×

LGBTQ Love & Family EP.3: สัมภาษณ์เต็ม ‘ซิงเกิลมัมและลูกชายข้ามเพศ’ เมื่อความหลากหลายไม่ยากเกินที่จะเข้าใจ

30.06.2021
  • LOADING...
สัมภาษณ์เต็ม ‘ซิงเกิลมัมและลูกชายข้ามเพศ’ เมื่อความหลากหลายไม่ยากเกินที่จะเข้าใจ

เมื่อโลกเคลื่อนไปข้างหน้า พร้อมเผยให้เห็นถึงความแตกต่างหลากหลายในสังคม ภาพจำเดิมๆ ที่มีต่อเรื่อง ‘เพศ’ และ ‘ครอบครัว’ เริ่มแปรเปลี่ยน เปิดกว้าง และไร้กรอบจำกัด

 

‘LGBTQ Love & Family’ ใน EP.3 นี้ เราจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับ ตุ๊ก-อังสุมาลิน อากาศน่วม และ ปาร์คเกอร์-ภารวี อากาศน่วม ครอบครัวซิงเกิลมัมกับลูก LGBTQ ที่นิยามตัวเองว่าเป็นผู้ชายข้ามเพศ (Transman) ที่เป็นนอน-ไบนารี (Non-Binary) และอโรแมนติก อเซ็กชวล (Aromantic Asexual) ด้วย

 

ตุ๊ก อังสุมาลิน ได้ก้าวเข้าสู่พื้นที่ของความหลากหลาย เพื่อเรียนรู้และทำความเข้าใจโลกใบเดิมในมุมที่ต่างออกไป หลังจากที่ ปาร์คเกอร์ ภารวี คัมเอาต์กับเธอในฐานะ LGBTQ เราจึงชวนทั้งคู่มาร่วมพูดคุยถึงความรักความสัมพันธ์ภายในครอบครัว สิ่งที่พวกเขาจะต้องเรียนรู้ เข้าใจ และก้าวผ่าน รวมถึงความคาดหวังในสังคมไทย ในฐานะแม่ของ LGBTQ ที่โอบรับความหลากหลายของลูก

 

มาร่วมทำความรู้จัก ‘ครอบครัวซิงเกิลมัมและลูก LGBTQ’ อีกหนึ่งนิยามของครอบครัวที่หลากหลายไปพร้อมๆ กัน

 

 

การนิยามตัวตน 

ตุ๊ก อังสุมาลิน: สวัสดีค่ะ ชื่อ อังสุมาลิน นะคะ เป็นแม่ของปาร์คเกอร์ค่ะ

 

ปาร์คเกอร์ ภารวี: สวัสดีครับชื่อ ปาร์คเกอร์ ครับ เป็นนักศึกษาธรรมศาสตร์ครั เป็นผู้ชายข้ามเพศครับ 

 

เริ่มแรกเลย เราก็รู้สึกว่าเราไม่เคยเป็นผู้หญิงมาตั้งแต่เด็กๆ แล้ว ตั้งแต่อนุบาล เรารู้สึกว่ามันก็ไม่ค่อยผู้หญิงเท่าไร ยิ่งประถมยิ่งรู้สึกชัดมากว่าเราไม่เหมือนเด็กผู้หญิงคนอื่นในคลาสเดียวกัน แต่คือด้วยความที่เป็นเด็ก ตอนนั้นวิชาสุขศึกษาในโรงเรียนก็ไม่ได้สอนเราว่ามันมีอะไรอย่างอื่นบ้าง เขาก็ไม่ได้บอกเราว่าเราสามารถเป็นเพศอื่นได้นอกจากผู้ชายกับผู้หญิง 

 

เราน่าจะเริ่มเจอคำนิยามต่างๆ ช่วง ม.ปลาย ที่เราเริ่มเล่นอินเทอร์เน็ตแล้วเราก็เห็นว่า ทำไมมีคนในอินเทอร์เน็ตเขานิยามตัวเองว่าเป็นนอน-ไบนารี (Non-Binary) นี่คืออะไร เควียร์ (Queer) คืออะไร เราก็เลยไปตามหาอ่านดูว่ามันมีอะไรบ้าง

 

ช่วง ม.5-ม.6 เราก็เริ่มคิดจริงๆ ว่า โอเค เราคิดว่าเราคงไม่ใช่ผู้หญิงจริงๆ และเราก็ไม่อยากนิยามตัวเองว่าเป็นผู้หญิงด้วย เริ่มแรกเราเจอกลุ่มนอน-ไบนารีก่อน มันก็ค่อนข้างจะเป็นเรามั้ง คือเราก็รู้สึกว่าเราอยากเปลี่ยนแปลงตัวเองด้วย ทุกวันนี้เรารับฮอร์โมนด้วย แล้วเราก็นิยามตัวเองว่าเป็นผู้ชายข้ามเพศ (Transman) แล้วก็ค่อนข้างเป็นนอน-ไบนารีด้วย แต่ถ้าถามเรื่องเพศวิถี (Sexuality) เราเป็นอโรแมนติก อเซ็กชวล (Aromantic Asexual) 

 

เรารู้สึกว่าเรารู้ตัวเองอยู่แล้วว่าเราเป็นอโรแมนติก อเซ็กชวลมาตั้งแต่เด็กๆ แต่คือเราไม่เคยรู้ว่ามันมีคำเรียกแบบนี้ โรงเรียนเขาก็ไม่สอนเรา ไม่ใช่แค่เขาไม่สอน แต่คือเขาไม่อยากให้เราเป็นด้วยซ้ำ เขาไม่อยากให้เราเป็น LGBTQ หรือเป็นอะไรเลย เขาอยากให้เราเป็นผู้ชายเป็นผู้หญิงตามกรอบที่เขาวางไว้

 

ตุ๊ก อังสุมาลิน: คิดว่าคนส่วนมากก็อาจจะยังไม่รู้เหมือนกันนะคะว่าอโรแมนติก อเซ็กชวลคืออะไร 

 

ปาร์คเกอร์ ภารวี: อโรแมนติก (Aromantic) คือคนที่ไม่มีแรงดึงดูดทางใจกับคนอื่นในเชิงรักแบบเป็นชู้สาว เขาอาจจะรักคนอื่นได้ แต่เขาอาจจะไม่ได้อยากรักคนอื่นแบบในฐานะคู่รัก เขาอาจจะรักแบบเป็นเพื่อน เป็นพี่น้อง เป็นคู่ชีวิต ที่ไม่ได้หมายถึงเป็นคู่รัก แต่อาจจะเป็นแบบพาร์ตเนอร์อะไรทำนองนี้

 

ส่วน อเซ็กชวล (Asexual) คือคนที่ไม่มีแรงดึงดูดทางเพศกับใครเลย ไม่มีแรงดึงดูดทางเพศคืออย่างไร ก็คือ เราไม่เคยเจอใครแล้วเรารู้สึกว่าเราอยากมีความสัมพันธ์ทางเพศกับเขา เราไม่รู้สึกว่าเราอยากทำอะไรกับเขา ถ้าเกิดเราชอบเขา เราก็อาจจะแค่ชอบเฉยๆ แล้วก็ไม่อยากทำอะไรเขา แบบไม่อยากทำกิจกรรมทางเพศอะไรกับเขา

 

แต่คือในสังคมทั่วไป เขาจะไม่คิดว่าการเป็นอโรแมนติก หรือการเป็นอเซ็กชวลเป็นเรื่องปกติ เพราะเขาก็จะเข้าใจว่าทุกคนเกิดมาต้องมีคู่รัก และทุกคนเกิดมาก็ต้องมีเซ็กซ์ด้วย แล้วก็ต้องมีครอบครัว หรืออย่างน้อยถ้าแบบ ต่อให้เป็นคู่รักเพศเดียวกัน เขาก็ต้องรักกัน หรืออย่างน้อยเขาก็ต้องมีเซ็กซ์กันสักอย่างหนึ่ง 

 

 

ขณะที่ ผู้ชายข้ามเพศ (Transman) หลายคนจะเข้าใจว่าต้องแปลงเพศก่อนถึงจะนับว่าเป็นผู้ชายข้ามเพศ แต่ความจริงมันอยู่แค่ว่าเรารู้สึกอย่างไร มันอยู่ในหัวเราอย่างเดียวเลยว่า ถ้าเรารู้สึกว่าเราเป็นผู้ชาย ก็คือเราเป็นผู้ชาย 

 

เพราะว่ามันก็มีผู้ชายข้ามเพศหลายคนที่เขามีร่างกายเป็นผู้หญิง แล้วเขาก็ไม่ได้ต้องการเปลี่ยนแปลงอะไรเลย บางคนไม่ได้อยากรับฮอร์โมนด้วยซ้ำก็มี บางคนอาจจะแค่อยากรับฮอร์โมน แต่ไม่อยากผ่าตัด บางคนอยากผ่าตัดเอาหน้าอกออก ไม่ได้อยากผ่าข้างล่างก็มี หรือบางคนอยากผ่าทุกอย่างเลย อยากทำทุกอย่างเลยก็มี คือมันก็เป็นความต้องการของแต่ละคนที่แตกต่างกันไป ซึ่งผู้ชายข้ามเพศทุกคนก็ไม่ได้จำเป็นต้องการแบบเดียวกันทุกคน แล้วผู้ชายข้ามเพศก็ไม่ได้จำเป็นต้องรักผู้หญิงเท่านั้นด้วย ผู้ชายข้ามเพศมันก็เป็นเพศหนึ่งของเรา ซึ่งก็ไม่ได้เป็นตัวกำหนดว่าเราต้องรักใครหรือชอบใคร ผู้ชายข้ามเพศที่เขาชอบผู้ชายด้วยกันก็มี 

 

ส่วน นอน-ไบนารี (Non-Binary) เป็นอัตลักษณ์กว้างๆ ของเพศสภาพที่ไม่ได้อยู่ในกรอบชายและหญิง ก็คือทุกอย่างที่ไม่ใช่ผู้ชายตามบรรทัดฐานของสังคม แล้วก็ไม่ใช่ผู้หญิงตามบรรทัดฐานของสังคม เช่น อาจจะเป็นผู้ชายที่มีความรู้สึกว่าตัวเองมีความเป็นผู้หญิงด้วย คือรู้สึกว่าตัวเองเป็นสองเพศในครั้งเดียว เป็นไบเจนเดอร์ (Bigender) หรือเป็นเจนเดอร์ฟลูอิด (Genderfluid) ที่สภาพเปลี่ยนไปตามเวลา วันหนึ่งอาจจะเป็นผู้ชาย อีกวันหนึ่งเป็นผู้หญิง อีกวันหนึ่งไม่มีเพศ หรือเป็นคนที่ไม่มีเพศเลยแบบเป็นอเจนเดอร์ (Agender) ก็นับว่าเป็นนอน-ไบนารีด้วย หรือคนที่เป็นเจนเดอร์เควียร์ (Genderqueer) ก็คือเขาหลุดจากความเป็นเพศไปในระดับหนึ่ง เขาอาจจะรู้สึกว่าเขาเป็นของเขาแบบนี้โอเคแล้ว แล้วเขาก็นิยามตัวเองว่าเป็นเจนเดอร์เควียร์ แล้วเขาก็อาจจะมีการแสดงออกที่แตกต่างกันไป ซึ่งนอน-ไบนารีก็ไม่ได้จำเป็นต้องแสดงออกในทิศทางเดียวกัน คือบางคนก็จะเข้าใจว่านอน-ไบนารีต้องมีความแสดงออกก้ำกึ่งทุกคน ต้องดูแบบชายก็ไม่ใช่หญิงก็ไม่ใช่ ซึ่งในความเป็นจริงมันก็ไม่จำเป็นต้องเป็นแบบนั้นก็ได้ นอน-ไบนารีบางคนเขาอาจจะแสดงออกเป็นผู้ชายจ๋ามากๆ แต่เขาก็ยังนิยามตัวเองว่าเป็นนอน-ไบนารีก็ได้ หรือแสดงเป็นผู้หญิงมากๆ แต่เขาเป็นนอน-ไบนารีก็ได้เหมือนกัน 

 

 

ในวันที่ลูกมาบอกว่า ‘ไม่ใช่ผู้หญิง แต่เป็นผู้ชาย’

ตุ๊ก อังสุมาลิน: คือกว่าที่เขาจะมาเป็นถึงวันนี้มันมีการเปลี่ยนแปลง มันมีการพัฒนา เริ่มแรกเลยที่เขามาบอกทีแรก เขาบอกแค่ว่าเขาคิดว่าเขาไม่ใช่ผู้หญิงนะ เขาคิดว่าเขาน่ะเป็นผู้ชาย แล้วเขาก็ไม่อยากจะให้ทุกคนในบ้านในครอบครัวทรีตเหมือนเขาเป็นเด็กผู้หญิง ช่วยคิดว่าเขาเป็นเด็กผู้ชายได้ไหม อันนั้นคือเริ่มแรกเลยที่เขาบอกเราว่า เขาคิดว่าเขาเป็นทรานส์ (Trans) นะ เขาเป็นคนข้ามเพศ แม่ก็โอเค ไม่เป็นไร คือถามว่าตอนแรกเรารับได้เลยไหม เรารับได้เลย เราไม่ได้มีปัญหากับความเป็น LGBTQ สิ่งที่เราคิดตอนแรกเลยก็คือความกังวลว่า ถ้าเกิดลูกเราเป็นคนหลากหลายทางเพศ เป็นผู้ชายข้ามเพศ เขาจะมีปัญหาคนรอบข้างไหม เขาจะใช้ชีวิตยากลำบากหรือเปล่า เราก็คือกังวลตรงนั้นมากกว่า เพราะว่าเรารู้ว่าในสังคมตอนนี้คือยังไม่ได้เป็นที่ยอมรับมากนัก คนยังไม่ได้เข้าใจ 

 

อย่างรุ่นแม่ ต้องเรียกว่าถูกสอนมามากกว่าว่า ความหลากหลายทางเพศ หรือเขาใช้คำว่าเบี่ยงเบนทางเพศนี่คือความผิดปกติ เขายังเข้าใจว่าคนที่ไม่ได้เป็นชายหรือเป็นหญิงตามมาตรฐานเป็นคนผิดปกติ อันนี้ทำให้เรากังวลว่า แล้วลูกเราเป็นหลากหลายทางเพศ เขาจะมีปัญหาไหม เขาไปในเรียนมหาวิทยาลัย เพื่อนจะรับได้ไหม อาจารย์จะรับได้ไหม แม่ก็กลัวว่าเขาจะเจอคนที่ต่อต้านหรือเปล่า อันนี้เป็นความกังวลของเรา

 

แต่ถามว่าเริ่มแรกเลยเรายอมรับได้เลยไหม เรายอมรับได้เลยค่ะ เพราะว่าถ้าถามว่าลูกเรามีส่อเค้ามาไหม เราก็เห็นมาตั้งแต่เด็กๆ ตอนเด็กๆ ที่เขายังไม่รู้เลยนะว่าเป็นอะไรเขาก็จะมาบอกว่า เขารู้สึกว่าเขาเข้ากับเพื่อนไม่ค่อยได้ เพราะว่าเขาไม่เหมือนเพื่อน เหมือนกับว่ากับกลุ่มเพื่อนผู้หญิงเขาก็รู้สึกไม่อยากเล่นด้วย รู้สึกว่าเขาแตกต่าง ความชอบความสนใจเขาก็ไม่เหมือนกับเพื่อนๆ เด็กผู้หญิงในโรงเรียน แต่เขาก็หาทางออกนะ ก็คือ พอเขามาเล่นดนตรี เขาก็รู้สึกว่าโอเคกับการเล่นดนตรี โอเคกับการทำงานศิลปะ การอ่านหนังสือ การฟังเพลง เราแล้วก็เห็นว่า อืม เขาก็มีทางออกเขา เพราะว่าเขาไปเล่นดนตรีเขาก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร ส่วนมากก็ซ้อมกับเพื่อนในวง เราก็เห็นว่าเขาก็ผ่านมาได้

 

ปาร์คเกอร์ ภารวี: ที่บ้านดูไม่เห็นมีใครแปลกใจเลย ทำไมบอกแล้วไม่มีใครแปลกใจเลย ทำไมทุกคนไม่มีความเซอร์ไพรส์อะไรสักนิดเลย (หัวเราะ)

 

ตุ๊ก อังสุมาลิน: ต้องเล่าย้อนไปว่า แม่จะมีเพื่อนที่เป็นหลากหลายทางเพศหลายคน ตั้งแต่เราเป็นเด็กๆ คุณพ่อคุณแม่ก็จะเห็นว่าเพื่อนที่เป็นเกย์อยู่ที่บ้านตัวเองไม่ได้ เพราะพ่อแม่ไม่ยอมรับ ก็จะหนีมาอยู่กับเรา คือบางทีคนที่บ้าน สมมติมีคนยอมรับอยู่คนเดียวอย่างเช่นคุณแม่ยอมรับเขาได้ พอคุณแม่ไม่อยู่บ้านปุ๊ป เพื่อนก็จะไม่กลับบ้านเลย แล้วก็จะมาหาเรา จะมาอยู่กับเราตลอด แล้วแม่ก็จะเห็นว่าเพื่อนที่เป็นอย่างนี้ต้องหลอกที่บ้านตลอดเวลาเลย เขาไม่มีความสุขเลย แอบเอาเสื้อผ้าออกไปเปลี่ยน บอกเพื่อนทุกคนนะ เพื่อนทุกคนรู้หมดว่าเขาเป็น แต่ว่าพอกลับไปที่บ้านเขา เขาจะย้ำเพื่อนทุกคนว่าห้ามให้ที่บ้านรู้ เก๊กว่าตัวเองแมนอะไรอย่างนี้ ชีวิตมันลำบาก ชีวิตมันลำบากมาก 

 

แม่มีเพื่อนสนิทคนหนึ่ง ที่บ้านแอนตีมาก จนอายุเกือบ 30 ปีแล้ว พยายามจะบอกที่บ้านว่าเขาเป็นเกย์ ชอบผู้ชาย แล้วเขาก็มีภาวะซึมเศร้า ที่บ้านก็จะไม่ยอมรับ แล้วก็จะพยายามบอกหมอทุกคนที่รักษาเขาว่า ทำอย่างไรก็ได้ให้ลูกของเขาหายจากการเป็นเกย์ คือเหมือนกับว่าการเป็นเกย์กับอาการโรคซึมเศร้าคือเป็นอาการเดียวกัน คือเป็นความผิดปกติทางจิต เราเห็นเพื่อนเราเข้า-ออกโรงพยาบาลบ่อย แล้วก็พยายามกินยาเกินขนาดเพื่อฆ่าตัวตาย 3-4 ครั้ง ทำให้พ่อแม่ของแม่เห็นมาตลอดว่าคนที่ที่บ้านไม่ยอมรับเขาลำบากขนาดไหน พอมันถึงเวลาที่ปาร์คเกอร์เป็น ที่บ้านก็เลยไม่ต่อต้าน เพราะเราเห็นแล้วว่าคนที่เขาเป็น ไม่ว่าจะอย่าางไรก็คือเขาเปลี่ยนไม่ได้ แล้วเราเห็นแล้วว่าคนที่ไม่สามารถจะเป็นตัวของตัวเองได้ ต้องปกปิดทุกคนตลอดเวลาโดยเฉพาะคนในครอบครัวมีความทุกข์มากๆ เลยค่ะ แล้วเราก็ไม่อยากให้ลูกเราเป็นแบบนั้น

 

 

โอบรับความหลากหลายของลูก

ตุ๊ก อังสุมาลิน: พอเขาเริ่มเข้าไปศึกษา เริ่มไปเข้ากลุ่มนอน-ไบนารี แม่ก็คุยกับเขาตลอดเพราะแม่ก็อยากรู้ความเป็นไปของเขา คอยถามเขาว่าหนูมีปัญหาอะไรไหม หนูไม่สบายใจอะไรไหม เพราะว่าช่วงแรกๆ เขาก็ค่อนข้างมีความเครียดในช่วงปรับตัว คนรอบข้างก็อาจจะยังปรับตัวกันไม่ได้ก็มี เราก็พยายามจะใกล้ชิดเขา เราก็เป็นห่วงเขาว่าเขาจะเครียดไหม เพราะว่าสิ่งที่เขาเป็น บางทีเขาอาจจะเจอภาวะจากคนข้างนอกด้วยว่าอาจจะไม่เข้าใจเขา เราก็คอยแบบใกล้ชิดลูก เพื่อที่จะคุยกับเขาว่าตอนนี้เขาเป็นยังไง อัปเดตซิ มีปัญหาไหม 

 

แล้วลูกก็มาบอกว่าเขาเป็นนอน-ไบนารี แม่ก็เริ่มสงสัย แล้วนอน-ไบนารีคืออะไรเหรอ เควียร์คืออะไร เราก็ได้มีคำศัพท์แปลกๆ มาทำให้แม่เริ่มรู้สึกว่าความรู้ที่เรามีมาที่เรารู้ตั้งแต่สมัยเด็กๆ เรารู้จักเกย์ ไบเซ็กชวล เลสเบี้ยน เรารู้จักอยู่ประมาณนี้ ทอมดี้อะไรอย่างนี้ เราก็รู้แค่นี้ แต่ปรากฏว่าพอลูกเราเริ่มไปศึกษาดู เราก็ได้ยินลูกมาเล่าให้ฟัง มันจะมีคำแปลกๆ แล้วเขาก็จะอธิบายว่าแบบนี้แบบนี้แบบนี้ มันต่างจากที่เรารู้ไปเยอะ มันมีมากกว่านั้น มันมีแบบซับซ้อน คือต้องเรียกว่าสเปกตรัมมันกว้างมาก ในแต่ละกลุ่มก็จะมีความแตกต่างกัน 

 

เราก็เพิ่งมารู้ว่า โอเค เขามีนอน-ไบนารี คือ คนที่ไม่ชายไม่หญิง เราก็มาคิดว่าคนเราบางทีมันไม่ไปซ้ายเลยขวาเลย มันอาจจะมีอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งแตกต่าง พอลูกเรามาเล่าให้ฟังว่ามันมีอย่างนี้อย่างนี้ แม่ก็เริ่มเข้าไปศึกษา แล้วเรามีความรู้สึกว่า ถ้าเราอยากให้ลูกเราอยู่ในสังคมได้แบบมีความสุขมากขึ้น เราคิดว่าเราน่าจะต้องทำอะไรสักอย่าง เพราะเรารู้สึกว่าคนรุ่นพ่อแม่ขาดความรู้ ขาดความรู้ไปเยอะเลยค่ะ แล้วทุกคนก็พยายามปิด ไม่คุยเรื่องเพศ บอกแค่ว่าผู้หญิงต้องทำตัวแบบนี้ ผู้ชายที่ดีต้องทำตัวแบบนี้ ทุกคนมีหน้าที่ต้องมีครอบครัว ต้องมีลูก ต้องแต่งงาน 

 

เราก็เลยมีความรู้สึกว่า อย่างแม่ที่เป็นซิงเกิลมัม แม่รู้สึกว่าชีวิตแต่งงานบางทีมันก็ไม่ใช่คำตอบ คือบางทีมันไม่ใช่ทุกอย่าง ถ้ามันไปไม่รอด เราต้องยอมรับว่าบางทีการอยู่คนเดียวมันก็ดีกว่า เราก็เลยมีความรู้สึกว่าเราก็เริ่มไปเรียนรู้กับเขา ไปเข้ากลุ่ม ไปรู้จักคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ไปทำกิจกรรม ทำให้เรามีความเข้าใจมากขึ้นว่าจริงๆ แล้วคำว่าหลากหลายทางเพศคือหลากหลายจริงๆ มันมีอะไรที่มันละเอียดไปมากกว่านั้น มันมีความแตกต่าง ทุกคนอาจจะลื่นไหล อย่างตอนนี้ที่ปาร์คเกอร์นิยามตัวเองเป็นแบบนี้ แม่ก็ไม่รู้อีก 2 ปี 3 ปี 5 ปี 10 ปี ปาร์คเกอร์ยังจะเป็นอย่างนี้อยู่หรือเปล่า เพราะแม่เห็นว่าเขาจะมีความเปลี่ยนแปลง เขาอาจจะไปเรียนรู้ว่าตอนนี้ฉันเป็นอย่างนี้นะ แล้วมันมีคำเรียก มันอาจจะมีคนที่เหมือนกับเขา เขาจะมีกลุ่มของเขา มันก็อาจจะมีอะไรใหม่ๆ มา คือเรามีความรู้สึกว่าบางทีเราอาจจะไม่จำเป็นจะต้องไปยึดติด 

 

อย่างตอนหลังมานี้เราก็จะเจอคนที่เป็นผู้หญิงข้ามเพศหลายคนที่ยังชอบผู้หญิงอยู่ แล้วก็จะมีคนตั้งคำถามกับพวกเขาว่า อ้าว ในเมื่อชอบผู้หญิงแล้วทำไมต้องเป็นผู้หญิงข้ามเพศล่ะ เราก็เลยมีความรู้สึกว่าคนเราจะยึดติดขั้วที่ตรงกันข้ามกัน อย่างแม่เองแม่ก็รู้สึกนะ เราถูกกรอบที่บอกมาว่า สมมติว่าคุณเป็นกะเทยคุณต้องชอบผู้ชาย หรือคุณเป็นทอมคุณต้องชอบผู้หญิง ในความเป็นจริงมันไม่ใช่ คือในโลกความเป็นจริงยังมีคนที่แตกต่างจากตรงนั้นอีกเยอะ ทำให้เรารู้สึกว่ากรอบที่เราถูกเขาขีดมา ที่เขาบอกมามันแคบมากเลย ในความเป็นจริงยังมีคนที่แตกต่าง อย่างเมื่อเร็วๆ นี้ แม่ก็เพิ่งจะมาเรียนรู้ว่า อโรแมนติกและอเซ็กชวลคืออะไร เราก็เลยรู้ว่า อ๋อ มันก็ยังมีคนที่เป็นแบบนี้อีก ซึ่งในอนาคตเราก็ไม่รู้ว่าปาร์คเกอร์อาจจะเปลี่ยนไป หนูไม่เป็นผู้ชายแล้ว หนูอาจจะเปลี่ยนแล้ว หนูอาจจะกลับมาเป็นผู้หญิงก็ได้ หรือหนูอาจจะเป็นผู้ชาย แต่หนูเริ่มเลิกเป็นอโรแมนติก หนูเลิกเป็นอเซ็กชวล หนูอาจจะมีความรักกับใครสักคนหนึ่ง ซึ่งเราก็ไม่ได้ฟิกซ์ เราก็พร้อมที่จะซัพพอร์ตลูก พร้อมที่จะอยู่ข้างเขา พร้อมที่จะสนับสนุนเขา

 

 

‘ครอบครัว’ จุดเริ่มต้นของความเข้าใจ

ตุ๊ก อังสุมาลิน: ตอนแรกเลยทุกคนก็มีความกังวล กลัว กลัวเหมือนที่แม่กลัว ก็ไม่ได้คิดว่าจะไม่ยอมรับนะคะ แต่ก็คือแบบฝืนๆ คือเขาอยากจะให้เป็นปกติมากกว่า เพื่อที่ว่าจะไม่มีแรงต้าน ไม่มีใครแอนตี เขาก็เป็นห่วงหลานเขาว่า ถ้าหลานเขาเป็นอย่างนี้ เขาจะโดนต่อต้านไหม จะมีใครมาทำร้ายเขาไหม จะมีใครรังเกียจเขาไหม หรือจะมีใครกีดกันเขาหรือเปล่า เราเห็นข่าวว่ามีเด็กที่โชคร้ายหลายคนที่เป็นหลากหลายทางเพศแล้วก็ถูกทั้งอาจารย์ ทั้งสถาบัน ทั้งเพื่อนบูลลี่ ไม่ยอมรับ ทำให้เขามีปัญหาเยอะแยะ ทำให้คุณตาคุณยายเขากังวลมาก 

 

แรกๆ ก็คือ เหมือนกับเรายังปรับตัวไม่ทัน คือเราเลี้ยงเขามา เราเห็นเขาเป็นเด็กผู้หญิงมาตลอด เราทรีตเขาแบบเด็กผู้หญิง พอลูกมาบอกว่าให้ทรีตเขาเหมือนเป็นเด็กผู้ชาย บางทีมันเปลี่ยนไม่ได้เลยทันที เราก็บอกว่า ลูก…คือแม่เคยชินกับหนูเป็นเด็กผู้หญิงมา 10 กว่าปีนะ แล้วอยู่ๆ จะให้แม่แบบเปลี่ยนปุ๊บเลย ลูกฉันเป็นผู้ชาย คือมันเปลี่ยนทันทีไม่ได้ บางทีเราลืม เราบอกลูกเลยนะ บางทีเราลืมจริงๆ แล้วก็ต้องให้เวลา อย่างคุณตาคุณยายต้องให้เวลาท่านปรับตัวด้วย เพราะบางทีการเปลี่ยนเหมือนกดสวิตช์มันทำไม่ได้ บางทีต้องทำความเข้าใจและใจเย็นๆ 

 

ต้องบอกว่าตัวเราเอง เราเป็นผู้หญิง เราก็จินตนาการไม่ออกเหมือนกันว่าวันหนึ่งถ้าเกิดเราอยู่ในร่างกายผู้หญิง แต่จิตใจเราเป็นผู้ชาย แล้วคนรอบข้างยังทรีตเราเป็นผู้หญิงอยู่ เราจะต้องรับมืออย่างไร บางทีเราเห็นนะคะความยากลำบาก อย่างตอนนี้ลูกรับฮอร์โมนแล้ว สภาพเขาก็เริ่มเหมือนเด็กผู้ชายแล้ว บางทีมีคนเรียกชื่อเขา ชื่อยังเป็นผู้หญิงอยู่ ยังเป็นนางสาวอยู่ เออ มันก็แปลกๆ เหมือนกันนะ มีคนมองเขา เอ๊ะ หนวดเฟิ้มขนาดนี้ เธอใช้นางสาวอยู่ 

 

ปาร์คเกอร์ ภารวี: ได้ยินเสียงแล้วเขาก็จะแบบ เอ๊ะ ทำไมคุยด้วยแล้วเป็นเสียงนี้ 

 

ตุ๊ก อังสุมาลิน: ใช่…เราก็มีความรู้สึกว่าบางทีความกดดันรอบข้างมันก็มี คนที่มอง เขามองแปลกๆ ก็มี บางคนก็ตั้งคำถาม บางคนที่เคยเห็นกันมาตั้งแต่เด็กๆ บางคนก็เอามาถามเรา เอ๊ะ ทำไมลูกเธอ…

 

ปาร์คเกอร์ ภารวี: มีขนหน้าแข้ง (หัวเราะ) ทำไมมีขนหน้าแข้ง

 

ตุ๊ก อังสุมาลิน: ใช่ๆ บางคนก็ถามแบบเกรงใจ เอ๊ะ นี่เขาเป็นทอมเหรอ เราก็พยายามจะอธิบายให้ฟังว่าความหลากหลายทางเพศบางทีมันไม่ใช่แค่นั้นอย่างที่เขาเข้าใจ บางคนเขาก็เหมือนกับตัดสินเราว่าเราเลี้ยงลูกไม่ดี เราเลี้ยงลูกผิดอะไรอย่างนี้ ว่าปล่อยให้เป็นอย่างนี้ได้อย่างไร แต่เราก็เลือกไม่สนใจ เราถือว่าไม่เกี่ยว เราถือว่านั่นเป็นความเห็นส่วนตัวของคุณ ไม่เข้าใจก็คือไม่เข้าใจ เราไม่สามารถจะทําให้ทุกคนเข้าใจหรือยอมรับได้ เราก็ปล่อยผ่าน เราก็บอกลูกอย่างนี้เหมือนกันว่าบางทีเราไปอยู่ในสังคม มันจะมีคนยอมรับ คนที่เข้าใจ แต่บางคนก็คือไม่สามารถเข้าใจและไม่สามารถยอมรับได้เลย คือเขายึดติดกับความเชื่อเดิมๆ เราก็ต้องบอกว่า ถ้าอธิบายได้ก็อธิบายอย่างใจเย็น อย่ามีอารมณ์ ถ้าอธิบายแล้วเขาไม่ฟังก็ปล่อยเขาไป เราก็ต้องปล่อยผ่านไป คือการใช้ชีวิตมันก็แบบนี้ เราไม่สามารถทําให้ทุกคนชอบเราได้  

 

บางคนเขาก็ทำท่าสงสารเรา เราก็บอก เราแฮปปี้ดีนะ เราก็บอกว่าลูกเราไม่ได้มีปัญหาอะไร บอกว่าเขาจะเป็นเพศไหนก็คือเป็นเรื่องส่วนตัวของเขา เราเคารพความคิดเห็นของลูกเสมอ เราให้ลูกตัดสินว่าเขาอยากจะใช้ชีวิตแบบไหน เขาจะเป็นอะไร ตราบใดที่เขายังแฮปปี้แล้วก็ไม่ได้ทำอะไรให้ใครเดือดร้อน แม่ถือว่าอันนี้แม่คิดกับทุกคนด้วยนะคะตั้งแต่แรกเลย ตั้งแต่ที่ลูกตัวเองยังไม่เป็นอะไรเลย เราก็คิดว่าใครจะเป็นอะไร รสนิยมทางเพศเป็นแบบไหน หรืออัตลักษณ์ทางเพศจะเป็นอย่างไร มันเป็นเรื่องส่วนตัวค่ะ เราถือว่าใครจะเป็นอะไรคือนั่นเป็นตัวของเขา เขาก็มีสิทธิ์ที่จะตัดสินใจ

 

 

รักแบบไม่มีเงื่อนไข

ตุ๊ก อังสุมาลิน: มีบางคนที่เขาอาจจะคาดหวังอย่างอุดมคติว่า ทุกคนจะต้องแต่งงาน ทุกคนต้องมีลูก บางคนอาจจะผิดหวังที่มีลูกชายแต่กลับอยากเป็นกะเทย อยากเป็นผู้หญิงข้ามเพศ อยากแปลงเพศ เขาก็มีความรู้สึกว่าเขารู้สึกผิดที่ลูกเขาเป็นอย่างนี้ ทำให้ไม่สามารถจะมีลูกสืบวงศ์ตระกูลต่อได้ บางคนเขามีความคิดอย่างนั้นจริงๆ อย่างไปทำกิจกรรมแล้วไปเจอพ่อแม่ที่เขาออกมายอมรับแล้วนะ ว่าเขายอมรับว่าลูกเขาเป็นอย่างนี้ แต่เขาก็ยังแอบคิดว่า ถ้าเป็นไปได้ก็อยากจะให้ลูกเขากลับไปเป็นเหมือนเดิมเป็นปกติ หรือมีบางคนเขาก็พยายามจะบอกว่า ไม่เป็นไร ลูกเป็นอะไรก็ได้ขอให้เป็นคนดี อันนี้คือต้องบอกเลยนะคะว่า มันเป็นอะไรที่เรารู้สึกว่า ทำไมคุณต้องมีเงื่อนไข 

 

ตั้งแต่รู้ว่าปาร์คเกอร์เขาอยู่ในท้อง แม่รักเขาเลยนะ ไม่รู้หรอกว่าลูกฉันเป็นผู้หญิงผู้ชายหรือเป็นอะไร นี่คือลูกฉัน ฉันรักเขา ไม่ว่าลูกจะมาบอกว่าลูกเป็นหลากหลายทางเพศหรือเป็นอะไร แม่ไม่ได้เปลี่ยนความรู้สึกเลย แล้วแม่ไม่มีความรู้สึกเลยว่าลูกฉันจะต้องพิสูจน์ตัวเองว่าจะต้องเป็นคนดี จะต้องเป็นอะไร โอเคนะคะ มีคนที่มีความหลากหลายทางเพศหลายๆ คนที่เก่งมาก ประสบความสำเร็จ ออกมาสู่สายตาสังคม เป็นตัวอย่างที่ดี ใช่ เราชื่นชมด้วยจริงๆ แต่ในอีกมุมหนึ่งมันเหมือนกับเป็นการสร้างบรรทัดฐานไหมว่าจะต้องประสบความสำเร็จแบบนั้น หรือจะต้องหน้าตาดี จะต้องดูดี จะต้องมีความสามารถมากขนาดนั้น ถึงจะเป็นที่ยอมรับของสังคม แค่เขาเป็นคนธรรมดาได้ไหมคะ ไม่ต้องบอกว่าเป็นคนดีก็พอ แค่ไหนถึงพอดีคะ ดีแค่ไหนถึงพอ ดีสำหรับใคร 

 

จริงๆ แล้วอยากจะให้ทุกคนคิดว่าความหลากหลายทางเพศก็เหมือนเพศชายเพศหญิง ก็คือเพศหนึ่ง อย่างอินเตอร์เซ็กซ์ (Intersex) เขาก็ไม่ใช่คนพิการ เราอยากให้ทรีตว่าคนที่มีความหลากหลายทางเพศเป็นคนเหมือนกัน หรือแม้แต่ว่าคนที่ไม่เข้าใจจริงๆ ยอมรับไม่ได้ อย่างน้อยช่วยคิดว่านี่คือเพื่อนมนุษย์คนหนึ่ง อยากให้คิดว่าเขาเป็นมนุษย์เหมือนเรา มีความรู้สึกอยากเป็นที่รัก มีความรู้สึกเจ็บปวด มีความรู้สึกเสียใจ มีความรู้สึกโกรธ มีความน้อยใจ ทุกคนอยากมีพื้นที่ของตัวเอง อยากเป็นที่ยอมรับในสังคม

 

ปาร์คเกอร์ ภารวี: เวลามีคนบอกว่าประเทศไทยยอมรับ LGBTQ ได้ เราก็จะมีความรู้สึกว่ามันก็ไม่เชิงว่ายอมรับได้ เขาแค่ยอมให้อยู่ในสังคมด้วยได้ แต่ถามว่าเขายอมรับหรือเข้าใจเราจริงๆ ไหม มันก็ไม่ถึงขนาดนั้น เพราะมันก็ยังมีคนที่ก็แค่ยอมให้มีชีวิตอยู่ได้เฉยๆ แต่ก็ไม่ได้คิดจะไปเรียนรู้ว่าชีวิตเขามีปัญหาอะไร หรือจะไปช่วยเยียวยาอะไร มันแค่เป็นการยอมรับที่เขายอมให้เรามีตัวตน มีชีวิตอยู่ได้ แล้วก็อาศัยร่วมกับเขาได้ โดยที่เขายังไม่ถึงกับมีกฎหมายมากีดกันที่หนักหนา คืออย่างน้อยเขาก็ยังไม่สามารถปาหินใส่เราได้

 

 

ไม่มีวันพิเศษ เพราะเรารักกันทุกวัน

ตุ๊ก อังสุมาลิน: ต้องบอกว่าเราสนิทกันมาก ยิ่งเขาโตขึ้นนะ คนเรายิ่งโตก็จะยิ่งมีความซับซ้อน เรามีความรู้สึกว่าบางมุมเราก็ไม่รู้จักเขาไปหมดทุกอย่าง เราก็รู้สึกว่าเราจะต้องมีการเรียนรู้กัน แม้แต่ลูกเองก็ไม่ได้เข้าใจเราหมดทุกอย่าง เพราะว่าเขาเป็นเด็ก เขามองในมุมเด็ก เขาไม่ได้มีประสบการณ์เหมือนเรา เขาไม่ได้มาใช้ชีวิตพร้อมกับเรา หลายๆ เรื่อง หลายๆ เหตุการณ์ที่เราต้องเจอเขาก็ไม่ได้รับรู้ด้วย แต่เราคุยกัน เราจะคุยกับเขา เราอาจจะบอกเล่าในเรื่องหลายๆ อย่างที่บางทีตัวเราเองอาจจะทำผิดพลาดตรงนี้ เราเฟลตรงนี้ เรา โอ๊ย อันนี้เราไม่ไหวแล้ว เป็นความผิดของเราเอง เราก็จะพยายามสอนเขา อย่างการใช้ชีวิตอยู่ในสังคม เราก็สอนลูกว่าโลกเราเป็นสีเทาๆ บางอย่างเราอาจจะต้องอยู่เป็น คำนึงถึงความอยู่รอดของตัวเองด้วย การเป็นตัวของตัวเองมันดีค่ะ มั่นใจในตัวเองเป็นสิ่งที่ดี แต่ว่าบางเรื่องเราก็ต้องหันซ้ายหันขวาดูคนอื่นเขาด้วย 

 

อีกอย่างหนึ่งคือเราก็สอนลูกว่า คนที่คิดไม่เหมือนเราเราก็ต้องฟัง เราต้องยอมรับเขาเหมือนกันว่านั่นคือความคิดเห็นของเขา เหมือนกับตัวเราที่เรามีความคิดแบบนี้ เราก็อยากให้คนอื่นฟังเรา อยากให้ยอมรับเรา แม้ว่าคนคนนั้นอาจจะเห็นไม่เหมือนเรา อาจจะคิดต่างไปเลยคนละขั้วเลย แต่นั่นคือความคิดของเขา นั่นเป็นสิทธิ์ของเขา เราก็ต้องฟังเขาด้วย บางทีอาจจะไม่ชอบใจ แต่ในเมื่อตัวเราเองเรายังอยากเป็นตัวของตัวเอง เราก็ต้องให้พื้นที่คนอื่นด้วยเหมือนกัน คือบางมุมเราเองเรายังไม่เข้าใจเขาเลย เราต้องบอกว่า บางทีเราก็จินตนาการไม่ออกว่าความรู้สึกของเขามันเป็นอย่างไร เพราะว่าเรากับเขาไม่เหมือนกัน 

 

ในส่วนนี้แม่ก็ยังคิดว่า เราสนิทกันไหม เราสนิทกัน เราพยายามจะเรียนรู้เขา ในขณะเดียวกันเราก็อยากให้เขามีชีวิตที่มีความสุข เวลาเขามีปัญหาอะไร เราก็อยากให้เขารู้สึกว่าเขาบอกเราได้ อยากให้รู้สึกว่าที่บ้านเป็นเซฟโซนของเขา เป็นที่ปลอดภัยที่เขาสามารถที่จะมีปัญหาอะไรเข้ามาเล่าให้ฟัง หรือแม้ว่าเขาเฟลเรื่องอะไรมา หรือเขาไปทำอะไรที่มันไม่ประสบความสำเร็จ หรือว่าทำผิดพลาดมา ให้เขามาบอกกับเราก็ได้ เพราะว่าแม่ก็สอนกับเขาเสมอว่าคนเรามีโอกาสจะผิดทุกเวลา ไม่เกี่ยวกับอายุ จะแก่ จะเด็ก ทุกคนผิดพลาดได้ เข้าใจผิดได้ ทุกคนอาจจะไม่เข้าใจ วันนี้ไม่รู้แต่ไม่ได้แปลว่าพรุ่งนี้จะไม่รู้ บางทีเราต้องให้โอกาส ให้โอกาสเขา ให้โอกาสตัวเองด้วย

 

ปาร์คเกอร์ ภารวี: เรากับแม่ทำทุกอย่างด้วยกัน

 

ตุ๊ก อังสุมาลิน: คือเวลาออกไปข้างนอก ปาร์คเกอร์ก็จะชอบให้แม่ไปด้วย มีไปทำกิจกรรมที่ชอบเลยก็คือ เราไปดูคอนเสิร์ตด้วยกัน ไปฟังเพลงด้วยกัน อันนี้รสนิยมตรงกันเราก็จะไปกับเขา 

 

ปาร์คเกอร์ ภารวี: เราก็ไปด้วยกันแทบทุกที่ เราทำทุกอย่างกับแม่จนเรารู้สึกว่ามันก็เป็นเรื่องปกติไปแล้ว เราไม่รู้สึกมันเป็นโอกาสพิเศษอะไรที่ต้องไปกับแม่ เพราะว่าก็ไปกับแม่ตลอด ถ้าไปกับคนอื่นโอกาสพิเศษมากกว่าอีก

 

ตุ๊ก อังสุมาลิน: คือจริงๆ ก็ต้องบอกว่าเป็นมาตั้งแต่คุณตาคุณยาย คือบ้านเราจะไม่ค่อยมีโอกาสพิเศษ วันแม่ วันพ่อ วันเกิด วันอะไร ไม่ เรารักกันทุกวัน เราจะไม่มีเทศกาล แบบต้องวันแม่วันพ่อตามปฏิทินอะไรไม่มีค่ะ เราคืออยากทำวันไหนเราก็ทำ แค่นั้นเอง โอกาสพิเศษก็คือเราไปดูคอนเสิร์ตศิลปินที่เราชอบอย่างนี้ เราโอเคแล้วค่ะ

 

ปาร์คเกอร์ ภารวี: เราชอบวงอะไรกันมั่งนะ

 

ตุ๊ก อังสุมาลิน: เออเราก็ฟังกันเยอะเนอะ หลากหลาย แต่ถ้าเกิดจะไปจูนให้ตรงกัน เราชอบไปฟังคอนเสิร์ตศิลปินต่างประเทศ เพราะว่าโอกาสเจอเขาน้อยมาก ส่วนมากเป็นวงร็อกเก่าๆ อย่าง Bon Jovi เราก็ไปดู Avenged Sevenfold เราก็ไป ถ้าพิเศษมากๆ ก็วง Sick of It All ศิลปินคือเคยเชิญไปเป็นเกสต์ แบบศิลปินเล่นคอนเสิร์ตเสร็จโทรมาบอก เดี๋ยวลงมานะ เดี๋ยวไปรอที่โรงแรม มารอเจอกันก่อน เราก็รู้สึกว่าอันนี้มันเป็นโมเมนต์ที่ดี คือช่วงเวลาพิเศษของเรา พอเข้าวงการดนตรีแล้วก็จะมีเพื่อนที่เป็นกรุ๊ปเดียวกันนี้ การไปดูคอนเสิร์ตก็เลยเหมือนกับนัดเจอเพื่อน แบบที่อาจจะไม่ได้เจอกันในเวลาปกติทั่วไป

 

ปาร์คเกอร์ ภารวี: นั่นคือเวลาพิเศษของเราคือการไปเจอคนอื่น ไม่ใช่เจอกันเอง ไปเจอคนอื่น เพราะเราเจอกันทุกวัน (หัวเราะ)

 

 

ความคาดหวังในสังคมไทย

ตุ๊ก อังสุมาลิน: ต้องเท้าความไปว่าได้เปิดเพจใน Facebook ชื่อเพจ LGBTQ+’s Mother: แม่ของลูกหลากหลายทางเพศ ตั้งใจเปิดเพจมาเพื่อที่จะเป็นสื่อกลางที่อยากจะให้ครอบครัวที่เขามีลูกที่เป็นหลากหลายทางเพศที่ยังมีปัญหา ยังไม่เข้าใจ หรืออยากปรึกษา ใช้ตรงนี้เป็นพื้นที่ที่จะมาระบาย มาถามคำถามหรือว่าปรึกษาหารือกัน แต่เท่าที่เปิดเพจมาก็คือแอ็กทีฟน้อย แต่ก็ลงเรื่อยๆ เท่าที่มีคนเข้ามาจะไม่เป็นพ่อแม่ ส่วนมากจะเป็นลูก ส่งข้อความเข้ามาปรึกษาว่าจะทำอย่างไรให้ที่บ้านยอมรับ ก็มีหลายคนที่ให้คำปรึกษาไป น่าดีใจว่ามีบ้านหนึ่งมีน้องที่ติดต่อกลับมาบอกว่า ปัจจุบันนี้คือคุณพ่อเขาเริ่มยอมรับและให้เขาแต่งชุดผู้หญิงได้แล้วหลังจากใช้เวลาเป็นปี เราก็รู้สึกดีใจและรู้สึกว่า อย่างน้อยสิ่งที่เราทำ มันทำให้มีคนมีความสุขขึ้น อย่างน้อยเราทำอะไรให้สังคมได้บ้าง 

 

ส่วนความคาดหวังของเราจริงๆ สังคมเราตอนนี้ที่พูดว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่ยอมรับ LGBTQ แต่จริงๆ คือยังผิวเผิน เรายังไม่มีกฎหมายที่รองรับ อย่างเช่นสมรสเท่าเทียม ทั้งเรื่องคำนำหน้านาม อย่างปาร์คเกอร์ที่เป็นผู้ชายข้ามเพศ ลุคเขาแทบจะเป็นผู้ชาย หรือหลายๆ คนที่แปลงเพศแล้วแต่ว่ายังต้องใช้คำนำหน้านามเป็นนางสาวหรือเป็นนาย ทั้งที่ลุคเป็นผู้หญิงสวยมากแล้ว บางทีการใช้ชีวิตเขาก็ยากลำบาก บางทีการเดินทางไปต่างประเทศถ้าไปคนเดียวจะทำอย่างไร มีเพื่อนของปาร์คเกอร์ติดที่ด่าน ตม. ไม่ผ่าน เพราะว่าลุคเป็นผู้ชาย แต่ว่าชื่อผู้หญิง เป็นนางสาว เป็นมิส อย่างนี้ก็ลำบาก แล้วก็ฟังจากเพื่อนที่เป็นข้ามเพศ ไปติดต่อหน่วยราชการ ไปโรงพยาบาล หรือไปที่ไหน เขาจะลุ้นในใจมากเลยว่าเขาจะเรียกฉันเป็นนางสาวหรือนาย เป็นอะไรไหม เขาจะเรียกชื่ออย่างเดียว เรียกคุณไหม แล้วคนจะมองเขาไหม มันเป็นความอึดอัด หรือบางคนเรียกแล้วไปตั้งคำถามเขาอีก ทำไมเป็นนายอะไรอย่างนี้ 

 

ปาร์คเกอร์ ภารวี: ทุกวันนี้ก็โดนเหมือนกัน

 

ตุ๊ก อังสุมาลิน: ลูกก็โดน เรามีความรู้สึกว่าบางทีการจะทำให้เกิดการยอมรับขึ้น หนึ่ง การศึกษา การศึกษาสำคัญมาก หลายคนไม่ใช่ไม่ยอมรับ แต่ไม่รู้และไม่เข้าใจ หลายคนที่เคยพูดคุยกันบอกว่า จริงๆ เขาก็อยากรู้นะ ไม่ใช่ว่าเขาแอนตี แต่ความรู้เดิมที่เขามีมามันไม่พอ เขาถูกปลูกฝังความรู้เดิม อคติเดิมๆ เขาก็คิดว่า โอเค พ่อแม่เขาบอกมาว่าแบบนี้ผิดปกติ ซึ่งจริงๆ ปัจจุบันโลกมันไปถึงไหนแล้ว ส่วนหนึ่งก็คือการศึกษา เพราะ LGBTQ ถ้ามีปัญหาหนักๆ เลยก็คือเด็ก เด็กที่กว่าจะรู้ตัวว่าตัวเองเป็น LGBTQ สับสนอยู่นาน ทำไมฉันไม่เหมือนคนอื่น ความเครียดของเขา กว่าที่เขาจะรู้ว่าจริงๆ เขาเป็นอะไร กว่าเขาจะยอมรับตัวเขาเองได้ กว่าเขาจะกล้าเปิดปากพูด ปาร์คเกอร์ใช้เวลากี่ปี นานนะคะ แล้วเราเห็นว่าช่วงนั้นคือเขาก็จะมีปัญหา เข้ากับเพื่อนไม่ได้บ้าง เพราะรู้สึกว่าไม่เป็นที่ยอมรับ เขาไม่มีพื้นที่ของเขา เขาไม่เหมือนใครเลย แล้วเขาจะเข้ากับกลุ่มไหน เราก็รู้สึกว่าหลายๆ คนที่มีปัญหานี้ โดยเฉพาะคนที่เป็นหลากหลายทางเพศ เป็น LGBTQ มีปัญหาเรื่องโรคซึมเศร้าเยอะมาก

 

เราคาดหวังว่าน่าจะมีคนเปิดใจมองเห็นความสำคัญของคนกลุ่มนี้ เราอยากให้มีการขับเคลื่อน เราอยากให้มีการเปลี่ยนแปลง ส่วนหนึ่งที่ออกมาทำกิจกรรม เราอยากให้ครอบครัวของเราเป็นตัวอย่างให้คนอื่นเห็นว่า จริงๆ แล้ว เราเป็นแม่ของเด็กที่เป็น LGBT เราก็ยังใช้ชีวิตปกติ หรือแม้แต่ว่าคนที่มีความหลากหลายทางเพศ เราไม่อยากให้มองว่าเขาเป็นพวกหนึ่งเป็นกลุ่มหนึ่ง เราอยากให้คิดว่าทุกคนคือเท่าเทียมกัน เท่าเทียมกันจริงๆ คือเหมือนกัน คุณไม่ควรจะเอาเพศมาเป็นข้อจำกัด คุณไม่ควรจะเอารสนิยมทางเพศ อัตลักษณ์ทางเพศ หรืออะไรใดๆ ก็ตามมาเป็นข้อกีดกัน หรือเป็นข้อแบ่งให้เขาออกไปอยู่อีกกลุ่มหนึ่ง อยากจะให้สังคมเราเท่าเทียมกัน คือเท่าเทียมจริงๆ อย่างที่เขาบอกว่าประเทศไทยยอมรับความหลากหลายทางเพศ ก็อยากให้เป็นอย่างนั้นจริงๆ อย่างน้อยมีกฎหมายออกมาคุ้มครองสิทธิของคนที่มีความหลากหลายทางเพศ อยากให้มันเห็นเป็นรูปธรรมมากกว่านี้

 

 

ปาร์คเกอร์ ภารวี: เราหวังอะไรบ้าง อย่างแรกเลยเราก็หวังให้การศึกษาครอบคลุมถึงความหลากหลายทางเพศมากกว่านี้ เพราะว่าเรารู้สึกว่าปัญหาหนึ่งเลยคือ มันเริ่มที่การศึกษาสอนเราว่าการเป็น LGBTQ เป็นเรื่องผิด ถ้าสถาบันการศึกษาเป็นอย่างนี้ แล้วมันเป็นพื้นที่แรกๆ ที่เด็กจะโตเข้าไปเจอสังคมอย่างนี้ ก็จะทำให้เป็นการเริ่มสอนความคิดที่ไม่ควรมีอยู่ เราไม่ควรมองว่าเป็นเรื่องผิดปกติ เราคิดว่าถ้าเริ่มแก้จากตรงนั้นได้ ก็จะทำให้คนยอมรับ LGBTQ ได้มากกว่านี้ แล้วก็จะทำให้เราสามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้ง่ายกว่านี้ 

 

เรื่องกฎหมาย เราคิดว่าทุกคนก็คงหวังอยู่แล้ว แล้วก็อยากให้เปลี่ยนคำนำหน้านามได้ เปลี่ยนเพศในบัตรต่างๆ ได้ คือพอขึ้นมาว่าเพศเรายังถูกระบุว่าเป็นอีกเพศหนึ่งอยู่ มันก็สร้างความสับสนให้คนอื่น เราก็สงสารคนที่เขาต้องมานั่งตรวจบัตรเราแล้วเขาก็งงกับตัวเองว่าทำไมมันถึงเกิดสิ่งนี้ขึ้น เห็นรูปเป็นแบบหนึ่ง แต่พอมาเจอตัวจริงเป็นอีกแบบหนึ่งอย่างนี้ เราคิดว่ามันก็อึดอัดทั้งสองฝ่าย เราไปโรงพยาบาลแล้วเจอพยาบาล เขาจะถามเรา ไปทำอะไรมาทำไมเสียงเปลี่ยน ทำไมชื่อเป็นนางสาว คือเราเข้าใจว่าเขาไม่ได้มีเจตนาแย่อะไร อย่างน้อยคือเขาก็อยากให้รู้ว่า ชื่อที่เขาเรียก คนที่มา ถูกคนไหม แต่มันก็อึดอัดกันทั้งสองฝ่ายว่าเราจะตอบอย่างไรดี พยาบาลก็ทำหน้าจ๋อยใส่เราด้วยว่า อ้าว ทำอะไรลงไป มันก็น่าอึดอัดทั้งคู่ 

 

นอกจากนี้เราก็อยากให้การแพทย์ที่เกี่ยวกับคนข้ามเพศครอบคลุมมากกว่านี้ เพราะว่าทุกวันนี้คนข้ามเพศที่จะรับฮอร์โมนได้มีสถานบริการอยู่ไม่กี่ที่ ส่วนใหญ่ก็จะอยู่แต่ในจังหวัดใหญ่ๆ อย่างในกรุงเทพฯ แต่ก็ไม่เคยพออยู่ดี คิวรับฮอร์โมนนี้ก็ยาวมาก คิวผ่าตัดก็ยาว ถ้าคนที่อยู่ต่างจังหวัดเขาจะทำอย่างไร เขาก็ต้องนั่งรถไกลๆ เข้ามาในเมือง มันก็ลำบาก เราก็อยากให้มีสถานบริการที่เยอะกว่านี้ แล้วก็อยากให้มีหมอที่เยอะกว่านี้ แล้วเรื่องจิตแพทย์ก็สำคัญ เพราะอย่างคนข้ามเพศจะข้ามเพศได้ หรือจะแค่รับฮอร์โมนเขาก็จะต้องเจอจิตแพทย์ก่อน แล้วจิตแพทย์หลายคนก็ไม่ได้มีความรู้เรื่องความหลากหลายทางเพศเท่าที่ควร ก็จะต้องลุ้นกันอีก แค่เป็น LGBTQ ก็เหนื่อยแล้ว แค่เป็นทรานส์เจนเดอร์ก็เหนื่อยแล้ว ยังต้องมาลุ้นอีกว่าจิตแพทย์ที่เจอจะเป็นแบบไหน เขาจะมีความรู้ความเข้าใจไหม แล้วก็ต้องมานั่งอธิบายให้จิตแพทย์ฟัง ก็แอบรู้สึกเหนื่อย

 

มีอะไรอีกบ้างนะ ตอนนี้เราก็หวังว่าประชาธิปไตยจะเลิกเป็นพื้นที่ของผู้ชายซะที หรือมูฟเมนต์ประชาธิปไตยทุกวันนี้ก็ยังมีคนที่บอกว่าให้วางเรื่องอื่นก่อน ให้เอาเรื่องการเมืองก่อน วางเรื่องเพศไปก่อน เราคิดว่ามันไม่ใช่ เราสามารถขับเคลื่อนทุกอย่างไปพร้อมกันได้ เราไม่ได้มีโควตาลิมิตว่าคนหนึ่งสามารถขับเคลื่อนได้เรื่องเดียว ทุกคนสามารถจะขับเคลื่อนเป็นโหลเลยก็ได้ มันทำได้ มันไม่ใช่ว่าต้องทำเรื่องหนึ่งก่อนให้สำเร็จไปแล้วถึงจะย้ายไปทำอีกเรื่อง เราสามารถทำไปพร้อมกันทุกอย่างได้ 

 

ตุ๊ก อังสุมาลิน: แต่ถามว่าเรามีความหวังไหม เรามีความหวังนะคะ เพราะว่าตั้งแต่เริ่มทำกิจกรรมกับปาร์คเกอร์มา 2-3 ปี เราเห็นเริ่มมีความเปลี่ยนแปลง เริ่มมีคนให้ความสนใจ อย่างเรื่องทางการแพทย์ เริ่มมีเปิดหลักสูตรสําหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่สอนเกี่ยวกับเรื่องเพศศาสตร์ ความหลากหลายทางเพศ ก็เริ่มมีการเปิดสอน หรือแม้แต่การศึกษา ก็อย่างที่เรารู้มาว่ามีการเปลี่ยนแบบเรียนแล้ว เรามีความรู้สึกว่ามีคนกำลังพยายามผลักดัน มีการเสนอให้แก้กฎหมาย เราก็มีความคาดหวังว่าในอนาคตมันน่าจะดีขึ้น เรามีความรู้สึกว่าอย่างน้อยเราหวังได้ว่าวันพรุ่งนี้วันต่อๆ ไป ลูกเราจะอยู่ในสังคมที่เขาแฮปปี้มากขึ้น 

 

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X