×

เหตุผลว่าทำไม ‘ธำรงวินัย’ และ ‘การซ่อม’ จึงยังไม่ตายจากสังคมไทย

25.11.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • ถึงแม้ระบบการซ่อมจะสามารถผลิตคนที่มีความอดทนเหนือกว่าคนธรรมดาทั่วไปได้จริงๆ พวกเขาก็อาจจะต้องแลกกับการสูญเสียโอกาสในการพัฒนาความสามารถทางด้านอื่นๆ อย่างเช่น การพัฒนาวิธีการคิดนอกกรอบ
  • ที่มาของการใช้อำนาจผิดๆ โดยไม่คำนึงถึงความรู้สึกของผู้ที่ถูกกระทำ (Abuse of power) ก็คือ Hot-cold empathy gap หรือการอยู่ในตำแหน่งที่ไม่สามารถเอาใจเขามาใส่ใจเราได้
  • คนที่มีหน้าที่ดูแลคนที่อยู่ในระบบนี้ทั้งหมดมักจะเคยรอดผ่านระบบนี้มาก่อน คุณค่าที่เขาให้กับระบบนี้จึงสูงกว่าคนภายนอกที่ไม่เคยผ่านระบบนี้

 

“มันไม่ใช่การทรมาน มันเป็นการฝึกความอดทน”

 

เพื่อนของผมคนหนึ่งเคยพูดเอาไว้เกี่ยวกับจุดประสงค์ของการ ‘ธำรงวินัย’ หรือที่เรียกง่ายๆ ว่า ‘การซ่อม’

‘ฝึกความอดทน ฝึกความอดทน’ ผมนึกของผมอยู่คนเดียว การบังคับให้คนกินน้ำเป็นเหยือกๆ แล้วซ่อมจนอาเจียนน้ำออกมา การให้คนออกกำลังกายกลางแดดจนเป็นลมหมดสติไป การให้คนเอาหัวปักลงดินเป็นชั่วโมงๆ ทั้งหมดนี้คือการฝึกความอดทนของคนอย่างนั้นเหรอ

แล้วทำไมจึงยังมีอีกหลายคนที่เรียกพฤติกรรมเหล่านี้ว่าเป็นการทรมานคน หรือการละเมิดสิทธิมนุษยชนกัน

 


แล้วถ้ามันเป็นสิ่งที่ไม่ดีจริงๆ ทำไมคนถึงยอมที่จะเอาตัวเองเข้าไปในระบบนั้นๆ และทำไมคนที่เคยผ่านระบบนี้มาแล้วถึงคิดว่ามันเป็นระบบที่ดีและพยายามที่จะทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อปกป้องระบบนี้ และทำไมคนที่ไม่เคยผ่านระบบนี้จึงมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันกับคนที่เคยผ่านระบบโหดๆ นี้มา

ทำไมถึงยังมีเหตุการณ์ที่น่าสลดใจอย่างเหตุการณ์น้องเมยเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทำไมเหตุการณ์อย่างนี้ก็จะยังเกิดขึ้นต่อไปเรื่อยๆ ไม่มีวันจบสิ้น

และทำไมระบบโซตัส (SOTUS) จึงยังไม่หายไปจากสังคมของเราเสียที

วันนี้ผมขอถือโอกาสใช้หลักวิชาการของเศรษฐศาสตร์ จิตวิทยา และสังคมวิทยา มาพยายามตอบคำถามต่างๆ นานาที่หลายท่านอาจจะมีต่อวัฒนธรรมการซ่อมให้ลองอ่านกันนะครับ

 


จริงหรือไม่ที่ระบบการซ่อมเป็นระบบที่สร้างคน สร้างความอดทนและระเบียบวินัย และการเป็นผู้นำที่ดีได้
คงจะมีหลายๆ คนที่มีความเชื่อว่าระบบการซ่อมเป็นระบบเดียวที่สามารถสร้างให้คนมีความอดทนและมีระเบียบวินัยได้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่ามันดูไม่ใช่ทฤษฎีที่แปลกอะไรเลย คนที่สามารถผ่านระบบการซ่อมที่โหดๆ มาได้ พวกเขาก็ต้องมีความอดทนอดกลั้นสูงอยู่แล้ว ในเมื่อคนเราเคยเป็นผู้ตามที่ดีมาก่อน พวกเขาก็ต้องกลายมาเป็นผู้นำที่ดีอยู่แล้ว จริงไหม

ปัญหาก็คือในการตัดสินใจเชื่อหรือไม่เชื่อ เราอาจจะกำลังละเลยอัตราพื้นฐาน (Base rate neglect) อยู่ก็ได้

ยังไงน่ะเหรอครับ สมมติว่าในประเทศของเราเคยมีคนผ่านระบบการซ่อมมาทั้งหมด 1 แสนคน และจาก 1 แสนคนนี้ มี 9 หมื่นคนเป็นคนที่มีความอดทน มีระเบียบวินัย มีความเป็นผู้นำที่ดี เราก็อาจจะสรุปง่ายๆ ว่าประสิทธิผลของระบบการซ่อมก็คือการผลิตคนที่มีความอดทน มีระเบียบวินัย เป็นผู้นำที่ดีได้ถึง 90% ด้วยกัน

แต่สมมติอีกว่ามีคน (ซึ่งเป็นผู้ใหญ่แล้ว) อีก 50 ล้านคนที่ไม่เคยผ่านระบบซ่อมมา และจาก 50 ล้านคนนี้มี 5 ล้านคนเป็นคนที่มีความอดทน มีระเบียบวินัย และเป็นผู้นำที่ดี

 


ถ้าเรานำเอาอัตราพื้นฐานนี้เข้ามาช่วยในการคำนวณประสิทธิผลของการซ่อม เราก็จะพบว่าระบบการซ่อมนั้นมีประสิทธิผลในการผลิตบุคลากรที่มีความอดทน มีระเบียบวินัย และการเป็นผู้นำที่ดี เท่ากับจำนวนของคนที่มีความอดทน มีระเบียบวินัย เป็นผู้นำที่ดี และเคยผ่านระบบการซ่อมมาก่อน ต่อจำนวนของคนทั้งประเทศที่มีความอดทน มีระเบียบวินัย และเป็นผู้นำที่ดี 9 หมื่นคน (9 หมื่นคน ÷ 5 ล้านคน) เท่ากับ 0.017 หรือ 1.7%

ไม่ใช่ 90% อย่างที่เราคิดกัน (ซึ่งตัวเลขที่ใช้ในการคำนวณนี้เป็นแค่ตัวเลขที่ผมประเมินขึ้นมานะครับ เพราะฉะนั้นค่าที่ได้ออกมาอาจจะน้อยกว่าหรือมากกว่า 1.7% ก็ได้ แต่ประเด็นก็คือเราอาจจะกำลังให้น้ำหนักกับผลลัพธ์ของระบบการซ่อมมากจนเกินไป ถ้าเราละเลยและไม่คิดถึงอัตราพื้นฐานกัน)

และถึงแม้ว่าระบบการซ่อมจะสามารถผลิตคนที่มีความอดทนเหนือกว่าคนธรรมดาทั่วไปได้จริงๆ พวกเขาก็อาจจะต้องแลกกับการสูญเสียโอกาสในการพัฒนาความสามารถทางด้านอื่นๆ อย่างเช่น การพัฒนาวิธีการคิดนอกกรอบ ไม่คิดตามกลุ่ม แล้วก็ไม่ได้หมายความว่าความสามารถอื่นๆ จะไม่สำคัญเท่าการมีความอดทนและมีระเบียบวินัย

 

 

ทำไมคนที่ผ่านระบบซ่อมมาจะมีความรักกันมากกว่าคนธรรมดาทั่วไป และมักคิดว่าคนที่ไม่เคยผ่านระบบนี้มาก่อนไม่มีทางเข้าใจ

อะไรก็ตามที่ยากๆ ในชีวิต ถ้าเราสามารถผ่านมันไปได้ เราจะยิ่งให้คุณค่าและความหมายกับสิ่งนั้นๆ ไม่ว่าสิ่งนั้นๆ จะมีคุณค่าจริงๆ กับชีวิตของเราหรือไม่ก็ตาม

คล้ายๆ กันกับเวลาที่เราลงทุนซื้อของแพงๆ และไม่สามารถนำไปแลกคืนได้ ในเหตุการณ์ทำนองนี้ คนเราส่วนใหญ่มักจะมองหาเหตุผลต่างๆ นานามาบอกให้ตัวเองสบายใจว่า ‘คุ้มแล้วที่จ่ายแพงไปขนาดนั้น’ หรือ ‘นั่นเป็นการตัดสินใจที่ดีที่สุดแล้ว’ (ทั้งนี้ก็เพราะไม่มีใครอยากรู้สึกเสียใจว่าจ่ายแพงๆ ไปทำไม ถ้าของที่ซื้อมามันไม่ดี)

การผ่านระบบการซ่อมมาก่อนก็เหมือนๆ กัน การรอดจากระบบโหดๆ นี้มาได้ทำให้คนที่รอดมารู้สึกภูมิใจในตัวเอง มันทำให้เขารู้สึกว่าเขาอยู่ในกลุ่มที่มี ‘น้อยคน’ นักที่สามารถผ่านออกมาได้ และทำให้เขารักคนที่รอดออกมาได้มากเช่นเดียวกัน (เพราะมีแต่คนที่เคยผ่านระบบนี้มาได้เท่านั้นที่จะให้คุณค่ากับการรอดพอๆ กับเขา) ส่วนคนที่ไม่เคยผ่านระบบนี้มา หรือเคยเข้าไปในระบบแต่ไม่รอด มันก็เป็นเรื่องธรรมดาที่พวกเขาจะไม่ให้คุณค่ากับระบบนี้เท่ากับคนที่เคยผ่านออกมาได้

และการคบหาสมาคมกับคนที่ไม่เคยผ่านระบบซ่อมนี้มาก่อนสามารถทำให้คนที่เคยรอดจากระบบนี้มาได้ตั้งคำถามกับตัวเองว่า ทำไมคนอื่นๆ ถึงไม่ให้คุณค่ากับระบบนี้เท่าๆ กันกับเขาและเพื่อนๆ ซึ่งเป็นคำถามที่สามารถทำลายความเป็นตัวของตัวเองได้ และความคิดที่อาจจะขัดแย้งกันในหัวนี่เองที่ทำให้พวกเขาสรุปอย่างง่ายๆ ว่า ‘คนที่ไม่เคยเจอไม่มีทางเข้าใจหรอก’

 

 

ถ้าระบบมันไม่ดีจริงๆ ทำไมคนถึงยังเอาตัวเองเข้าไปในระบบนั้น มันไม่ใช่ความผิดของตัวเขาเองเหรอ

เป็นที่รู้ๆ กันว่าคนเราเลือกสิ่งที่ไม่ดีให้กับตัวเองเกือบตลอดเวลา ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าเราไม่สามารถควบคุมความต้องการของตัวเองได้ และส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าเราอาจไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งที่เลือกเพียงพอ

และด้วยเหตุผลนี้นี่เอง เมื่อคนเราไม่สามารถหยั่งรู้ความชอบของตัวเองในอนาคตได้ การให้เหตุผลที่ว่า ‘เพราะเขาเลือกเอง’ จึงเป็นเหตุผลที่ไม่ค่อยดีนัก

ทั้งนี้ก็เพราะคงจะไม่มีสถาบันไหนหรอกนะครับที่อยากจะโฆษณาระบบของตัวเองว่า ‘มาสมัครสิ พวกเราผลิตบุคลากรที่มีความอดทน มีระเบียบวินัย และมีเพียงแค่ 5 คนเท่านั้นที่เสียชีวิตจากการอยู่ในระบบของเราในรอบสิบปี เพราะฉะนั้นอัตราการรอดชีวิตของเรานั้นสูงมาก’

 

 

ทำไมถึงยังมีเหตุการณ์น่าสลดใจอย่างเหตุการณ์น้องเมยเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า

คำถามนี้มีสองคำตอบ คำตอบที่หนึ่งก็คือ เวลาที่เราให้อำนาจกับใครก็ตามมากๆ โอกาสที่คนคนนั้นจะใช้อำนาจในทางที่ผิดก็จะสูงขึ้นตามๆ กันไป

ที่มาของการใช้อำนาจผิดๆ โดยไม่คำนึงถึงความรู้สึกของผู้ที่ถูกกระทำ (Abuse of power) ก็คือ Hot-cold empathy gap (หรือการอยู่ในตำแหน่งที่ไม่สามารถเอาใจเขามาใส่ใจเราได้)

ทั้งนี้เป็นเพราะว่าคนที่กำลังทำการซ่อมคนอื่นอยู่นั้น ส่วนใหญ่แล้วไม่ได้ทำตามสิ่งที่ตัวเองกำลังสั่งให้คนอื่นทำอยู่ จึงไม่ใช่เรื่องที่แปลกที่พวกเขาจะไม่สามารถรู้สึกได้เลยว่าคนที่กำลังถูกพวกเขาซ่อมอยู่นั้นกำลังรู้สึกอย่างไรบ้างในขณะนั้น เหตุการณ์เลยเถิดจึงสามารถที่จะเกิดขึ้นได้ง่ายๆ (เพราะฉะนั้นสำหรับคนที่ยังอยากให้มีระบบการซ่อมอยู่ก็ควรที่จะลงมือทำในสิ่งที่สั่งให้คนอื่นทำไปด้วยในขณะเดียวกัน เพราะอย่างน้อยคนที่สั่งก็จะรู้สึกได้ว่าตอนไหนอาจจะต้องหยุดก่อนที่จะเกิดการเลยเถิดและเป็นอันตรายได้)

 


อีกอย่าง คนเราส่วนใหญ่ โดยเฉพาะคนไทยทั่วไปไม่เก่งในการประเมินความเสี่ยงในชีวิตประจำวันจนมีความผิดพลาดเกิดขึ้น (ยกตัวอย่างเช่น คนขี่มอเตอร์ไซค์ไม่ใส่หมวกกันน็อก หรือขับฝ่าไฟแดง) พูดง่ายๆ ก็คือคนเรามักจะไม่ให้ความสำคัญกับอัตราเสี่ยงจนกระทั่งมันเกิดขึ้นกับตัวเราจริงๆ จึงจะรู้สึก

คำตอบที่สองก็คือ คนที่มีหน้าที่ดูแลคนที่อยู่ในระบบนี้ทั้งหมดก็มักจะเป็นคนที่เคยรอดผ่านระบบนี้มาก่อน คุณค่าที่เขาให้กับระบบนี้จึงสูงมากกว่าคนภายนอกที่ไม่เคยผ่านระบบนี้มาก่อน มันจึงไม่น่าแปลกใจที่เมื่อใดก็ตามเกิดเหตุการณ์ที่สามารถสร้างความเสียหายให้กับระบบขึ้นมา พวกเขาจะมีความรู้สึกต่อต้านเหตุการณ์นั้นๆ ก่อน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ Conflict of interests (ความขัดแย้งระหว่างสิ่งที่ตัวเองเป็นและสิ่งที่ตัวเองควรจะทำ) ซึ่งทำให้การยอมรับผิดนั้นเป็นเรื่องยากมากสำหรับคนที่มีหน้าที่ดูแลระบบนี้ เพราะการยอมรับผิดเป็นการปฏิเสธระบบความเชื่อของเขาทั้งหมด รวมทั้งความเป็นตัวของตัวเองของพวกเขาด้วย

และด้วยเหตุผลนี้นี่เอง เพราะคนที่มีตำแหน่งผู้นำดูแลระบบเป็นคนที่เคยรอดจากระบบนี้มาก่อน มันจึงเป็นอะไรที่ยากที่เราจะเห็นระบบนี้ตายไปจากสังคมของเรา (นอกเสียจากว่าจะมีคนที่ไม่เคยผ่านระบบนี้เข้าไปบริหารพร้อมๆ กันกับคนที่เคยผ่านระบบนี้มาก่อน จะได้บาลานซ์ซึ่งกันและกัน)

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X