×

รู้สึกทำงานได้ไม่เต็มที่? ผลวิจัยเผย หนึ่งในเหตุผลอาจมาจากการกินขนมหรือของว่างยามดึก

โดย THE STANDARD TEAM
15.07.2021
  • LOADING...
ทำงานได้ไม่เต็มที่

HIGHLIGHTS

  • ผลการวิจัยหนึ่งจาก The Journal of Applied Psychology ชี้ให้เห็นว่า การกินอาหารบางประเภท โดยเฉพาะขนมขบเคี้ยวในยามดึก อาจลดประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการทำงานระหว่างวันได้ 
  • นักวิจัยยังพบอีกว่า คนที่มีความมั่นคงทางอารมณ์ หรือคนที่สามารถรับมือกับความเครียดได้ดีเพราะมีอารมณ์แปรปรวนน้อย จะได้รับผลกระทบจากการกินอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพน้อยลงตามไปด้วย 
  • แต่ผลการวิจัยนี้ไม่ได้หมายความว่าเราไม่ควรกินอะไรที่ไม่ดีต่อสุขภาพเสมอไป เพราะการกินเพื่อสุขภาพทุกรูปแบบย่อมมีที่ว่างให้กับขนมและของว่างเป็นครั้งคราว แต่กุญแจสำคัญคือการกินอย่างพอประมาณหรือในปริมาณที่เหมาะสม

การทำงานที่บ้านกลายเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งในยุคโรคระบาดใหญ่โควิด เราต่างรู้ดีว่าการมีสมาธิจดจ่อกับอะไรสักอย่างที่อยู่ตรงหน้าเป็นเรื่องที่ทำได้ยากเมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมที่วุ่นวายและไม่เป็นใจ แต่พฤติกรรมบางอย่างอาจช่วยแก้ปัญหานี้ได้ เช่น การนอนหลับอย่างเพียงพอ การขยับร่างกาย หรือแม้กระทั่ง ‘การกิน’ ก็ทำให้เรามีสมาธิมากขึ้นได้เช่นกัน

 

มีผลการวิจัยพบว่า ‘การเคี้ยว’ ช่วยให้เรามีสมาธิมากขึ้น เช่น การเคี้ยวหมากฝรั่ง ที่ทำให้ใบหน้าของเรามีการเคลื่อนไหวและรู้สึกแอ็กทีฟอยู่ตลอดเวลา ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้ทำงานได้อย่างรวดเร็ว และได้ผลลัพธ์ที่สำเร็จมากขึ้นด้วย

 

แต่ล่าสุด มีผลการวิจัยหนึ่งจาก The Journal of Applied Psychology กล่าวว่า การกินอาหารบางประเภท โดยเฉพาะขนมขบเคี้ยวในยามดึก อาจลดประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการทำงานระหว่างวันได้ โดยทีมนักวิจัยได้ศึกษารูปแบบการกินในเวลากลางคืนที่ส่งผลต่อคุณภาพการทำงานของพนักงานในเช้าวันรุ่งขึ้น จากการสอบถามพนักงานฟูลไทม์จำนวน 97 คน วันละ 3 ครั้ง เป็นเวลา 10 วันติดต่อกัน

 

ครั้งแรกตอนเช้า 08.00 น. ผู้เข้าร่วมจะถูกถามก่อนเริ่มทำงานถึงความสุขทางร่างกายและทางอารมณ์ของพวกเขา เมื่อถึงตอนท้ายของวันหรือช่วง 18.00 น. พวกเขาจะถูกถามถึงสิ่งที่ทำระหว่างวันและประสิทธิภาพในการทำงาน จากนั้นก่อนเข้านอนหรือราวๆ 21.30 น. ผู้เข้าร่วมจะถูกถามอีกครั้งเกี่ยวกับรูปแบบการกินและการดื่มหลังเลิกงาน

 

ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ก็ถือว่าไม่น่าประหลาดใจนัก เพราะผู้เข้าร่วมที่มีพฤติกรรม ‘การกินที่ไม่ดีต่อสุขภาพ’ ในยามดึกรายงานว่า พวกเขาพบปัญหาทางกายภาพในเช้าวันต่อมา โดยมีตั้งแต่อาการปวดหัว ปวดท้อง ท้องเสีย ไปจนถึงความรู้สึกผิดหรือความละอายใจที่กินดึก 

 

นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมที่มีการกินที่ไม่ดีต่อสุขภาพ ยังมีแนวโน้มที่จะรายงานว่า พวกเขามี ‘พฤติกรรมที่เป็นประโยชน์’ (Helping Behavior) น้อยลง เช่น ไม่ได้รู้สึกว่าอยากทำงานให้หนักขึ้น หรือไม่ให้ความช่วยเหลือเพื่อนร่วมงาน และมี ‘พฤติกรรมแยกตัวเอง’ (Avoiding Behavior) มากขึ้น เช่น มักจะหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่เกี่ยวกับงาน หรือหลีกเลี่ยงการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คน

 

นักวิจัยยังพบอีกว่า คนที่มีความมั่นคงทางอารมณ์ หรือคนที่สามารถรับมือกับความเครียดได้ดีเพราะมีอารมณ์แปรปรวนน้อย จะได้รับผลกระทบจากการกินอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพน้อยลงตามไปด้วย และพฤติกรรมในที่ทำงานของพวกเขาก็มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงน้อยลงเช่นกัน แม้ว่าพวกเขาจะมีการรายงานความเครียดทางร่างกายหรือทางอารมณ์ด้วยก็ตาม

 

แต่ที่สำคัญและน่าสังเกตในการวิจัยนี้ก็คือคำว่า ‘การกินที่ไม่ดีต่อสุขภาพ’ (Unhealthy Eating) ซึ่งถูกกำหนดโดยพฤติกรรมของผู้เข้าร่วม ซึ่งมีตั้งแต่การกินอาหารขยะ (Junk Food) ที่มากเกินไป หรือมีการกินหรือการดื่มโดยรวมที่มากเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกินขนมหรือของทานเล่นในช่วงดึก ทำให้เห็นว่าคำจำกัดความของคำว่า ‘อาหารขยะ’ และ ‘มากเกินไป’ ของแต่ละคนอาจไม่เหมือนกัน แต่พื้นฐานก็คือผู้เข้าร่วมที่รายงานการกินที่ไม่ดีต่อสุขภาพรู้สึกเหมือนกับว่าพวกเขากินมากเกินไป โดยไม่ได้พิจารณาถึงคุณค่าทางโภชนาการ ซึ่งทำให้พวกเขารายงานถึงความเครียดทางอารมณ์ เช่น ความรู้สึกผิดหรือความละอายใจ

 

โจซองฮี (Seonghee Cho) ผู้ทำการศึกษาและผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาที่ North Carolina State University กล่าวว่า การกินอาจเป็นกลยุทธ์ที่ดีในการรับมือกับความเครียดในวันนั้น (หรือที่รู้จักกันในคำว่าคอมฟอร์ตฟู้ด) แต่นั่นเป็นแค่การแก้ปัญหาระยะสั้นเท่านั้น 

 

อย่างไรก็ตาม ไม่มีอาหารใดที่ดีต่อสุขภาพเพียงอย่างเดียวทั้งหมด และการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพไม่ได้เกี่ยวข้องกับข้อมูลทางโภชนาการเท่านั้น แต่อาจได้รับอิทธิพลจาก ‘ความต้องการ’ ของแต่ละบุคคล หรือแม้กระทั่ง ‘เวลา’ และ ‘วิธี’ การกิน แทนที่จะเป็น ‘สิ่ง’ ที่พวกเขากินเข้าไปมากกว่า

 

สรุปแล้ว ผลการวิจัยนี้ไม่ได้หมายความว่าเราไม่ควรกินอะไรที่ไม่ดีต่อสุขภาพเสมอไป เพราะการกินเพื่อสุขภาพทุกรูปแบบย่อมมีที่ว่างให้กับขนมและของว่างเป็นครั้งคราว แต่กุญแจสำคัญคือการกินอย่างพอประมาณหรือในปริมาณที่เหมาะสม อาจเป็นของที่กินแล้วไม่รู้สึกอิ่มมาก เช่น ป๊อปคอร์นหรือผลไม้ เพื่อไม่ให้รู้สึกว่าตัวเองกำลังกินมากเกินไปจนรบกวนการทำงานในเช้าวันรุ่งขึ้น

 

นอกจากนี้ ควรพยายามเข้าใจการกินของตัวเองว่า ทำไมเราถึงกินมากขึ้นในเวลากลางคืน? เป็นเพราะอาหารเย็นไม่ถูกปากหรือเปล่า? ควรเพิ่มอาหารว่างในช่วงบ่ายมากขึ้น เพื่อไม่ให้รู้สึกหิวยามดึกหรือไม่? หรืออาจพูดคุยหรือปรึกษาคนรอบข้างบ่อยๆ ถึงความเครียดที่เกิดขึ้น แทนที่จะไปลงที่การกิน แล้วมาดูกันว่าเช้าวันต่อมาประสิทธิภาพการทำงานของเราจะเพิ่มขึ้นหรือลดลง

 

“ให้อภัยตัวเองและทำใจให้สบายบ้าง เพราะเราไม่สามารถรักษาระบบการกินให้ดีต่อสุขภาพได้ตลอดเวลา แต่ถ้าหากกำลังมองหานิสัยหรือพฤติกรรมบางอย่างที่ช่วยให้เราได้พักผ่อนและพร้อมจะทำงานต่อได้ ควรเริ่มจากการการออกกำลังกาย การนอนหลับที่เพียงพอ และพฤติกรรมการกินที่ดีต่อสุขภาพ” โจแนะนำทิ้งท้าย

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X