×

KIKO เครื่องมือสร้างผลตอบแทนจากการลงทุน ที่คุณอาจยังไม่รู้จัก

08.06.2021
  • LOADING...
KIKO

ซีรีส์ ‘เปิดโลก Investment Products เศรษฐีลงทุนอะไร’ จะเป็นบทความที่พูดถึง Investment Products (ผลิตภัณฑ์การลงทุน) ในรูปแบบอื่นๆ ที่จะนำมาแนะนำให้นักลงทุนได้รู้จักมากขึ้นนอกเหนือไปจากหุ้น หุ้นกู้ หรือกองทุน ที่นักลงทุนรู้จักคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี ซึ่งในโลกของการลงทุน ยังมี Investment Products ที่รู้จักกันในวงแคบ เฉพาะกลุ่มนักลงทุนรายใหญ่บางกลุ่มเท่านั้น โดย SCB ต้องการนำมาเผยแพร่เพื่อเป็นความรู้ในวงกว้างขึ้น เพื่อให้นักลงทุนทั่วไปได้มีความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์หรือเครื่องมือทางการเงินที่หลากหลาย และสามารถนำไปปรับใช้กับการทำ Asset Allocation (การจัดสรรสินทรัพย์) ให้ดียิ่งขึ้นในอนาคต

 

ในบทความตอนนี้จะเป็นการแนะนำหุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝงประเภท KIKO หรือ Knock-in Knock-out คำว่า ‘หุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝง’ และ ‘Knock-in Knock-out’ อาจจะฟังเข้าใจยากสำหรับผู้ที่เคยได้ยินเป็นครั้งแรก ถึงแม้ว่านักลงทุนจะคุ้นเคยกับคำว่าหุ้นกู้มาบ้างแล้ว แต่อาจจะยังสงสัยว่า ‘อนุพันธ์แฝง’ มีหน้าที่อย่างไรในการลงทุนรูปแบบนี้ 

 

คำว่าอนุพันธ์แฝงก็คือการที่เรานำราคาของสินทรัพย์อย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ราคาหุ้น ราคาทอง ราคาน้ำมัน มาเป็นตัวกำหนดผลตอบแทน ดังนั้น ผลตอบแทนที่นักลงทุนจะได้รับจากหุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝง คือ ‘ดอกเบี้ยจากหุ้นกู้ + ผลตอบแทนจากราคาสินทรัพย์ที่เราไปอ้างอิง’

 

สำหรับ Knock-in Knock-out ที่เป็นที่มาของชื่อย่อของ KIKO ซึ่งหมายถึงผลตอบแทนที่เกิดจากราคาสูง-ต่ำของสินทรัพย์ที่เรานำไปอ้างอิง ถ้าราคาของสินทรัพย์ขึ้นไปแตะจุดสูงสุดของราคาที่เราคาดการณ์ไว้ นั่นคือ Knock-out แต่หากราคาลงไปแตะจุดต่ำสุด เราจะเรียกว่า Knock-in 

 

ซึ่งหุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝงประเภท KIKO มีจุดเด่นคือ มีระยะเวลาการลงทุนสั้นประมาณ 3-6 เดือน และมีอัตราดอกเบี้ยจ่ายรายเดือนที่สูงกว่าหุ้นกู้ปกติ โดยปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 10% ต่อปี โดยนักลงทุนสามารถลงทุนในหุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝงประเภทนี้ได้ด้วยเงินลงทุนขั้นต่ำเพียง 1 ล้านบาท แต่ทั้งนี้ การลงทุนในหุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝงประเภท KIKO จะไม่คุ้มครองเงินต้น โดยผู้ลงทุนจะต้องรับความเสี่ยงในด้านราคาตลาดเพิ่มขึ้น จากปกติที่รับความเสี่ยงด้านเครดิตจากผู้ออกหุ้นกู้แต่เพียงอย่างเดียว

 

ความเสี่ยงในด้านราคาตลาดที่หมายถึงคือ หุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝง KIKO ในส่วนของเงินต้น จะมีการอ้างอิงกับราคาหุ้น ซึ่งทำให้อาจมีโอกาสที่ผู้ลงทุนจะได้รับหุ้นแทนที่จะเป็นเงินสดในส่วนของเงินต้น (ไม่คุ้มครองเงินต้น) โดยเมื่อลูกค้าสนใจลงทุนในหุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝง KIKO ลูกค้าก็จะสามารถเลือกหุ้น โดยจะเป็นหุ้นสามัญรายตัวหรือตะกร้าของหุ้นสามัญที่อยู่ใน SET50 หรือคู่หุ้นแนะนำจากทาง SCB ที่จะมาใช้อ้างอิงการจ่ายผลตอบแทนตามระดับผลตอบแทนที่คาดหวังและความเสี่ยงที่ลูกค้ารับได้ โดยหุ้นที่ SCB เลือกมาจะเป็นหุ้นบริษัทขนาดใหญ่ พื้นฐานดี รายตัว หรือสามารถจับคู่กันตั้งแต่ 2 ตัวขึ้นไป ขึ้นกับความเสี่ยงและผลตอบแทนที่ลูกค้าต้องการ  

 

โดยลูกค้าไม่ต้องกังวลในเรื่องของความผันผวนระยะสั้นๆ เหมือนการซื้อหุ้นโดยตรง เพราะทาง SCB จะคัดเลือกเฉพาะหุ้นที่ผ่านการพิจารณาจากผู้เชี่ยวชาญจากทีม Research ของบริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ และสอดคล้องกับมุมมองด้านการลงทุนของ CIO Office มาแล้วเท่านั้น นอกจากนั้นจะมีการติดตามรีวิวหุ้นที่มีการนำเสนออยู่ตลอดเวลา ลูกค้าจึงสามารถวางใจได้ว่ามีคนดูแลให้เป็นอย่างดี ข้อแตกต่างจากการลงทุนในหุ้นทั่วไปอีกประการหนึ่งคือเรื่องค่าธรรมเนียมการซื้อ เนื่องจากลงทุนใน KIKO ถือเป็นการซื้อหุ้นกู้ประเภทหนึ่ง จึงไม่มีค่าธรรมเนียมการซื้อ หากผู้ลงทุนซื้อ KIKO 1 ล้านบาท จะมีมูลค่าหน้าตั๋ว 1 ล้านบาท แต่ในส่วนของดอกเบี้ยที่ผู้ลงทุนจะได้รับนั้นจะต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายตามปกติ

 

หุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝงประเภท KIKO จึงเหมาะกับผู้ที่ต้องการได้รับผลตอบแทนมากกว่าการลงทุนในหุ้นกู้ทั่วไป แต่ไม่อยากรับความเสี่ยงมากเหมือนการลงทุนโดยตรงในหุ้น และต้องการมีกระแสเงินสดมาหมุนเวียน ได้รับดอกเบี้ยทุกๆ เดือน

 

ทั้งนี้ ลูกค้าที่สนใจจะลงทุนในหุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝง KIKO ของ SCB จะต้องมีคุณสมบัติเป็น HNW ตามเกณฑ์ ก.ล.ต. เท่านั้น โดยรายละเอียดของผลิตภัณฑ์สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้จากที่ปรึกษาการเงินและการลงทุนส่วนบุคคล หรือที่ธนาคารไทยพาณิชย์ทุกสาขา

 

สำหรับบทความครั้งต่อไป เราจะมาพูดถึง Investment Products ประเภทอื่นๆ เพิ่มเติม เพราะเราเชื่อว่าแต่ละคนต่างมีความต้องการด้านการลงทุนที่ไม่เหมือนกัน รับความเสี่ยงได้ไม่เหมือนกัน ดังนั้น เราจึงไม่หยุดคิดค้นและแสวงหาผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ มาแนะนำเพื่อทำให้ผู้อ่านมีความรู้เพิ่มขึ้น เพราะเราเชื่อว่า ความรู้ทางการเงินในวันนี้คือรากฐานของความมั่งคั่งในวันหน้า แล้วพบกันในบทความครั้งต่อไปครับ

 

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X