เปรียบเทียบวัคซีนโควิด-19 เป็น ‘ทวีปใหม่’
ที่เหล่านักวิจัยกำลังออกสำรวจ สิ่งที่เรารู้เกี่ยวกับวัคซีนในวันนี้อาจเปลี่ยนเป็นอีกอย่างหนึ่งในวันข้างหน้า เพราะยังมีอีกหลายภูมิประเทศที่นักวิจัยยังเดินทางไปไม่ถึง และภูมิอากาศก็อาจแปรปรวนเหมือนไวรัสที่กลายพันธุ์ตลอดเวลา เพราะฉะนั้น ในขณะที่เรามั่นใจกับหลักฐานในปัจจุบัน ต้องเผื่อใจไว้สำหรับข้อค้นพบใหม่ในอนาคต รวมถึงใจกว้างกับข้อสรุปในอดีตที่อาจไม่สอดคล้องกับปัจจุบันด้วย
ขณะนี้บางคนได้รับวัคซีนโควิด-19 เข็มแรกไปแล้ว เป็น ‘วัคซีนที่มี’ แต่อาจไม่ตรงกับ ‘วัคซีนที่ดีที่สุด’ ในความคิดของแต่ละคน เช่น บางคนคาดว่าจะได้ฉีดวัคซีน AstraZeneca แต่วันจริงได้ฉีด Sinovac, บางคนเตรียมฉีดวัคซีน Sinopharm แต่ถึงคิวฉีด AstraZeneca ก่อน, หรือบางคนฉีดวัคซีน AstraZeneca แล้ว แต่อีก 3 เดือนข้างหน้า Moderna จะเริ่มเข้ามาเป็นวัคซีนทางเลือก
จึงเกิดความสงสัยว่า ‘วัคซีนเข็มที่ 2 เป็นคนละยี่ห้อกับวัคซีนโควิด-19 เข็มแรกได้หรือไม่’ ซึ่งคำตอบเบื้องต้นอาจอ้างอิงจากกรมควบคุมโรค ในเอกสารแนวทางการให้วัคซีนโควิด-19 ฉบับมิถุนายน 2564 คือ ‘ในขณะนี้ยังแนะนำให้ฉีดชนิดเดิมไปก่อน จนกว่าจะมีการศึกษาวิจัยออกมาเพิ่มเติม ยกเว้นกรณีที่ไม่สามารถหาวัคซีนชนิดเดิมฉีดได้ หรือมีอาการไม่พึงประสงค์หลังจากวัคซีนชนิดเดิม’
แต่นอกจากหลักฐานการวิจัยในปัจจุบัน เช่น การศึกษาการตอบสนองของภูมิคุ้มกัน ประสิทธิภาพของการฉีดวัคซีนสลับยี่ห้อ ซึ่งคล้ายกับการวิจัยในระยะที่ 2 และ 3 ของวัคซีนยี่ห้อเดียวกัน คำตอบอาจขึ้นกับว่าผู้ตอบทำหน้าที่ในส่วนใดหรือสวมหมวกใบไหนอยู่ ระหว่างแพทย์ที่ดูแลด้านสาธารณสุข แพทย์ที่ประเมินความเสี่ยงผู้เข้ารับการฉีดวัคซีน (หน้างาน) หรือแพทย์/นักวิทยาศาสตร์ที่สนใจประเด็นนี้
หมวกใบที่ 1 คำตอบเชิงนโยบาย
ถ้าถามแพทย์ที่ดูแลด้านสาธารณสุข คำตอบที่ได้จะเป็นเชิงการบริหารจัดการและนโยบาย กล่าวคือ ในระยะที่วัคซีนมีปริมาณจำกัด แต่ละจังหวัดจะได้รับการจัดสรรวัคซีนเข็มที่ 2 ตามวัคซีนเข็มที่ 1 ที่ฉีดไปแล้ว ดังนั้น ถ้าไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ (จะพูดถึงในหมวกใบต่อไป) จะไม่แนะนำให้เปลี่ยนยี่ห้อ เพราะมีงานวิจัยรองรับอยู่แล้วว่าการฉีดวัคซีนยี่ห้อเดิม 2 เข็มมีประสิทธิภาพเพียงพอ
และไม่อย่างนั้นวัคซีนอีกยี่ห้อหนึ่งจะไม่พอฉีด เช่น ถ้าผู้ที่ได้รับวัคซีน Sinovac เปลี่ยนไปฉีด AstraZeneca ก็จะทำให้วัคซีน AstraZeneca ไม่พอฉีดให้กับผู้ที่ได้ยี่ห้อนี้เป็นเข็มแรก ซึ่งในขณะนี้ยังมีปริมาณไม่มากพอที่จะนัดฉีดเข็มที่ 2 ตามการเว้นช่วงที่ได้รับการอนุมัติ 4-12 สัปดาห์เลยด้วยซ้ำ แต่ก็เป็นนโยบายปูพรมฉีดวัคซีน AstraZeneca เข็มแรกให้มากที่สุดก่อน เพื่อควบคุมการระบาดของสายพันธุ์อัลฟา (B.1.1.7)
แนวโน้มการฉีดวัคซีนโควิด-19 อาจมีเข็มที่ 3, 4, … ตามมาเหมือนวัคซีนไข้หวัดใหญ่ หากไวรัสโควิด-19 กลายเป็นเชื้อประจำถิ่นและมีการกลายพันธุ์จนสามารถหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันที่มนุษย์สร้างขึ้น ไม่ว่าจะจากการติดเชื้อตามธรรมชาติ เช่น สายพันธุ์แกมมาที่ระบาดซ้ำในพื้นที่ที่เคยมีการระบาดหนักมากก่อนในบราซิล หรือจากการฉีดวัคซีน ซึ่งยังต้องติดตามประสิทธิผลในประเทศที่ฉีดวัคซีนเกิน 50% แล้วต่อ
หมวกใบที่ 2 คำตอบรายบุคคล
ก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 แพทย์หรือเจ้าหน้าที่คัดกรอง (หน้างาน) จะมีการประเมินความเสี่ยง ถามถึงประวัติแพ้วัคซีนโควิด-19 ‘ผู้ที่มีประวัติแพ้รุนแรงชนิดแอนาฟิแล็กซิส (Anaphylaxis) ในเข็มแรก ถือเป็นข้อห้ามในรับวัคซีนชนิดเดิมในครั้งต่อไป’ โดยภาวะแพ้รุนแรงมักจะเกิดขึ้นภายใน 30 นาทีหลังได้รับวัคซีน และมีอาการแพ้หลายระบบ เช่น ผื่นแดง คัน หอบเหนื่อย เป็นลม คลื่นไส้ อาเจียน
ผู้มีภาวะนี้จะได้รับการตรวจรักษาและให้คำแนะนำตั้งแต่เข็มแรกแล้วว่าให้เปลี่ยนเป็นวัคซีนอื่นที่มีส่วนประกอบต่างกัน เช่น ถ้าแพ้วัคซีน Sinovac ซึ่งเป็นวัคซีนชนิดเชื้อตาย อาจเปลี่ยนเป็น AstraZeneca ซึ่งเป็นวัคซีนชนิดใช้ไวรัสเป็นพาหะแทน โดยให้เว้นช่วงระหว่างเข็มตามวัคซีนเข็มที่ 1 กล่าวคือ วัคซีน Sinovac ต้องฉีดซ้ำ 2-4 สัปดาห์ ส่วน AstraZeneca ต้องฉีดซ้ำ 4-12 สัปดาห์ แต่เป็นวัคซีนชนิดอื่น
ส่วนผู้ที่มีผลข้างเคียงไม่รุนแรง เช่น ปวดบริเวณที่ฉีด ไข้ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ สามารถฉีดวัคซีนยี่ห้อเดิมต่อได้ ซึ่งวัคซีน Sinovac มีข้อดีคือมีอาการข้างเคียงน้อย ส่วน AstraZeneca มีอาการข้างเคียงเกิดขึ้นได้บ่อย 70-80% แต่ส่วนใหญ่อาการไม่มาก และเข็มที่ 2 จะมีอาการน้อยกว่าเข็มแรก ดังนั้น ผู้ที่มีอาการข้างเคียงจากเข็มแรกจึงไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนยี่ห้อในเข็มที่ 2 หากไม่ได้เป็นรุนแรง
หมวกใบที่ 3 คำตอบโดยทั่วไป
‘ได้’ น่าจะเป็นคำตอบถ้าหากถามแพทย์/นักวิทยาศาสตร์ที่สนใจประเด็นนี้และติดตามความคืบหน้าวัคซีนโควิด-19 มาตลอด เพราะในยุโรปมีคำแนะนำให้ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อผลข้างเคียงลิ่มเลือดอุดตันเปลี่ยนชนิดวัคซีนในเข็มที่ 2 ทำให้ปัจจุบันเริ่มมีผลการศึกษา ‘เบื้องต้น’ พบว่า การฉีดวัคซีนต่างยี่ห้อระหว่างเข็มที่ 1 และ 2 สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้เหมือนกับการฉีดวัคซีนยี่ห้อเดียวกัน เช่น
การศึกษาในเยอรมนี (ยังไม่ตีพิมพ์) พบว่าการฉีดวัคซีน Pfizer เป็นเข็มที่ 2 ต่อจาก AstraZeneca ในเข็มที่ 1 สามารถสร้างภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญหลังจากฉีดกระตุ้นไปแล้ว 2 สัปดาห์ และเมื่อนำภูมิคุ้มกันไปทดสอบกับสายพันธุ์อัลฟา พบว่ามีความสามารถในการยับยั้งไวรัสได้มากกว่า 3.9 เท่า เมื่อเทียบกับการฉีดวัคซีน Pfizer 2 เข็ม ส่วนกับสายพันธุ์เบตา (B.1.351) ลดลง 2 เท่า
ในขณะที่เรื่องความปลอดภัย มีอีกการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร The Lancet เมื่อ 12 พฤษภาคม ทดลองฉีดวัคซีน AstraZeneca หรือ Pfizer ในอาสาสมัคร 840 คน พบว่าผู้ที่ได้รับวัคซีนสลับยี่ห้อมีอาการข้างเคียง เช่น รู้สึกมีไข้ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ มากกว่าผู้ที่ได้รับยี่ห้อเดียวกันประมาณ 20-25% และถึงแม้จะพบสัดส่วนของอาการรุนแรงมากกว่า แต่ผลข้างเคียงส่วนใหญ่เป็นอาการเล็กน้อย-ปานกลาง
ขอย้ำว่าการศึกษาที่ยกมานี้เทียบเป็นการวิจัยระยะที่ 1-2 คือเป็นการศึกษาความปลอดภัยและระดับภูมิคุ้มกันที่สร้างขึ้น ซึ่งสามารถใช้คาดการณ์ประสิทธิภาพของ ‘วัคซีนผสม’ (Heterologous Vaccine Schedule) ได้ ว่าน่าจะไม่ต่างจากการฉีดวัคซีนยี่ห้อเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ถ้าจะให้มั่นใจต้องรอการศึกษาประสิทธิผลของวัคซีนผสม เมื่อติดตามการติดเชื้อในกลุ่มอาสามัครหรือการวิจัยระยะที่ 3-4 อีกที
ด้าน ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อ 4 วันก่อนว่า ‘ในทางปฏิบัติ วัคซีนโควิด-19 เป็นวัคซีนใหม่ จึงยังไม่แนะนำที่ให้เข็ม 1 และ 2 ต่างชนิดกัน’ แต่ ‘ตามหลักทฤษฎีที่มีการใช้วัคซีนในเด็ก การใช้วัคซีนมีการสลับกันได้ และมีการศึกษามาแล้วทั้งสิ้น เช่น วัคซีนป้องกันท้องเสียโรต้า วัคซีนตับอักเสบเอ ตับอักเสบบี คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก
เพราะโดยหลักการ ‘เชื้อโรคไม่รู้หรอกว่าฉีดวัคซีนยี่ห้ออะไร’ และกำลังเริ่มดำเนินการวิจัย โดยจะเป็นการเปรียบเทียบระหว่างเข็มแรกให้วัคซีน Sinovac เข็มที่ 2 ให้วัคซีน AstraZeneca (ผมขอเรียกว่ากลุ่ม A) และในทำนองกลับกัน เข็มแรกให้วัคซีน AstraZeneca เข็มที่ 2 ให้ Sinovac สำหรับข้อมูลเบื้องต้น พบว่ากลุ่ม A จำนวน 4 คน มีการสร้างภูมิคุ้มกันสูงกว่าการฉีดวัคซีน Sinovac 2 เข็ม
‘การศึกษาจะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยหรืออาการข้างเคียงว่าจะเพิ่มขึ้นหรือไม่ ถ้าการสลับวัคซีนปลอดภัยจะเป็นอีกแนวทางหนึ่งในยามที่วัคซีนขาดแคลนหรือแพ้วัคซีน และเป็นแนวทางในการที่จะนำมาใช้ในการกระตุ้นเข็มที่ 3 โดยไม่จำเป็นที่จะต้องใช้วัคซีนชนิดเดียวกัน’ ศ.นพ.ยงกล่าวทิ้งท้าย และล่าสุดวันนี้ได้ประชาสัมพันธ์ให้ผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 และ 2 ต่างชนิดกันติดต่อเข้ารับการตรวจภูมิต้านได้
โดยสรุป (สวมหมวก 3 ใบพร้อมกัน) ในขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขยังไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีนต่างยี่ห้อกัน ถ้าไม่มีข้อห้ามทางการแพทย์คือมีภาวะแพ้รุนแรงจากการฉีดวัคซีนเข็มแรก และในขณะนี้จำเป็นต้องมีการฉีดวัคซีน Sinovac 2 เข็ม หรือวัคซีน AstraZeneca อย่างน้อย 1 เข็มก่อน แต่ในอนาคตหากมีข้อมูลจากการวิจัยเพิ่มขึ้นหรือมีวัคซีนทางเลือกเข้ามา ก็อาจสามารถฉีดวัคซีนสลับยี่ห้อได้
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล
อ้างอิง:
- แนวทางการให้วัคซีนโควิด-19 ในสถานการณ์การระบาดปี 2564 ของประเทศไทย ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 1 https://ddc.moph.go.th/uploads/publish/1149520210602015924.pdf
- COVID-19 vaccination programme Information for healthcare practitioners https://assets.publishing.service.gov.uk/government/uploads/system/uploads/attachment_data/file/992270/COVID-19_vaccination_programme_guidance_for_healthcare_workers_09_June_2021_v3.8.pdf
- COVID-19 Vaccines https://www.cdc.gov/vaccines/covid-19/clinical-considerations/covid-19-vaccines-us.html
- Heterologous prime-boost COVID-19 vaccination: initial reactogenicity data https://www.thelancet.com/journals/lancet/article/PIIS0140-6736(21)01115-6/fulltext
- Heterologous ChAdOx1 nCoV-19 and BNT162b2 prime-boost vaccination elicits potent neutralizing antibody responses and T cell reactivity https://www.medrxiv.org/content/10.1101/2021.05.30.21257971v1