×

ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ห้ามนายกฯ บังคับใช้ข้อกำหนดห้ามเสนอข่าวที่อาจทำให้หวาดกลัว จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง ชี้ขัดรัฐธรรมนูญ-ไม่มีกฎหมายให้อำนาจระงับอินเทอร์เน็ต

โดย THE STANDARD TEAM
06.08.2021
  • LOADING...
BREAKING_NEWS

จากกรณีเมื่อวันที่ 2 สิงหาคมที่ผ่านมา หลังสื่อมวลชนและประชาชน นำโดย The Reporters, Voice, THE STANDARD, The Momentum, The MATTER, ประชาไท, Dem All, The People, way magazine, echo, PLUS SEVEN และประชาชนเบียร์ พร้อมทีมทนายความจากภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน รวมตัวยื่นฟ้อง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ต่อศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก กรณีออกข้อกำหนดฉบับที่ 29 ให้อำนาจ กสทช. ‘ตัดเน็ต’ ผู้โพสต์ข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว ซึ่งเป็นการออกคำสั่งโดยไม่มีอำนาจ ไม่มีความจำเป็น ไม่ได้สัดส่วน และขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560

 

โดยขอให้ศาลเพิกถอนข้อกำหนดฉบับที่ 29 เนื่องจากการห้ามเผยแพร่ ‘ข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว’ เป็นการบัญญัติที่คลุมเครือ ไม่ชัดเจน อาจตีความได้ว่า แม้ข้อความนั้นเป็น ‘เรื่องจริง’ ก็อาจจะเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดนี้ และถูกระงับสัญญาณอินเทอร์เน็ตได้ และในวันเดียวกันนี้ ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉินเพื่อคุ้มครองเสรีภาพของประชาชนด้วย

 

อีกทั้งการที่ให้ กสทช. สั่งระงับสัญญาณจาก IP Address เป็นสิ่งที่จะทำให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมืองแน่นอน เพราะ IP Address ไม่ได้ระบุเฉพาะเจาะจงต่อบุคคลเหมือนเลขบัตรประชาชน แต่เป็นเหมือนบ้านเลขที่ที่สามารถใช้ร่วมกันได้หลายๆ คน ผ่าน Wi-Fi ที่อาจมีคนเข้าใช้อินเทอร์เน็ตโดยไม่ได้รับความยินยอม เช่น แอบรู้รหัส หรือแฮ็กเข้ารหัสได้ นอกจากนี้หมายเลข IP Address ที่ User เข้าใช้งานแต่ละครั้งจะไม่ซ้ำกัน หาก กสทช. ตรวจพบข้อความที่เห็นว่าเป็นการกระทำความผิดล่าช้า ผู้ที่ถูกระงับสัญญาณอาจไม่ใช่ผู้ที่เผยแพร่ข้อความดังกล่าวแล้วก็ได้ นอกจากนี้ในสถานการณ์โรคระบาดโควิดที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ ประชาชนต้องเข้าถึงสิทธิการฉีดวัคซีน สิทธิเยียวยาจากรัฐด้วยการลงทะเบียนผ่านอินเทอร์เน็ต นี่ยังไม่นับรวมมาตรการของรัฐ ที่จำกัดการเดินทางและการพบปะสมาคมของประชาชน ดังนั้นอินเทอร์เน็ตจึงเป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีพในสถานการณ์เช่นนี้ อย่างไรก็ดี มาตรา 9 (3) แห่ง พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ไม่ได้ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีในการสั่ง ‘ตัดอินเทอร์เน็ต’ หรือการระงับการติดต่อสื่อสารระหว่างกัน

 

ดังนั้นข้อกำหนดดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะขัดต่อหลักนิติธรรมไม่จำเป็นและไม่ได้สัดส่วน ทั้งผู้ออกก็ใช้ดุลพินิจในการออกข้อกำหนดโดยมิชอบเพราะไม่มีฐานของกฎหมายให้อำนาจ เป็นการละเมิด จำกัดและกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนทุกคน ซึ่งได้รับการรับรองคุ้มครองไว้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 จึงขอให้ศาลดำเนินกระบวนการพิจารณาตรวจสอบการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารตามวิถีระบอบประชาธิปไตย

 

ต่อมาเวลา 15.35 น. วันเดียวกันนั้น องค์คณะผู้พิพากษาศาลแพ่งออกนั่งพิจารณาคดีที่ห้อง 706 ศาลแจ้งต่อโจทก์ว่า ศาลรับฟ้องและรับคำร้องขอไต่สวนฉุกเฉินไว้พิจารณา

 

ฝ่ายโจทก์นำพยานเข้าไต่สวนทั้งหมด 5 คน ได้แก่ ตัวแทนโจทก์ 2 คน คือ ฐปนีย์ เอียดศรีไชย จากสำนักข่าว The Rerporters, ธนกร วงษ์ปัญญา จากสำนักข่าว THE STANDARD และพยานผู้เชี่ยวชาญ 3 คน คือ สุภิญญา กลางณรงค์ อดีต กสทช., ผศ.ดร.วิไลวรรณ จงวิไลเกษม อาจารย์คณะวารสารศาสตร์ และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, และ อรรถพงศ์ ลิมศุภนาค ผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์

 

หลังจบกระบวนการไต่สวน ศาลออกนั่งบัลลังก์อีกครั้ง นัดฟังคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวหรือไม่ ในวันนี้ (6 สิงหาคม) เวลา 13.30 น.

 

ล่าสุดวันนี้ ศาลออกนั่งบัลลังก์ มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ห้ามนายกรัฐมนตรี บังคับใช้ข้อกำหนดห้ามจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง ชี้ขัดรัฐธรรมนูญไม่มีกฎหมายให้อำนาจระงับอินเทอร์เน็ต รายละเอียดจะรายงานให้ทราบเพิ่มเติมต่อไป

 

สำหรับกรณีนี้ สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2564 ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 29) ลงวันที่ 29 กรกฎาคม 2564 ความว่า …อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการณ์ในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 นายกรัฐมนตรีออกข้อกำหนดไว้ ดังต่อไปนี้

 

ข้อ 1. ห้ามผู้ใดเสนอข่าว จำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด ที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชนในเขตพื้นที่ที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

 

ข้อ 2. ในกรณีมีการเผยแพร่ข้อความหรือข่าวสารตามข้อ 1 ในอินเทอร์เน็ต ให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) แจ้งผู้รับใบอนุญาตการให้บริการอินเทอร์เน็ตตามกฎหมายว่าด้วยองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมทุกรายทราบ และให้ผู้รับใบอนุญาตดังกล่าวทุกรายมีหน้าที่ตรวจสอบว่าข้อความหรือข่าวสารดังกล่าวมีที่มาจากเลขที่อยู่ไอพี (IP Address) ใด หากเป็นเลขที่อยู่ไอพี (IP Address) ที่ตนเป็นผู้ให้บริการ ให้แจ้งรายละเอียดตามที่สำนักงาน กสทช. กำหนด ให้สำนักงาน กสทช. ทราบ และให้ระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ตแก่เลขที่อยู่ไอพี (IP Address) นั้นทันที

 

ให้สำนักงาน กสทช. ส่งรายละเอียดตามที่ได้รับแจ้งตามวรรคหนึ่งให้แก่สำนักงานตำรวจแห่งชาติโดยเร็วเพื่อดำเนินคดีต่อไป ผู้รับใบอนุญาตผู้ใดไม่ปฏิบัติตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในใบอนุญาตการให้บริการอินเทอร์เน็ต และให้สำนักงาน กสทช. ดำเนินการตามกฎหมายต่อไปโดยข้อกำหนดมีผลบังคับใช้ในวันที่ 30 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X