×

G7 เตรียมปฏิรูประบบภาษีโลกครั้งใหม่: สรรพากรเชื่อมีทั้งผลบวกและผลกระทบต่อไทย มั่นใจ ‘อีอีซี’ ยังน่าลงทุน

22.06.2021
  • LOADING...
ปฏิรูประบบภาษี

การกำหนดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลให้อยู่ในระดับต่ำ รวมถึงการให้สิทธิพิเศษทางภาษีอื่นๆ นับเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่หลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและประเทศขนาดเล็กใช้ดึงดูดบริษัทข้ามชาติให้เข้ามาจดทะเบียนจัดตั้งในประเทศของตน เพื่อสร้างงานและรายได้จากค่าธรรมเนียมและนวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งจะนำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ 

 

ปัจจุบันบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่จำนวนมากนิยมจดทะเบียนในประเทศที่ปลอดภาษี หรือมีอัตราภาษีเงินได้ต่ำและให้สิทธิพิเศษทางภาษีสูง หรือที่รู้จักกันในชื่อ Tax Havens เพื่อหลบเลี่ยงการเสียภาษีเงินได้ในอัตราสูงจากประเทศถิ่นที่อยู่ แน่นอนว่าประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ซึ่งเป็นประเทศถิ่นที่อยู่ของบริษัทเหล่านี้ย่อมไม่พึงพอใจกติกาดังกล่าวนัก และมองว่ากติกาภาษีที่ใช้อยู่ไม่เป็นธรรม เพราะทำให้พวกเขาสูญเสียรายได้ที่ควรจะได้ ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา หลายประเทศจึงเริ่มรวมตัวกันเพื่อหารือถึงความเป็นไปได้ที่จะปฏิรูประบบการจัดเก็บภาษีจากบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ เพื่อสร้างความเป็นธรรมมากขึ้น

 

ตัวตั้งตัวตีของเรื่องนี้คือกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วอย่าง OECD ซึ่งจัดตั้งกรอบการเจรจาเพื่อวางมาตรการป้องกันการถูกกัดกร่อนฐานภาษีและการโอนกำไรไปต่างประเทศ หรือ Base Erosion and Profit Shifting (BEPS) โดยมี 139 ประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยที่เข้าร่วมภายใต้กรอบเจรจานี้ด้วย

 

เดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา กลุ่ม OECD ได้สรุปแนวคิดเบื้องต้นเพื่อป้องกันปัญหา BEPS ออกมาเป็น 2 เสา (Pillars) เสาแรกจะเป็นการพูดถึงคุณสมบัติของบริษัทข้ามชาติที่ประกอบธุรกิจดิจิทัล (Automated Digital Business and Customer Facing Business) และการคำนวณกำไรของบริษัทดังกล่าว เพื่อนำกำไรบางส่วนมาจัดสรรให้กับประเทศที่บริษัทได้ให้บริการแก่ลูกค้าในประเทศนั้น และเสียภาษีในประเทศแหล่งเงินได้ดังกล่าว

 

ในวันที่ 5 มิถุนายนที่ผ่านมา กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก (G7) บรรลุข้อตกลงเบื้องต้น เห็นควรให้บริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ที่มีอัตรากำไรสุทธิไม่น้อยกว่า 10% จัดสรรกำไร 20% ของกำไรส่วนที่เกิน 10% ให้แก่ประเทศที่บริษัทดำเนินกิจการอยู่และเสียภาษีในประเทศนั้น

 

สำหรับเสาที่สองจะเป็นการพูดถึงอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำ หรือ Global Minimum Tax Rate ซึ่งในกรณีที่บริษัทข้ามชาติที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลต่ำกว่าอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำที่ OECD กำหนด รัฐบาลประเทศที่บริษัทแม่จดทะเบียนนิติบุคคลจะมีสิทธิ์จัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มได้จนถึงอัตราภาษีขั้นต่ำ เพื่อไม่ให้แต่ละประเทศแข่งกันลดภาษีให้ต่ำกว่าประเทศอื่น และป้องกันบริษัทโยกย้ายกำไรไปในประเทศที่เสียภาษีต่ำกว่า

 

โดยในการประชุมสุดยอดผู้นำ G7 รอบล่าสุด กลุ่ม G7 เองได้แสดงท่าทีสนับสนุนแนวคิดปฏิรูประบบภาษีดังกล่าวอย่างชัดเจน และมีการเสนอตัวเลขอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำออกมาด้วยว่าควรอยู่ที่ 15% 

 

ท่าทีของกลุ่ม G7 ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่วโลก โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศปลอดภาษีหรือ Tax Havens ที่อาจจะต้องงัดกลุยทธ์อื่นๆ มาใช้เพื่อดึงดูดนักลงทุนแทนการใช้ภาษี

 

THE STANDARD WEALTH ได้พูดคุยกับ เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร ถึงผลกระทบจากแผนการปฏิรูประบบภาษีตามแนวคิดของ OECD ที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทย และสิ่งที่ประเทศไทยควรดำเนินการเพื่อรักษาความน่าดึงดูดในสายตานักลงทุนต่างชาติ

 

อธิบดีกรมสรรพากรกล่าวว่า แผนการปฏิรูปภาษีครั้งนี้โดยรวมถือว่าเป็นสิ่งที่ดี เพราะจะช่วยลดการแข่งขันการลดอัตราภาษีเงินได้ (Race to the Bottom) โดยสำหรับประเทศไทยมองว่าจะมีทั้งส่วนที่ได้ประโยชน์และได้รับผลกระทบ

 

“ส่วนที่เราได้ประโยชน์ชัดเจนคือเสาที่ 1 เพราะบริษัทไทยที่มีรายได้และมีอัตราผลกำไรตามหลักเกณฑ์ที่ G7 ตกลงกันนั้นแทบไม่มีเลย ทำให้ส่วนนี้ประเทศไทยจะได้รับส่วนแบ่งจากกำไรส่วนเกินของบริษัทที่จดทะเบียนในประเทศอื่น แต่ทำธุรกิจสร้างรายได้จากประเทศไทยเข้ามาเพิ่มเติม” เอกนิติกล่าว

  

สำหรับเสาที่ 2 เอกนิติเชื่อว่า จะมีทั้งส่วนที่ไทยได้ประโยชน์และได้รับผลกระทบ โดยส่วนที่ได้ประโยชน์คือไทยจะมีสิทธิ์เข้าไปจัดเก็บภาษีขั้นต่ำจากกลุ่มบริษัทที่หลบเลี่ยงไปจดทะเบียนใน Tax Havens ได้ ขณะเดียวกัน ไทยก็จะได้รับผลกระทบในแง่ที่ไม่สามารถให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี หรือ Tax Incentives เพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติได้เช่นกัน 

 

“เรื่องนี้จะกลายเป็นกติกาใหม่ของโลก เราคงไม่ร่วมมือไม่ได้ ในอดีตประเทศที่ไม่เข้าร่วมก็จะถูกกดดันจากประเทศอื่นๆ ส่วนเรื่องการชั่งน้ำหนักว่าประโยชน์ที่เราจะได้รับกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอย่างใดจะมากกว่ากัน คงต้องใช้เวลาศึกษา เพราะข้อเสนอต่างๆ ในเวลานี้ยังเป็นแค่แนวคิดเบื้องต้น ยังไม่ใช่ข้อสรุปสุดท้าย” อธิบดีกรมสรรพากรกล่าว

 

เมื่อถามว่ากรณีที่ไทยไม่สามารถใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อดึงดูดบริษัทข้ามชาติให้เข้ามาลงทุนในไทยได้ จะส่งผลกระทบต่อแผนการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษอีอีซีของไทยหรือไม่ เอกนิติกล่าวว่า โดยส่วนตัวเชื่อว่าจะมีผลกระทบไม่มาก เนื่องจากภาษีเป็นเพียงหนึ่งในปัจจัยที่นักลงทุนใช้ตัดสินใจว่าจะเข้าไปลงทุนในประเทศใด และมีน้ำหนักไม่มากนักเหมือนเทียบกับปัจจัยอื่นๆ เช่น โครงสร้างพื้นฐาน ระบบสาธารณูปโภค ระบบกฎหมาย ห่วงโซ่อุปทาน และแรงงาน

 

“หากตัดปัจจัยเรื่องภาษีออกไป ประเทศไทยน่าจะมีความได้เปรียบ ด้วยเพราะโครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง ท่าเรือ ห่วงโซ่อุปทานต่างๆ เราดีกว่าหลายประเทศ จุดอ่อนของเราอาจจะอยู่ที่คุณภาพแรงงาน ซึ่งเรื่องนี้ต้องไปเร่งพัฒนาเพื่อทำให้เราน่าดึงดูดยิ่งขึ้น” เอกนิติกล่าว

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X