×

ส่องเป้าปีเป็นกลางทางคาร์บอน เมื่อประชาคมโลกหวังปรับลด ‘ก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์’

05.08.2021
  • LOADING...
zero greenhouse gas

ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ประชาคมโลกต่างทยอยหันมาให้ความสำคัญกับประเด็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและภาวะที่โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ความหนาวเย็นในฤดูหนาวในบางพื้นที่เริ่มค่อยๆ จางหาย ในขณะที่ฤดูร้อนกลับยิ่งร้อนมากกว่าที่เคย

 

เกือบทุกประเทศในประชาคมโลกที่ร่วมลงนามและให้สัตยาบันในความตกลงปารีส (Paris Agreement) ต่างพยายามร่วมมือกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้มากที่สุด หรือ ‘ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิจนเป็นศูนย์’ (Net Zero Greenhouse Gas Emissions) โดยเฉพาะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เพื่อปรับสมดุลให้ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยออกมาเหล่านี้ ‘เท่ากับ’ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกดูดซับหรือถูกนำออกจากระบบ จนได้ชื่อว่า ‘มีความเป็นกลางทางคาร์บอน’ (Carbon Neutrality)

 

Energy & Climate Intelligence Unit รายงานว่า ขณะนี้มีเพียงประเทศเล็กๆ ในเอเชียใต้อย่างภูฏานและประเทศในลาตินอเมริกาอย่างซูรินาเม ที่ทำผลงานได้เป็นอย่างดี โดยสามารถบรรลุเป้าการเป็นประเทศที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิจนเป็นศูนย์ได้แล้ว โดยเฉพาะภูฏานที่สามารถดูดซับปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่าก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยออกมาในชั้นบรรยากาศ จนได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ ‘คาร์บอนติดลบ’ (Carbon Negative)

 

สาเหตุสำคัญที่ทำให้ภูฏานประสบผลสำเร็จมาจากพื้นที่ป่าไม้ของภูฏานมีมากกว่า 70% ของพื้นที่ประเทศ ซึ่งเป็นแหล่งปล่อยก๊าซออกซิเจนและดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมาก ภูฏานให้ความสำคัญกับพื้นที่ป่าไม้มาก ถึงขนาดที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้พื้นที่ป่าไม้ไม่ต่ำกว่า 60% ภายในประเทศจะต้องได้รับการปกป้องคุ้มครอง โดยแบนการส่งออกไม้ซุงตั้งแต่ปี 1999 อีกทั้งภูฏานยังใช้พลังงานหมุนเวียนในการผลิตกระแสไฟฟ้าใช้ภายในประเทศและส่งออก รวมถึงตั้งเป้าเป็น ‘สังคมที่มีของเสียเป็นศูนย์ (Zero Waste Society)’ ภายในปี 2030 อีกด้วย ในขณะที่ซูรินาเมก็เป็นประเทศที่มีพื้นที่ป่าไม้หนาแน่นเช่นเดียวกัน

 

ในขณะที่กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก หรือ ‘กลุ่ม G7’ เองก็หันมาให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง โดยเมื่อกลางปี 2019 สหราชอาณาจักร ภายใต้การบริหารประเทศของอดีตนายกรัฐมนตรี เทเรซา เมย์ แสดงจุดยืนสำคัญ ผลักดันการบังคับใช้กฎหมายที่จะทำให้สหราชอาณาจักรกลายเป็นประเทศที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิจนเป็นศูนย์ภายในปี 2050 และตั้งเป้าจะยุติการผลิต จำหน่าย และนำเข้ายานพาหนะที่ใช้น้ำมันดีเซลและเบนซินตั้งแต่ปี 2040 เป็นต้นไป นับเป็นประเทศแรกในกลุ่ม G7 ที่ตั้งเป้าหมายอย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม

 

ก่อนที่ฝรั่งเศสจะร่วมแสดงจุดยืน ตั้งเป้าจะเป็นประเทศที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิจนเป็นศูนย์ภายในปี 2050 โดยเริ่มต้นจากการลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลลง 30-40% ภายในปี 2030 ขณะที่รัฐสภาเยอรมนีผ่านร่างกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมฉบับใหม่ (Climate Action Law) เมื่อช่วงกลางปี 2021 ที่ผ่านมา ส่งผลให้มีการขยับเป้าจากเดิมที่ตั้งไว้ว่าจะเป็นประเทศที่เป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 ต้องขยับมาเป็นภายในปี 2045 โดยจะเริ่มเพิ่มเป้าการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงจาก 55% เป็น 65% ภายในปี 2030 นี้

 

ส่วนมหาอำนาจอย่างจีน ประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในโลก ก็ได้ให้คำมั่นเมื่อช่วงเดือนกันยายน 2020 จะร่วมต่อสู้กับวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมโลก พร้อมตั้งเป้าเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2060 นับเป็นครั้งแรกที่ผู้นำจีนอย่าง สีจิ้นผิง ประกาศชัด ร่วมผลักดันเป้าหมายของความตกลงปารีสในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก ส่วนสหรัฐอเมริกาภายใต้การบริหารประเทศของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เคยประกาศถอนตัวจากภาคีความตกลงปารีส หลังอ้างว่าความตกลงดังกล่าวเอาเปรียบสหรัฐฯ และพลเมืองอเมริกัน ก่อนที่สหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโจ ไบเดน จะแสดงความจำนงขอกลับเข้าร่วมความตกลงนี้อีกครั้ง โดยสหรัฐฯ เคยตั้งเป้าจะเป็นประเทศที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิจนเป็นศูนย์ภายในปี 2050

 

ขยับมาที่ย่านอาเซียน หลายประเทศในแถบภูมิภาคนี้เริ่มตื่นตัวกับประเด็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว โดยลาว กัมพูชา และเมียนมา อยู่ในช่วงของการร่างนโยบาย ศึกษาและหารือแนวทางในการมุ่งหน้าไปสู่ประเทศที่มีก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 ส่วนสิงคโปร์ แม้จะยังไม่ได้ประกาศเป้าหมายอย่างชัดเจน แต่สิงคโปร์ก็เป็นประเทศแรกในอาเซียนที่ประกาศจัดเก็บ ‘ภาษีคาร์บอน’ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคอุตสาหกรรม โดยในปี 2019-2023 รัฐบาลจะจัดเก็บภาษีคาร์บอนในอัตรา 5 เหรียญสิงคโปร์ (ประมาณ 120 บาท) ต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 1 ตัน ก่อนจะมีการทบทวนอัตราภาษีใหม่ ซึ่งคาดว่าอาจเพิ่มระหว่าง 10-15 เหรียญสิงคโปร์ต่อตัน ภายในปี 2030

 

ขณะที่ไทยได้ตั้งเป้าสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาดและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2065-2070 ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ครั้งที่ 2/2021 เมื่อวันที่ 4 สิงหาคมที่ผ่านมา นับเป็นความพยายามก้าวสำคัญของไทยในการแสดงจุดยืนและร่วมแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนร่วมกับประเทศอื่นๆ ในประชาคมโลก (อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่: ที่ประชุม กพช. เคาะกรอบ ‘แผนพลังงานชาติ’ ไทยประกาศลดคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ ภายใน ค.ศ. 2065-2070)

 

นี่คือเป้าปีเป็นกลางทางคาร์บอนบางส่วนในประชาคมโลก หลังจากที่แต่ละประเทศหวังปรับลด ‘ก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์’

 

zero greenhouse gas

 

ภาพประกอบ: นิสากร ฤทธาภัย

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X