จากเหตุการณ์ #โรงงานกิ่งแก้วไฟไหม้ ทำให้เกิดกลุ่มควันจากการเผาไหม้ถังสารเคมีปริมาณมหาศาล ทำให้ครอบครัวผู้อยู่อาศัยในระยะรัศมี 5 กิโลเมตร ต้องอพยพออกจากพื้นที่เนื่องจากควันดังกล่าวส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจ ซึ่งนอกจากจะส่งผลต่อคนแล้วยังส่งผลเสียต่อสัตว์เลี้ยงด้วยเช่นกัน
THE STANDARD POP สอบถามรายละเอียดไปยัง สัตวแพทย์หญิงปาลิดา กีร์ติบุตร สัตวแพทย์ประจำคลินิก Internal Medicine โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ สาขาพระราม 9 เพื่อทำความเข้าใจผลเสียจากเหตุการณ์และวิธีการปฐมพยาบาลสัตว์ก่อนส่งโรงพยาบาล ซึ่งมีวิธีการดังต่อไปนี้
โดยมากกลุ่มสารเคมีที่ก่อให้เกิดผลกระทบกับสัตว์เลี้ยงมักมาในรูปแบบควันจากการเผาไหม้ ซึ่งเป็นสารกลุ่มไฮโดรคาร์บอน ได้แก่ คาร์บอนไดออกไซด์และคาร์บอนมอนอกไซด์ แต่ยังมีการสัมผัสในรูปแบบอื่นๆ ที่สามารถเกิดขึ้นได้ จึงขอกล่าวถึงการสัมผัสสารพิษที่มีโอกาสเป็นไปได้ โดยแบ่งเป็น 2 กรณี ดังนี้
การเกิดพิษแบบเฉียบพลัน
1. พิษที่เกิดจากการสูดดม
- การสูดดมในปริมาณน้อย จะทำให้เกิดการระคายเคืองเยื่อเมือกทางเดินหายใจ อธิบายง่ายๆ คือจะทำให้เกิดการแสบเคืองโพรงจมูกและหลอดลม ทำให้น้ำมูก น้ำตาไหล และไอ
- การสูดดมในปริมาณมาก อาจเกิดอันตรายรุนแรง ทำให้เกิดอาการไอ มึนงง หายใจลำบาก เหงือกเปลี่ยนเป็นสีแดงเข้มถึงม่วง น้ำลายไหล ตัวสั่น เดินเซ หัวใจเต้นผิดจังหวะ ชัก จนถึงเสียชีวิตได้ เนื่องจากก๊าซในกลุ่มนี้เมื่อสูดดมสามารถดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดแล้วไปแย่งจับกับออกซิเจนในเม็ดเลือดแดง ทำให้ออกซิเจนไปเลี้ยงร่างกายไม่พอ รวมถึงทำให้เลือดเป็นกรด ส่งผลกระทบรุนแรงต่ออวัยวะสำคัญต่างๆ ของสัตว์เลี้ยงได้ นอกจากนั้นอาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดปอดอักเสบได้อีกด้วย
2. พิษที่เกิดจากการสัมผัสเปลวเพลิงจากการเผาไหม้
- ทำให้เกิดแผลพุพอง เป็นแผลไฟไหม้ ความรุนแรงขึ้นกับพื้นที่ของผิวหนังที่เกิดความเสียหาย
3. พิษที่เกิดจากการสัมผัสสารละลาย
- การสัมผัสกับสารในรูปของเหลวซึ่งจะเกิดในกรณีที่ฝนตกลงมาปะปนกับก๊าซที่ล่องลอยในอากาศ ทำให้เกิดของเหลวที่มีฤทธิ์เป็นกรดอ่อนๆ ทำให้เกิดความระคายเคืองและแสบคันเล็กน้อยหลังจากสัมผัส แต่ทั้งนี้ ต้องระมัดระวังสารละลายเข้าตาเพราะจะทำให้เกิดการระคายเคืองรุนแรงจนถึงทำให้เกิดการอักเสบได้ ขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของสารละลาย
4. พิษที่เกิดจากการกินสารพิษที่ปนเปื้อน
- หากปนเปื้อนกับอาหารที่กินมักทำให้เกิดการระคายเคืองทางเดินอาหาร อาการที่พบได้คือ น้ำลายไหลเยอะ คลื่นไส้ อาเจียน
การปฐมพยาบาลเบื้องต้นก่อนพามาพบสัตวแพทย์
1. การสูดดม
- พาสัตว์เลี้ยงออกมาจากบริเวณที่มีความเสี่ยงตามประกาศ หากมีอาการรุนแรงควรรีบพามาพบสัตวแพทย์เพื่อทำการประเมินอาการร่วมกับการให้ออกซิเจน ตรวจเลือด และให้สารน้ำเข้าเส้นเลือด เพื่อแก้ภาวะเลือดเป็นกรดและ/หรือปอดอักเสบ
2. การสัมผัสเปลวเพลิงจากการเผาไหม้
- ใช้น้ำสะอาดล้างแผลโดยไม่ต้องขัดถู จากนั้นใช้ผ้าสะอาดห่อหุ้มตัวป้องกันสิ่งสกปรกและการสูญเสียความชุ่มชื้นของผิวหนัง
3. การสัมผัสสารละลาย
- ล้างออกด้วยน้ำสะอาดหรือแชมพูอาบน้ำสำหรับสัตว์เลี้ยง
- หากเข้าตาให้ใช้น้ำยาล้างตา (ของคน) ล้างเยอะๆ ประมาณ 10-15 นาที
4. การกินสารพิษที่ปนเปื้อน
- ให้ป้อนน้ำสะอาดมากๆ รวมถึงสามารถป้อน Activated Charcoal งดการกระตุ้นอาเจียนเพราะจะยิ่งทำให้เกิดการระคายเคือง ห้ามป้อนไข่ขาวเพราะอาจทำให้เกิดการสำลัก
ทั้งนี้ ความรุนแรงที่สามารถเกิดกับลูกรัก 4 ขา ขึ้นอยู่กับช่องทางการสัมผัสสารเคมี ปริมาณสารเคมีที่สัมผัส และระยะเวลาที่สัมผัส แต่อาการเบื้องต้นก็สามารถชี้ถึงความรุนแรงได้บ้าง ในส่วนของผลระยะยาวจากการสัมผัสยังไม่แน่ชัดนัก จึงแนะนำให้หลีกเลี่ยงบริเวณที่มีสารเคมีเข้มข้นในระยะแรกก่อน หากมีการสัมผัสสารเคมีให้เฝ้าระวังและสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด หรือหากไม่มั่นใจในข้อมูลต่างๆ อาจพาน้องๆ มาตรวจกับสัตวแพทย์เพื่อความปลอดภัยของลูกรัก
ภาพประกอบ: เทียนจรัส วงศ์พิเศษกุล
พิสูจน์อักษร: นัฐฐา สอนกลิ่น