สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนเปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ของจีนประจำไตรมาสที่สองของปีนี้ว่า ขยายตัวได้ 7.9% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยตัวเลขดังกล่าวเป็นอัตราการขยายตัวที่ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์เอาไว้ที่ 8.1% และเป็นการขยายตัวในอัตราที่ลดลงจากช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา ที่ GDP จีนเติบโตได้ 18.3% ค่อนข้างมาก
ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ประเมินว่า การเติบโตของเศรษฐกิจจีนที่เริ่มลดความร้อนแรงลงในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา เป็นผลมาจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่พุ่งสูงขึ้น และการสะดุดของซัพพลายเชนในภาคการผลิตและการขนส่งสินค้า จากการที่โควิดกลับมาแพร่ระบาดบริเวณภาคใต้ของจีนอีกครั้ง ซึ่งเรื่องนี้ยังส่งผลต่อการบริโภคภายในประเทศของจีนอีกด้วย
อย่างไรก็ดี หลายฝ่ายยังเชื่อว่าแม้การเติบโตของเศรษฐกิจจีนในไตรมาสที่ผ่านมาจะเริ่มชะลอตัวลง แต่ภาพรวม GDP จีนในปีนี้จะยังขยายตัวได้สูงกว่าระดับเป้าหมายที่ 6%
การอ่อนแรงลงของเศรษฐกิจจีนเริ่มถูกจับตาจากนักวิเคราะห์ในสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากธนาคารกลางจีนปรับลดอัตราการคงเงินสำรองของสถาบันการเงินในประเทศลง 0.50% เพื่อให้ธนาคารสามารถอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบได้มากขึ้น
หลู ติง หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ Nomura ระบุว่า การเติบโตที่ค่อนข้างสูงในไตรมาสแรกของเศรษฐกิจจีนเป็นผลมาจากแรงขับของอุปสงค์ที่ถูกกดเอาไว้จากสถานการณ์โควิดในปีก่อน เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดดีขึ้น กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ จึงตอบสนองในทางบวกในช่วงไตรมาสแรก
อย่างไรก็ตาม หลูประเมินว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนจะเริ่มกลับสู่ภาวะสมดุลและขยายตัวตามศักยภาพที่แท้จริง โดยในไตรมาส 3 GDP จะขยายตัวที่ 6.4% และไตรมาส 4 จะขยายตัวที่ 5.3%
“การส่งออกที่ขยายตัวได้ 30% และการผลิตทางอุตสาหกรรมที่เติบโตได้ 8.3% ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ยังเป็นปัจจัยบวกและข่าวดีของเศรษฐกิจจีน ซึ่งจะช่วยคลายความกังวลของตลาดได้” หลูกล่าว
อ้างอิง: