×

เกิดอะไรขึ้นที่ชิลี ขยายสถานการณ์ฉุกเฉินออกไปอีก 3 เดือน ติดเชื้อเพิ่มสูง แม้ฉีดวัคซีนโควิด-19 รุดหน้า

15.06.2021
  • LOADING...
ชิลี โควิด-19

วานนี้ (14 มิถุนายน) ทางการชิลีประกาศขยายช่วงสถานการณ์ฉุกเฉินออกไปอีก 3 เดือน จาก 30 มิถุนายนนี้ ไปเป็น 30 กันยายน หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ภายในประเทศกลับมารุนแรงอีกครั้ง มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มสูงขึ้น แม้การฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ภายในชิลีจะรุดหน้ากว่าหลายๆ ประเทศก็ตาม 

 

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในชิลีเป็นอย่างไร

 

ล่าสุด ชิลีมีผู้ติดเชื้อสะสมแล้ว 1.48 ล้านราย รักษาหายแล้วราว 1.41 ล้านราย เสียชีวิตแล้ว 30,804 ราย หลังโควิด-19 แพร่ระบาดมานานเกือบ 1 ปี 6 เดือน มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เฉลี่ยในช่วง 7 วันที่ผ่านมาอยู่ที่ราว 7,000 ราย ขณะผู้เสียชีวิตรายใหม่เฉลี่ยในช่วง 7 วันที่ผ่านมาอยู่ที่ 109 ราย 

 

ทางการชิลีอนุมัติการใช้วัคซีนโควิด-19 จาก Pfizer-BioNTech, Sinovac, CanSino และ AstraZeneca-Oxford เป็นกรณีฉุกเฉินแล้ว เดินหน้าฉีดวัคซีนไปแล้วกว่า 20.4 ล้านโดส พลเมืองราว 61% เข้ารับวัคซีนแล้วอย่างน้อย 1 โดส ขณะที่พลเมือง 47.1% หรือราว 8.9 ล้านรายทั่วประเทศเข้ารับวัคซีนครบโดสแล้ว เป็นประเทศที่มีสัดส่วนพลเมืองเข้ารับวัคซีนครบโดสแล้วมากที่สุดเป็นอันดับต้นๆ จากหัวตาราง เป็นรองเพียงเซเชลส์, ซานมารีโน, อิสราเอล, มอลตา, บาร์เรน และมองโกเลีย

 

เกิดอะไรขึ้นที่ชิลี

 

เกลาเดีย กอร์เตส ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบาดประจำมหาวิทยาลัยชิลี เผยว่า สิ่งที่ทำให้ชิลีเผชิญหน้ากับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่และมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มสูงขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความชะล่าใจภายหลังจากที่ทางการเดินหน้าผ่อนคลายมาตรการรับมือโควิด-19 หลังปิดพรมแดนประเทศตั้งแต่มีนาคม-พฤศจิกายน ปี 2020 ที่ผ่านมา ทยอยอนุญาตให้ธุรกิจห้างร้านอย่างร้านอาหาร ฟิตเนส และรีสอร์ตกลับมาเปิดให้บริการได้อีกครั้ง อนุญาตให้สามารถเดินทางไปทั่วประเทศได้อย่างอิสระมากยิ่งขึ้น ควบคู่ไปกับการเดินหน้าฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 

 

“ในช่วงเริ่มต้นมาตรการฉีดวัคซีน ข้อความจากรัฐบาลที่ระบุว่า วัคซีนจะช่วยทำให้เรายุติการแพร่ระบาดได้โดยเร็วที่สุด ทำให้ชาวชิลีจำนวนไม่น้อยเริ่มใส่ใจมาตรการรับมือโควิด-19 อื่นๆ น้อยลง บางรายเลิกสวมใส่หน้ากากอนามัย หรือเลือกที่จะเข้าร่วมพื้นที่ที่มีการรวมกลุ่มกันเป็นจำนวนมากในช่วงวันหยุดเทศกาล”

 

อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ชิลีเผชิญหน้ากับผู้ติดเชื้อรายใหม่จนเป็นเหตุให้เตียงผู้ป่วยลดลงอย่างมากแม้จะเดินหน้าฉีดวัคซีนไปมากแล้วก็ตาม อาจเป็นเพราะพลเมืองที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้วก็ยังสามารถติดเชื้อได้ แม้วัคซีนที่ใช้จะมีประสิทธิภาพในการป้องกันอาการรุนแรงหลังติดเชื้อและการเสียชีวิตได้ แต่ก็ยังอาจไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ในระดับที่น่าพึงพอใจ โดยวัคซีนราว 93% ที่ฉีดให้กับพลเมืองไปแล้ว เป็นวัคซีนสัญชาติจีนอย่างวัคซีนจาก Sinovac ขณะที่อีก 7% เป็นวัคซีนจาก Pfizer-BioNTech

 

โดยผลการศึกษาจำนวนไม่น้อยชี้ว่า วัคซีนต้านโควิด-19 จาก Sinovac ชนิดเชื้อตาย มีประสิทธิภาพต้านโควิด-19 ได้ 56.5% ภายหลังการฉีดโดสที่ 2 ไปแล้วราว 2 สัปดาห์ แต่มีประสิทธิภาพน้อยมาก (ราว 3%) หากฉีดไปเพียง 1 โดสเท่านั้น ซึ่งยังทำให้มีโอกาสติดเชื้อได้ หากละเลยการป้องกันตนเอง แม้จะเริ่มเข้ารับการฉีดวัคซีนไปแล้วก็ตาม

 

ขณะทางการชิลีได้ประกาศล็อกดาวน์กรุงซานติเอโก เมืองหลวงของประเทศแล้ว หลังมีผู้ติดเชื้อสะสมสูงเกือบครึ่งหนึ่งของผู้ติดเชื้อสะสมทั้งประเทศ โดยการประกาศขยายช่วงสถานการณ์ฉุกเฉินออกไปจะเป็นการทำให้ทางการออกมาตรการรับมือโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกครั้ง พร้อมแนะให้พลเมืองยังคงสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างทางสังคม และหมั่นทำความสะอาดร่างกาย เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ

 

กระทรวงสาธารณสุขชิลีประกาศให้ผู้ชายที่อายุต่ำว่า 45 ปีที่เข้ารับวัคซีนโดสแรกจาก AstraZeneca สามารถเข้ารับวัคซีนโดสที่ 2 จาก Pfizer-BioNTech ได้ หลังทางการชิลีฉีดวัคซีน AstraZeneca ให้กับผู้ชายที่อายุ 18-45 ปีแล้วพบผู้เข้ารับวัคซีนรายหนึ่งเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันร่วมกับการมีภาวะเกล็ดเลือดต่ำในช่วง 7 วันหลังจากที่เข้ารับวัคซีนโดสแรก หลายประเทศจึงพยายามศึกษาประสิทธิภาพและความปลอดภัยของการใช้วัคซีนผสม บางประเทศศึกษาความเป็นไปได้ของการเข้ารับวัคซีนโดสที่ 3 เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน เพื่อให้สอดรับกับผลข้างเคียงไม่พึงประสงค์และการกลายพันธ์ุของเชื้อที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วโลก

 

ภาพ: Claudio Reyes / AFP

พิสูจน์อักษร: ชนเนตร ลอยครุฑ

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X