส่งที่สะอาด สรุปว่า สหรัฐอเมริกาจะต้องมีสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า 2.4 ล้านแห่งภายในปี 2030 เพิ่มขึ้นจาก 216,000 ในปี 2020 หากยอดขายรถยนต์ใหม่ประมาณ 36% เป็นเป็นไฟฟ้า
ขณะเดียวกันสหภาพแรงงานได้แสดงความไม่สบายใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนไปใช้รถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งในการผลิตนั้นจะใช้แรงงานน้อยกว่า 1 ใน 3 เมื่อเทียบกับรถยนต์หรือรถบรรทุกที่ใช้น้ำมันเบนซิน ซึ่งท้ายที่สุดแล้วแผนการของไบเดนจะสำเร็จหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับว่าชาวอเมริกันจะไว้วางใจในรถยนต์รูปแบบใหม่ทั้งหมดหรือไม่
อ้างอิง: