เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ชี้แจงต่อที่ประชุมสมาชิกวุฒิสภาเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2564 ว่า ธปท. และกระทรวงการคลัง ได้หารือกับหลายฝ่าย ทั้งสถาบันการเงิน และลูกหนี้ เช่น สภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้าไทย และสมาคมโรงแรม ในการหารูปแบบมาตรการที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบธุรกิจ โดยได้ปลดล็อกข้อจำกัดของ พ.ร.ก. Soft Loan เดิม เพื่อเอื้อให้ลูกหนี้ SMEs สามารถเข้าถึงสินเชื่อฟื้นฟูฯ ได้มากขึ้นใน 5 ประเด็นสำคัญ คือ
- ขยายขอบเขตให้ครอบคลุมธุรกิจในวงกว้างขึ้น โดยให้ผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่มีวงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงินสามารถมาขอสินเชื่อฟื้นฟูฯ ได้
- ขยายเวลาการให้ความช่วยเหลือให้ยาวขึ้น จากเดิม 2 ปีเป็น 5 ปี ให้สอดคล้องกับการที่ธุรกิจต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว
- ขยายวงเงินให้เพียงพอรองรับความต้องการของลูกหนี้ จากเดิมที่ร้อยละ 20 ของยอดคงค้างสินเชื่อ เป็นร้อยละ 30 ของวงเงินสินเชื่อ เพื่อให้ธุรกิจมีสภาพคล่องมากขึ้นในการรองรับผลกระทบที่รุนแรงขึ้น
- กำหนดอัตราดอกเบี้ยให้เหมาะสมและเอื้อต่อการปล่อยสินเชื่อ โดยเฉลี่ยไม่เกินร้อยละ 5 ตลอดระยะเวลา 5 ปี โดยในช่วง 2 ปีแรกกำหนดให้อยู่ที่ร้อยละ 2 และลูกหนี้ได้รับยกเว้นดอกเบี้ยในช่วง 6 เดือนแรก
- ปรับใช้กลไกค้ำประกันของรัฐ โดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) และเพิ่มอัตราการค้ำประกันสินเชื่อ จากระดับไม่เกินร้อยละ 30 ในภาวะปกติ เป็นร้อยละ 40 ของความเสียหายที่จะเกิดขึ้น นอกจากนี้ยังกำหนดอัตราการค้ำประกันต่อรายที่สูงขึ้น สำหรับ SMEs รายเล็กที่มีความเปราะบางสูงหรือต้องใช้ระยะเวลาในการฟื้นตัวนานกว่ากลุ่มอื่น
แถลงการณ์ของ ธปท. ระบุว่า โจทย์สำคัญในตอนนี้ คือการเร่งช่วยลูกหนี้ให้รอดมากที่สุด จึงเห็นว่าสินเชื่อควรออกไปได้เร็วและตรงจุด การที่จะให้สินเชื่อออกได้เร็วต้องใช้กลไกที่มีข้อมูล เข้าใจลูกหนี้ เข้าใจธุรกิจ ประเมินความเสี่ยงได้ว่าลูกหนี้รายใดมีโอกาสฟื้นฟูและกลับมาทำธุรกิจได้ในอนาคต
สำหรับความกังวลว่ามาตรการจะเลือกช่วยเหลือแต่ลูกหนี้ชั้นดีนั้นเป็นสิ่งที่ ธปท. คำนึงถึงเช่นกัน จึงใช้กลไก บสย. ที่ลูกหนี้ต้องจ่ายค่าค้ำประกันที่ 1.75% เพื่อให้สินเชื่อไปถึงกลุ่มที่มีความเสี่ยงคือกลุ่มสีเหลือง หรือกลุ่มสีส้มมากขึ้น เพราะกลุ่มสีเขียวที่เป็นลูกหนี้คุณภาพดีจะไม่ต้องการเสียค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ นอกจากนี้มาตรการยังได้รับความร่วมมือจากบางกลุ่มธุรกิจรายใหญ่ในการช่วยให้สินเชื่อผ่านไปถึงธุรกิจรายเล็กในห่วงโซ่การผลิตด้วย
ทั้งนี้สำหรับความคืบหน้าล่าสุดของสินเชื่อฟื้นฟูฯ คาดว่าลักษณะการใช้เงินจะแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะแรกเป็นสินเชื่อหมุนเวียนเพื่อเยียวยา ระยะที่ 2 ใช้สินเชื่อเมื่อเริ่มมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น และระยะที่ 3 คือ ช่วงที่เศรษฐกิจกลับมาสู่ภาวะปกติ โดยตั้งเป้าว่าจะสามารถปล่อยสินเชื่อได้ 1 แสนล้านบาทภายใน 6 เดือน ซึ่งปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 2 มิถุนายน) ยอดคงค้างอยู่ที่ 20,839 ล้านบาท จำนวนลูกหนี้ 8,218 ราย เฉลี่ย 2.5 ล้านบาทต่อราย
ขณะที่ประเด็นโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ ซึ่งเป็นโครงการใหม่ สถาบันการเงินและลูกหนี้อาจยังไม่คุ้นเคย สิ่งที่ ธปท. ทำคือการออกแบบสัญญามาตรฐานเพื่อหาแนวทางการเจรจาที่เป็นประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย ทำให้ต้องอาศัยเวลาในการเจรจา และบางส่วนรอมาตรการสนับสนุนทางภาษีที่กำลังจะมีผลบังคับใช้ โดยปัจจุบันมีผู้เข้าร่วมโครงการ 4 ราย มูลค่าโอนสินทรัพย์ 910 ล้านบาท และเชื่อว่าระยะต่อไปทั้งสินเชื่อฟื้นฟูฯ และโครงการพักทรัพย์ พักหนี้จะมีผู้มาเข้าร่วมมากขึ้น
ทั้งนี้ขอย้ำว่าลูกหนี้ที่มีคุณสมบัติทุกรายมีสิทธิ์เท่ากัน ไม่ว่าจะเคยกู้ผ่านมาตรการ Soft Loan เดิมหรือไม่ ต่างก็กู้ได้ไม่เกิน 30% ของวงเงินสินเชื่อเท่ากัน และในเรื่องการกำหนดราคาตีโอนสำหรับโครงการพักทรัพย์ พักหนี้นั้น ธปท. ได้สร้างกลไกให้ราคาตีโอนเท่ากับราคาซื้อคืนบวกค่าใช้จ่ายที่ต่ำมาก เพื่อให้ลูกหนี้อยู่รอดได้ในสถานการณ์ที่ยากลำบากขณะนี้
ผู้ว่า ธปท. กล่าวว่า ธปท. จะใช้ความยืดหยุ่นของ พ.ร.ก. นี้ให้เป็นประโยชน์ โดยหากมาตรการไม่ได้ประสิทธิภาพอย่างที่ตั้งเป้าไว้ก็พร้อมจะปรับปรุงเงื่อนไขต่างๆ ในการดำเนินการ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดสำหรับส่วนรวม
พิสูจน์อักษร: ชนเนตร ลอยครุฑ